เบื้องหลังครม. เคาะ "นาค" เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน
เปิดเบื้องหลังมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 พ.ย. 65 กว่าจะเห็นชอบให้ "นาค" เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน นั้นมีที่มาอย่างไร อ่านได้ที่นี่
"นาค" เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน ซึ่งเป็นมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่เห็นชอบเมื่อวันอังคารที่ 1 พ.ย.2565 สร้างความฮือฮาได้ไม่น้อย
"คมชัดลึก" เจาะเบื้องหลัง มติครม. ดังกล่าว พบว่าเป็นมติครม. ที่เห็นชอบให้ตามมติคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ (กอช.) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เป็นหน่วยงานเสนอวาระนี้เข้ามาให้ครม.ลงมติ
แหล่งข่าวจากทีประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เล่าให้ "คมชัดลึก" ฟังว่า ระหว่างการพิจารณาวาระนี้กว่าจะเคาะคำว่า "นาค" นั้น ก็มีการถกเถียงอละดีเบตในวงประชุม
โดยมีการย้อนไปว่า เดิมทีกระทรวงวัฒนธรรมเสนอสัตว์ในตำนานมา 2 ชื่อ คือ "ครุฑ" และ "พญานาค" แต่ในที่ประชุมแสดงความเห็นอย่างหลากหลาย แต่โดยสรุปคือไม่เห็นด้วยที่จะให้ครุฑเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ เพราะปัจจุบัน "ครุฑ" เป็นตราของแผ่นดินอยู่แล้ว ที่ประชุมจึงเห็นตรงกันให้ตัดครุฑออกจากการพิจารณา
จากนั้นมีเพียง "พญานาค" เป็นตัวเลือกเดียว ซึ่งนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะเจ้ากระทรวงแสดงความเห็นเรื่องพญานาคว่า เป็นสัตว์ที่มีหลายตระกูลและหลายชั้น ไม่อยากให้เกิดการเปรียบเทียบกันภายหลังเรื่องชั้น จึงเสนอให้ตัดคำว่า "พญาออก" ให้เหลือเพียงคำว่า "นาค" คำเดียว เท่านั้น จึงเป็นที่มาของมติดังกล่าว
แหล่งข่าวในครม. บอกกับ "คมชัดลึก" เพิ่มเติมถึงที่มาของวาระนี้ พบที่มามติคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ (กอช.) ว่า เมื่อครั้งประชุม กอช. เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 เคยมีมติเห็นชอบในหลักการที่จะเสนอให้ครุฑและนาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน
และมอบให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมศิลปากร สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (รภ.) และ สปน. หาข้อมูลเพิ่มเติมให้ครบถ้วน และเสนอ กอช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
ต่อมา สปน. โดยสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ ได้หารือร่วมกับผู้แทน วธ. กรมศิลปากร และ รภ. มีมติเห็นชอบในหลักการให้เสนอครุฑและนาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน
ทั้งนี้ มีบางหน่วยงานเห็นว่าเหมาะสมที่จะนำเสนอสัตว์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน และบางหน่วยงาน (คณะกรรมการการจัดทำหลักเกณฑ์การใช้คำราชาศัพท์ และคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย) เห็นว่าไม่อาจกำหนดให้ครุฑและนาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนานเนื่องจากไม่ใช่สัตว์ในตำนานของไทย แต่เป็นสัตว์ในตำนานอินเดียโบราณ
จากการศึกษาพบว่าปัจจุบันประเทศที่มีสัตว์ประจำชาติประเภทตำนาน เทพนิยายและความเชื่อ มีจำนวน 157 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 229 รายการ มีบางประเทศที่มีสัตว์ประจำชาติมากกว่า 1 รายการ
ซึ่งสัตว์ประจำชาติของประเทศต่าง ๆ มีสัตว์ที่ปรากฏอยู่จริง เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สี่เท้า สัตว์ปีก และเป็นสัตว์ในตำนานเทพนิยายและความเชื่อ แม้ว่าจะไม่มีผู้พบเห็นหรืออาจจะไม่ปรากฏว่ามีแหล่งอาศัยอยู่ในประเทศ แต่คนในชาตินั้น ๆ มีความเชื่อและศรัทธาจนมีการสร้างสรรค์เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ
สัตว์ในตำนวนประจำชาติจะมีการประกาศในประเทศที่มีประวัติศาสตร์ชาติที่ยาวนาน มีอารยธรรม เช่น
ประเทศจีน
- หมีแพนด้าเป็นสัตว์ประจำชาติ
- มังกรเป็นสัตว์ประจำชาติประเภทตำนาน
ประเทศอินโดนีเซีย
- มังกรโคโมโดเป็นสัตว์ประจำชาติ
- ครุฑเป็นสัตว์ประจำชาติประเภทตำนาน
ประเทศกรีซ
- ปลาโลมาเป็นสัตว์ประจำชาติ
- นกฟินิกซ์เป็นสัตว์ประจำชาติประเภทตำนาน
ทั้งนี้ สัตว์ในตำนานเหล่านั้นมักจะนำมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ เป็นตราแผ่นดิน โล่และอาร์ม หรือปรากฏในธงต่าง ๆ และมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันเป็นส่วนใหญ่
แหล่งข่าว เล่าอีกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และมีสัตว์ในจินตนาการ ตำนาน และความเชื่อมากมาย เช่น นาค ครุฑ หงส์ คชสีห์ ราชสีห์ ช้างเอราวัณ และกินรี ปรากฏอยู่ในสิ่งต่าง ๆ และจะพบว่าเรื่องราวเกี่ยวกับนาคมีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิต
สะท้อนถึงตำนานและความเชื่อมาแต่อดีต สื่อออกมาผ่านทางขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม พิธีกรรมต่าง ๆ เช่น เป็นผู้พิทักษ์ศาสนา เป็นบันไดเชื่อมระหว่างโลกและสวรรค์ นาคจึงเป็นหนึ่งในคติความเชื่อที่ปรากฏในสังคมไทยมาอย่างยาวนานหลายศตวรรษ
ปัจจุบันคติความเชื่อเรื่องนาคยังคงปรากฏในรูปของขนบธรรมเนียมประเพณีพิธีกรรม ทั้งที่เป็นวิถีปฏิบัติสืบทอดมาแต่โบราณ รวมทั้งมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย ขนบธรรมเนียม ประเพณี พิธีกรรมที่ปรากฏอย่างหลากหลายในสังคมไทย เช่น ในวันออกพรรษาซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ขึ้นดาวดึงส์
นาคที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำโขงต่างยินดีปรีดา พากันจุดบั้งไฟถวายการเสด็จลงกลับสู่โลกมนุษย์ของพระองค์เป็นพุทธบูชา ซึ่งความเชื่อดังกล่าวเป็นต้นเค้าของตำนาน เรื่อง “บั้งไฟพญานาค” และในประเพณีไหลเรือไฟ เรือที่ตกแต่งขึ้นก็แทนพญานาคเพื่อลอยไปบูชารอยพระพุทธบาท
ดังนั้น การเสนอให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนานจึงมีความเหมาะสม เพราะจะสร้างให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ
ทั้งนี้ จะเป็น Soft Power ที่สำคัญ ทั้งยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยนำทุนทางวัฒนธรรมมาใช้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ กลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรม นำรายได้เข้าประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน
จากนั้นในการประชุม กอช. เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ได้พิจารณาการเสนอให้ "นาค" เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนานก่อนในเบื้องต้น เนื่องจากนาคมีคติความเชื่อที่ปรากฏในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยเป็นตัวแทนของประชาชน
ดังจะเห็นได้จากวัฒนธรรมประเพณีและศิลปกรรมจำนวนมากของไทยที่ผูกพันกับนาค นาคจึงถือเป็นสัญลักษณ์สะท้อนวัฒนธรรมของประชาชนอย่างแนบแน่น การเสนอนาคให้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนานจึงมีความเหมาะสม และสามารถนำมาต่อยอดเป็น Soft Power ในการนำวัฒนธรรมมาใช้เป็นทรัพยากรในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกด้านหนึ่ง
ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการกำหนดให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน
ส่วนที่มาของรูปนาค ที่ใช้ประกอบการประชุมและมีการเผยแพร่หลังจากครม.มีมตินั้น ที่มามีอยู่ว่า "คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ" มีมติเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 มอบหมายกรมศิลปากร สำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินการร่างภาพต้นแบบนาคเสนอเข้าที่ประชุมครม.
โดยภาพต้นแบบต้องการสื่อให้เห็นภาพรวมคติความเชื่อเกี่ยวกับนาค เป็นรูปพญานาคสี่ตระกูล คือ ตระกูลวิรูปักษ์ (สีทอง) ตระกูลเอราปถ (สีเขียว) ตระกูลฉัพพยาปุตตะ (สีรุ้ง) และตระกูลกัณหาโคตมะ (สีดำ) และมีนาคตัวใหญ่สุด คือ นาควาสุกรี
ที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์ ส่วนรายละเอียดประกอบภาพ เช่น คลื่นน้ำ และศาสนสถาน เพื่อสื่อให้เห็นว่านาคเป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำและความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงบทบาทการเป็นผู้พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา