'วันมาฆบูชา 2566' เดินสายไหว้พระ 9 วัด เสริมสิริมงคลวันพระใหญ่ประจำปี
'วันมาฆบูชา 2566' เป็นหนึ่งในวันพระใหญ่ที่พุทธศาสนิกชนมักจะชวนกันเข้าวัดทำบุญ ไหว้พระ เพื่อความเป็นสิริมงคล และร่วมกันเวียนเทียนในช่วงค่ำ
วันมาฆบูชา เป็นหนึ่งในวันพระใหญ่ประจำปี ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 สำหรับปีนี้ "วันมาฆบูชา 2566" ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 คือวันจันทร์ที่ 6 มี.ค.66 เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนมักจะชวนกันเข้าวัดทำบุญ ไหว้พระ เพื่อความเป็นสิริมงคล และร่วมกันเวียนเทียนในช่วงค่ำ วันนี้ คมชัดลึก จึงขออาสาแนะนำ 9 วัดทั่วกรุง ที่คนนิยมไปไหว้พระเสริมสิริมงคลกันค่ะ
1. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว ถือเป็นวัดอันดับหนึ่งในโปรแกรมไหว้พระ 9 วัดที่ต้องไปใน "วันมาฆบูชา 2566" วัดพระแก้วเป็นส่วนหนึ่งของพระบรมมหาราชวัง ภายในประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร หรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่ทำจากหยกสีเขียว ซึ่งอัญเชิญมาจากกรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว นอกจากนี้ยังมี
2. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ มีพระพุทธไสยาสน์ หรือ พระนอน ประดิษฐานอยู่ ตัวองค์พระมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ เรื่องความศักดิ์สิทธิ์ก็ไม้แพ้วัดอื่น โดยวัดนี้ขึ้นชื่อเรื่องของความรัก ยิ่งใครที่เป็นสาวโสดขึ้นเลข 3 ต้องไปไหว้ให้ได้ เพราะวัดนี้ขึ้นชื่อเรื่องขอเนื้อคู่สำหรับวัยสามสิบยังแจ๋ว นอกจากนี้วัดโพธิ์ ยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 อีกทั้งยังเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย
3. วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท สร้างขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 เดิมทีพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นที่พำนักของพระสงฆ์จีน ต่อมาเจ้าพระยานิกรบดินทร์มหินทรมหากัลยาณมิตร ได้สร้างวัดและน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร” และพระราชทานสร้างพระประธาน เป็นหลวงพ่อโตองค์ใหญ่ นามว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก” หรือหลวงพ่อซำปอกง ซึ่งเป็นที่สักการะและเคารพนับถืออย่างมากในกลุ่มคนจีนที่อาศัยอยู่แถวนั้น ใครอยากมีเพื่อนฝูงดี หรือมีบริวารดี ต้องไปสักการะที่วัดนี้ เพราะ “กัลยาณมิตร” แปลว่า มิตรที่ดี
4. วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดแจ้ง มีพระปรางค์ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถจะมีรูปปั้นยักษ์วัดแจ้งที่มีชื่อเสียงยืนเฝ้าอยู่ เดิมทีเชื่อกันว่าวัดนี้ชื่อวัดมะกอกนอก เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงยกทัพขึ้นมาที่ธนบุรีเพื่อแต่งตั้งธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ เสด็จมาถึงหน้าวัดมะกอกนอกเป็นช่วงเวลารุ่งแจ้ง จึงพระราชทานนามใหม่ของวัดแห่งนี้ ให้เป็น “วัดแจ้ง” และด้วยความที่ชื่อวัดมีความมงคล คำว่า “แจ้ง” หรือ “อรุณ” แปลว่าช่วงเช้าวันใหม่ ซึ่งเป็นความหมายที่ดี เปรียบเสมือนการเริ่มต้นชีวิตใหม่
5. วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดบางหว้าใหญ่ ในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชรัชกาลที่ 1 ได้มีการขุดพบระฆังโบราณในเขตวัด ทำให้ประชาชนพากันเรียกว่า วัดระฆัง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตัวระฆังที่ขุดพบ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระแก้ว และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างชดเชยให้วัดระฆังใหม่ 5 ลูก มีความเชื่อว่า ใครที่ได้มาไหว้พระที่วัดระฆัง จะเป็นที่ชื่นชอบของผู้อื่น และมีชื่อเสียงโด่งดังเหมือนเสียงตอนตีระฆัง นอกจากนี้วัดระฆังยังเป็นวัดที่เหล่าผู้ศรัทธาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) จะต้องมากราบไหว้บูชา เพราะวัดแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของท่านมาก่อน
6. วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร เดิมชื่อ วัดกลางนา เป็นวัดร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมา รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ บูรณะวัดร้างแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ และพระราชทานนามว่า “วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ที่ทรงรบชนะพม่าทั้ง 3 ครั้ง ในสงคราม 9 ทัพ จึงมีความเชื่อกันว่าถ้าต้องการชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวงให้มากราบไหว้ที่วัดนี้
7. วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เดิมชื่อ วัดใหม่ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์เมื่อครั้นทรงผนวช อาทิ รัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 10 รวมถึงยังเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์ และยังเป็นที่ตั้งของ มหาวิทยาลัยมกุฎราชวิทยาลัย มีพระพุทธชินสีห์ ประดิษฐานเป็นพระประธาน เชื่อว่าหากได้สักการะพระพุทธชินสีห์ จะเป็นการเสริมดวงชะตาให้ดี และแคล้วคลาดจากภัยอันตราย
8. วัดสุทัศนเทพวราราม สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เดิมชื่อ วัดสุทธาวาส ต่อมาได้รับพระราชทานชื่อว่า วัดสุทัศนเทพวราราม ในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นที่ประดิษฐานของพระศรีศากยมุนี เป็นพระเก่าแก่ตั้งแต่สมัยราชวงศ์พระร่วง ของสุโขทัย ผู้คนนิยมมากราบไหว้ขอพรเกี่ยวกับการศึกษา เพื่อการมีวิสัยทัศน์กว้างไกล
9. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ แปลว่า “ชำระพระเกศา” ต่อมารัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะและสร้างพระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง ขึ้น ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสาริกธาตุ
"วันมาฆบูชา 2566" เข้าวัด ทำบุญ เพื่อความเป็นสิริมงคลกัน จะเป็น 9 วัดที่ยกมานี้ หรือวันไหนๆ รับรองว่าสุขใจไม่แพ้กัน
ขอบคุณภาพ : https://www.royalgrandpalace.th/th/discover/gallery
http://www.watpho.com/th/album/detail/541
https://www.facebook.com/WatKanlayanamitra/photos
https://www.watarun1.com/th
https://www.facebook.com/watrakhang.official/photos
https://www.dpu.ac.th/dpuplace
https://th.m.wikipedia.org/wiki/
https://www.facebook.com/WatSuthatBangkok/
https://www.facebook.com/watsraket/