"รอยช้ำ แบบไหน สัญญาณเตือน เสี่ยง โรคร้าย ไม่ใช่แค่การถูกกระแทก
"รอยช้ำ" บนร่างกาย เรื่องเล็ก ที่ไม่เล็ก อาการรอยช้ำ แบบไหน สัญญาณเตือน เสี่ยง "โรคร้าย" แรง ไม่ใช่แค่การ ถูกกระแทก
"รอยช้ำ" โดยปกติแล้ว จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับแรงกระแทก ตั้งแต่เบา ปานกลาง ไปจนถึงขั้นรุนแรง ทำให้หลอดเลือดใต้ผิวหนังแตก และมีการรั่วของเลือดออกมาบริเวณรอบ ๆ จนทำให้ผิวบริเวณที่ถูกกระแทกเปลี่ยนสีไป ซึ่งในช่วงแรก ๆ จะเป็นสีม่วง แล้วเปลี่ยนเป็นสีเทา หรือเขียว ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลในที่สุด โดยการเปลี่ยนสีนั้นจะสัมพันธ์กับการหายของรอยช้ำ ซึ่งจะใช้เวลาในการหาย 7-10 วัน แต่ในบางคน ก็เกิดมีอาการรอยช้ำ บนร่างกายขึ้นได้ ทั้งที่ไม่ได้ไปกระแทกกับอะไร รอยช้ำเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนบ่งบอกถึงโรคร้ายที่ซ่อนอยู่ รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
นายแพทย์อิศรา อนงค์จรรยา อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยา โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่า รอยช้ำเกิดขึ้นได้ทั้งจากอุบัติเหตุและโรค สามารถแบ่งได้ ดังนี้
- อุบัติเหตุหรือกระแทกสิ่งของ หากรอยช้ำเป็นรอยเขียว และเป็นรอยช้ำเพียง 1-2 จุด เฉพาะที่บนร่างกาย กดลงไปแล้วมักจะเจ็บเบา ๆ อาจเป็นรอยฟกช้ำธรรมดาที่เราเดินไปชนสิ่งของ หรือเดินไปกระแทกกับของแข็งโดยไม่รู้ตัว
- อายุที่มากขึ้น ผิวหนังจะบางลง ไขมันและคอลลาเจนที่ช่วยปกป้องเส้นเลือดก็ลดลงตามไปด้วย ทำให้เส้นเลือดเปราะบางและแตกง่าย จึงเกิดเป็นรอยคล้ำเมื่อเลือดออกที่ผิวหนัง
- ขาดวิตามิน โดยเฉพาะวิตามินซีและเค วิตามินซี อาจจะขาดจากการกินผลไม้ไม่พอ และวิตามินเคอาจเกิดจากได้รับยาฆ่าเชื้อติดต่อกันนาน ๆ จะทำให้เลือดออกได้ง่าย จุดเลือดออก หรือจ้ำเลือดเกิดได้ทั่วร่างกาย หากปล่อยไว้นานอาจรุนแรงขึ้น จนมีเลือดออกในอวัยวะสำคัญได้ ใช้ยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ผลข้างเคียงจากยาอาจทำให้เส้นเลือดฝอยเปราะบางและแตกง่าย จนเกิดรอยช้ำตามร่างกายได้บ่อยครั้ง
- เกล็ดเลือดต่ำหรือเกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ รอยช้ำมักจะเห็นได้ตามผิวหนังตื้น ๆ อาจเจอได้ชัดตามข้อพับ เกล็ดเลือดต่ำเกิดได้หลายสาเหตุ ตั้งแต่ยาที่รับประทานไปจนถึงมะเร็ง หรือไขกระดูกฝ่อ ซึ่งต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม
- ขาดโปรตีนแฟคเตอร์ 8 หากเป็นตั้งแต่กำเนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรมเรียกว่าโรคฮีโมฟิเลีย แต่อาจถูกกระตุ้นจากโรคอื่น ๆ ได้ด้วย ทำให้การแข็งตัวของเลือดลดลง จนเกิดภาวะเลือดออกง่ายแต่หยุดยาก และเกิดรอยฟกช้ำจ้ำใหญ่ทั่วร่างกาย ส่วนใหญ่มักจะมีเลือดออกค่อนข้างรุนแรง ตามการขาดโปรตีนแฟคเตอร์
