ส่อง 5 ตัวละครหลัก "โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ "2565 ตอน “สะกดทัพ”
ส่อง 5 ไฮไลท์สำคัญจากตัวละครหลัก อลังการงาน "โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ" 2565 ตอน “สะกดทัพ” ก่อนได้ชมการแสดง 30 ต.ค.-5 ธ.ค. นี้
นับจากนี้อีกไม่ถึง 2 เดือน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ก็จะเปิดม่านการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี พ.ศ. 2565 ตอน “สะกดทัพ” ที่จะกลับมาสร้างความประทับใจให้ประชาชนได้รับชมระหว่าง 30 ตุลาคม ถึง 5 ธันวาคม ศกนี้ ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
เพื่ออวดโฉมสู่สายตาประชาชนหลังห่างหายไปถึง 2 ปี การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี พ.ศ. 2565 เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “สะกดทัพ”ครั้งนี้ ได้เตรียมไฮไลท์พิเศษมากมาย เพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูกระบวนท่ารำที่หาชมได้ยาก ฉากการแสดงที่มีการเพิ่มสีสันให้อลังการตระการตา รวมทั้งมีด่านพิเศษหลายด่านเพื่อเพิ่มความสนุกในการผจญภัยของหนุมานให้ตื่นเต้นเร้าใจมากยิ่งขึ้น เรียกว่าคุ้มค่ามากสำหรับผู้ชมทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นแฟนคลับหรือผู้ที่จะเริ่มการดูโขนเป็นครั้งแรก
โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “สะกดทัพ” ครั้งนี้ เป็นการนำบทพระราชนิพนธ์ฉบับในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมาเป็นบทการแสดง จึงใช้ตัวสะกดชื่อ “ไมยราพ” ตามบทพระราชนิพนธ์ ซึ่งต่างจากตอน “ศึกมัยราพณ์” ที่เคยจัดแสดงในปี 2554 อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ ฉบับในสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
เรามาดูกันว่าไฮไลท์เด่น 5 เรื่อง จากตัวละครหลักในตอนนี้มีอะไรบ้าง ที่ผู้ชมต้องไม่พลาดชม
“ไมยราพ” ปี 2565 กับเพลงหน้าพาทย์และถนิมพิมพาภรณ์ที่จะปรากฎแก่สายตาผู้ชมเป็นครั้งแรก
ไฮไลท์ที่ 1 : ครั้งแรกที่มีการฟื้นฟูเพลง หน้าพาทย์ดำเนินพราหมณ์ที่ใช้กับตัวโขนไมยราพ ซึ่งมีความเป็นมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยอาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย ที่ปรึกษาอาวุโส กล่าวถึงความพิเศษของโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เป็นโขนที่ใช้ องค์ความรู้จากครูผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา ทั้งโขน ละคร ดนตรี คีตศิลป์ ร่วมกันทำงานด้วยความวิริยะอุตสาหะ ทุกขั้นตอนทำด้วยความประณีต มีกระบวนท่ารำที่ไม่ค่อยปรากฎที่ไหน เช่น เพลงหน้าพาทย์ที่ใช้บรรเลงประกอบตัวโขนไมยราพ เป็นหน้าพาทย์ดำเนินพราหมณ์ที่เก่าแก่ มีประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่ต้น กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งแทบจะสูญไปแล้ว แต่ครูอร่าม อินทรนัฎ สืบทอดกระบวนการรำนี้ไว้สู่ศิลปินรุ่นหลัง สำหรับการแสดงโขน ตอน”สะกดทัพ”
ไฮไลท์ที่ 2 : ไมยราพแต่งองค์ทรงเครื่อง ตามบทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 ซึ่งไมยราพบวชเป็นฤๅษี จึงแต่งกายด้วยเครื่องทรงสีแดงสดงดงามเพื่อเข้าโรงพิธี นอกจากนี้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ยังสร้างเครื่องแต่งกายของไมยราพและตัวโขนอื่น ๆ เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ อีกกว่า 100 ชุด
