เปลี่ยน ขยะ ของเหลือใช้ เป็นงานอาร์ตสุดอลัง กลาง "ศูนย์สิริกิติ์" โฉมใหม่
"มุก" เพลินจันทร์ ศิลปินกับแรงบันดาลใจจากขยะ ที่แปรเปลี่ยนเป็นงานอาร์ตผืนใหญ่ใจกลางกรุง เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด
จากการตีความหมายของคำว่า สืบสาน รักษา และต่อยอด สู่ผลงานการสร้างสรรค์บนพื้นผ้าในชื่อ Woven Symphony (โวเว่น ซิมโฟนี) และ Adam’s Bridge (อดัมส์ บริดจ์) ของ “มุก” เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ ศิลปินผู้ออกแบบลายผ้าที่มีชื่อเสียงของไทย สะท้อนคุณค่าความงดงามแบบไทยร่วมสมัยผ่านลวดลายบนผืนผ้าที่ได้รับแรงบันดาลใจมา จากพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดเรื่องศิลปะ “โขน” ดังนั้น รามเกียรติ์ จึงเป็นสิ่งถูกตีความและสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานในรูปแบบของผ้าทอขนาดสูงกว่า 6.5 เมตร ยาว 24 เมตร ซึ่งเป็นผลงานที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ สำหรับ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โฉมใหม่
“มุก” เพลินจันทร์ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน เล่าถึงที่มาของงานศิลป์ขนาดยักษ์นี้ว่า ในการสร้างสรรค์ผลงานครั้งนี้ เริ่มแรกได้รับโจทย์มา 3 คำ คือ สืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อออกแบบให้ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โฉมใหม่แห่งนี้ ซึ่งศูนย์ฯ สิริกิติ์นั้นเป็นชื่อพระราชทานโดยพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งพระองค์ท่านทรงสืบสานศิลปะการแสดง “โขน” มาตลอด จึงกลายเป็นไอเดียสำคัญสำหรับการออกแบบผลงาน 2 ชิ้นในชื่อว่า Woven Symphony (โวเว่น ซิมโฟนี) และ Adam’s Bridge (อดัมส์ บริดจ์)
“งานทั้งสองชิ้นนี้เป็นผลงานชิ้นใหญ่ที่สุดที่เคยทำ คือเมื่อรวมกันมีขนาดเท่ากับสระน้ำมาตรฐานโอลิมปิก แต่ละชิ้นงานสูง 6.5 เมตรครึ่ง ยาว 24 ซึ่งงานนี้เป็นงานที่ต้องใช้เวลาทำจริงราวๆ 1 ปีครึ่ง แต่ด้วยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ทั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงสำเร็จอย่างที่เห็นในเวลาที่ค่อนข้างจำกัด ซึ่งรู้สึกว่าตัวเองนอกจากเป็นศิลปินแล้วยังเป็นเหมือนผู้กำกับด้วย เพราะต้องร้อยเรียงทุกส่วนเข้าไว้ด้วยกันให้ลงตัวที่สุด”
สำหรับผลงานชิ้นแรก ในชื่อ Woven Symphony (โวเว่น ซิมโฟนี) นั้นหยิบยกแรงบันดาลใจจากชุดการแสดง "โขน" มาทำให้เป็นศิลปะร่วมสมัยที่ผสานกับ ฉากวรรณคดี รามเกียรติ์ ตอนที่นางสีดาถูกทศกัณฐ์จับตัวไปบนเกาะลงกามาแสดงไว้บนฉากหลังสีเขียว เสมือนอยู่บนเกาะ พร้อมเนรมิตให้เป็นฉากรบพุ่งที่หนุมานพาพระรามมาช่วยนางสีดาหนีเพื่อการมีชีวิตใหม่เปรียบเหมือนศูนย์ฯ สิริกิติ์ในรูปโฉมใหม่ โดยผลงานชิ้นนี้ทางศิลปินสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้เชือกสีเขียวขึงจากด้านบนลงล่าง เปรียบเสมือนเป็นเส้นยืนบนกี่ทอผ้า แล้วนำผ้าที่เหลือจากทุกโปรเจ็กต์ตลอดกว่า 10 ปีที่ทำงาน และผ้าขาวม้าจากโครงการประชารัฐมาเป็นส่วนประกอบในชิ้นงาน นอกจากนี้ยังนำวัสดุอื่นๆ อาทิ ทับทรวง, ปีกแมลงทับ รังไหม ฯลฯ มาประดับตกแต่งบนชิ้นงานด้วย
นอกจากนั้นแล้วเพื่อให้สอดรับกับชิ้นงานแกะสลักที่ทางศูนย์ฯ สิริกิติ์ ได้เก็บ “รักษา” ไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม คืองานแกะสลักไม้ของ อ.จรูญ มาถนอม ศิลปินคนเดียวกับที่สร้างปราสาทสัจธรรมที่พัทยา โดยนำไม้ทั้งหมด 56 แผ่นประกอบกันออกมาแล้วมีความยาวเกือบ 23 เมตร เล่าเรื่องการสถาปนาพระอินทร์ให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองทวยเทพ ซึ่งงานไม้แกะสลักนี้ใช้เวลาแกะสลักเพียง 4 เดือน และอบไม้ต่ออีก 2 เดือน แม้โดยทั่วไปจะต้องกินเวลาเป็นปีสำหรับอบไม้
อีกหนึ่งผลงานที่จัดแสดง คือ Adam’s Bridge (อดัมส์ บริดจ์) ที่มีฉากหลังสีน้ำเงิน จัดเป็นฉากที่หนุมานขนหินมาถมทะเลเพื่อทำเป็นสะพานพานางสีดาไปสู่ชีวิตใหม่ บนฉากสีน้ำเงินผ่านการถักทอจากสิ่งของเหลือใช้รวมถึงเศษขยะที่ศิลปินและครอบครัวรวมถึงพนักงานช่างทอผ้าของบริษัทเก็บมาเป็นเวลาหลายปี อาทิ ขวดน้ำพลาสติก, กระป๋องน้ำอัดลม, ถุงน่อง ฯลฯ ถูกนำมาตัดเป็นเส้นแล้วถักทอ ผ้าทุกผืนมาจากผ้าเหลือใช้ที่รวบรวมมาจากโปรเจ็กต์ต่างๆ ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเยี่ยมชมความอลังการของผลงานทั้ง 2 ชิ้น ฝีมือการสร้างสรรค์ของศิลปินไทยมากความสามารถ ได้ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทางออก 3 โดยมีทางเชื่อมเข้าศูนย์ฯ สิริกิติ์ ชั้น LG)
ติดตาม คมชัดลึก คลิก
Line: https://lin.ee/qw9UHd2
YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w