- โรคไขกระดูกบกพร่อง เกิดจากเกล็ดเลือดต่ำเพราะร่างกายสร้างได้ไม่ปกติ ทำให้มีรอยจ้ำ หรือรอยช้ำเลือดตามร่างกาย เลือดออกง่าย เช่น เลือดกำเดา เลือดออกในช่องปาก หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีอาจกลายเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย เป็น 1 ใน 10 โรคมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทย จะเกิดขึ้นในไขกระดูก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเม็ดเลือด โดยเกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อนเติบโตมากผิดปกติ และไม่สามารถกลายเป็นเม็ดเลือดที่สมบูรณ์ได้ จนไปรบกวนการสร้างเม็ดเลือดปกติชนิดอื่น ส่งผลให้ผู้ป่วยติดเชื้อง่าย อ่อนเพลีย เลือดออกง่ายผิดปกติ และเกิดจ้ำเลือดตามร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษาโดยเร็วและถูกวิธีอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ง่าย
- ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก มักเป็นบริเวณขาและเกิดรอยจ้ำเขียว รู้สึกปวดร่วมกับมีอาการบวม แต่ถ้าลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันที่ปอด อาจทำให้รู้สึกเจ็บหน้าอก ไอ ไอปนเลือด เวียนศีรษะ หายใจถี่ และหมดสติ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต รอยช้ำที่ไม่เป็นอันตราย ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นและค่อย ๆ จางหายไปเองใน 3-7 วัน และมักจะเป็นเฉพาะที่ แต่หากเป็นนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือรอยช้ำมีสีเข้มขึ้น หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกโรคร้ายแรงได้ ดังนั้น ควรสังเกตร่างกายตัวเองอยู่เสมอ หากพบความผิดปกติไม่ว่าจะเป็นรอยช้ำ หรืออาการอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างทันท่วงที
รอยช้ำแบบไหน อันตราย ต้องระวัง
หากมากกว่า 10 วัน หรือราว 2 สัปดาห์แล้วรอยช้ำ ยังไม่มีท่าทีว่าจะหาย แล้วเริ่มเกิดอาการมีไข้ เจ็บบริเวณรอยช้ำเพิ่มมากขึ้น รอยช้ำขยายวงกว้างมากขึ้น หรือมีรอยช้ำเกิดขึ้นบนร่างกาย แม้ว่าจะไม่ได้มีการกระแทกบริเวณดังกล่าว รอยช้ำเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคภัยที่ซ่อนอยู่ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เสี่ยงเสียชีวิตได้
วิธีการดูแลอาการฟกช้ำ
- ประคบน้ำแข็งในบริเวณที่ช้ำเป็นเวลาประมาณ 15 นาที ทุก ๆ 1 ชั่วโมง โดยควรห่อน้ำแข็งด้วยผ้าสะอาด เพื่อให้ไม่น้ำแข็งสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง ซึ่งนอกจากการประคบน้ำแข็งจะช่วยหยุดเลือดที่ไหลอยู่ใต้ผิวหนังแล้ว ยังช่วยลดอาการอักเสบและบวมได้อีกด้วยหลังประคบภายใน 24 ชั่วโมงแรก
- วางแผ่นประคบร้อนเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด ลดอาการตึงบริเวณกล้ามเนื้อและช่วยบรรเทาปวดได้ ใช้ประคบหลังจาก 24 ชั่วโมงแรก
- ยกอวัยวะในบริเวณที่มีรอยช้ำให้สูงขึ้นกว่าหัวใจ เพื่อให้เลือดในบริเวณดังกล่าวไหลกลับเข้าสู่หัวใจ
- พักผ่อนให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงการใช้ร่างกายหรือกล้ามเนื้อมากเกินไปโดยเฉพาะในบริเวณที่ช้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงมากขึ้น
- หากมีอาการปวดหรือบวม สามารถใช้ยาแก้ปวด อย่างยาพาราเซตามอล หรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ผู้ที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาแก้ปวดชนิดไม่มีสเตียรอยด์ อย่างไอบูโพรเฟน เนื่องจากยากลุ่มนี้อาจมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057