“หนุมาน” ผจญภัยด่านต่างๆ ในสำนวนบทพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 1
ไฮไลท์ที่ 3: สนุกสนานเร้าใจกับการผจญภัยในหลากหลายด่านที่ยอดทหารวานรต้องฝ่าฟัน และต้องใช้นักแสดงที่รับบทหนุมานถึง 7 คนในการแสดงแต่ละรอบ โดย ดร.สุรัตน์ จงดา ผู้กำกับการแสดงและเขียนบท เล่าว่า “รามเกียรติ์มีหลายสำนวน โดยครั้งนี้นำบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ที่ใช้ในการเรียนการสอนในวิชาภาษาไทยในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นมาจัดทำบทการแสดง ซึ่งมีวิธีการเล่าเรื่องและการดำเนินเรื่องที่แตกต่างออกไป จึงเป็นตอนที่มีฉากผจญภัยมากมาย ที่มา พร้อมความสนุกสนานจากเรื่องราวการต่อสู้ของหนุมาน ยอดวานรทหารเอกของพระรามต้องฝ่าด่านต่างๆ เช่น ด่านช้างตกมัน ด่านเขากระทบกัน ด่านยุงตัวเท่าแม่ไก่ ด่านหนุมานรบมัจฉานุ ฯลฯ เพื่อช่วยพระรามกลับมา ซึ่งผู้ชมจะได้ลุ้นระทึกไปกับการผจญภัยของหนุมานที่เป็นขวัญใจของผู้ชมทุกเพศทุกวัยอย่างเต็มอิ่ม”
ไฮไลท์ที่ 4 : ตื่นตาฉากไฮไลท์ใหม่ ๆ เพิ่มเทคนิคกลไกสุดอลังการ ครั้งนี้ท้ายเรื่องมีฉากไฮไลท์ที่เพิ่มเติมจากตอน ‘ศึกมัยราพณ์’ ที่เคยแสดงเมื่อ 10 ปีก่อน ได้แก่ ฉากหนุมานต้องแผลงฤทธิ์ แปลงร่างใหญ่ยักษ์ 4 พักตร์ 8 กร สูงเทียมฟ้า เคลื่อนไหวด้วยกลไกทันสมัย รวมทั้งฉากที่เคยสร้างความประทับใจอื่นๆ ซึ่งจะมีการปรับเพิ่มเติมเทคนิคให้มีความน่าตื่นตาตื่นใจมากยิ่งขึ้น เช่น ฉากที่หนุมานต้องหักก้านบัว แล้วกระโดดลงบ่อ และฉากหนุมานอมพลับพลา ที่จะโชว์ความประณีตอลังการของการสร้างสรรค์ฉากที่ชวนตื่นตาตื่นใจมากยิ่งขึ้น” ดร.สุรัตน์ กล่าวเสริมถึงฉากเด่นที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นพิเศษที่ไม่ควรพลาดติดตาม
ความเก่งกาจของนักแสดงรุ่นจิ๋วในบท “มัจฉานุ”
ไฮไลท์ที่ 5: ชมความสามารถของนักแสดงโขนรุ่นเยาว์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ใช้เด็กประถมศึกษาอายุตั้งแต่ 9 ปี ที่ได้รับการฝึกฝนอย่างเข้มข้นจำนวน 7 คน เพื่อรับบท มัจฉานุ ลูกชายของหนุมานกับนางสุวรรณมัจฉา โดยในฉากรบมัจฉานุยังมีกระบวนท่ารำที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ท่าขึ้นลอยมัจฉานุ ซึ่งเป็นกระบวนท่ารบที่ต้องแสดงพลังของนักแสดงโขนเป็นอย่างมาก
สำหรับผู้สนใจชมการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ 2565 ตอน “สะกดทัพ” ซึ่งกำหนดจัดแสดงระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม ถึง 5 ธันวาคม 2565 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา หรือ www.thaiticketmajor.com บัตรราคา 1,820 / 1,520 / 1,020 / 820 / 620 บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา 200 บาท (หยุดพักการแสดงทุกวันจันทร์และอังคาร) ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก Khon Performance โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website - www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek