ส่อง ฉลองพระองค์ฤดูหนาว ผ่านฉาก พระราชพิธีจองเปรียงฯ ใน 'ละครพรหมลิขิต'
เปิดที่มา ฉลองพระองค์ฤดูหนาว ของพระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี และพระมเหสี ผ่านฉากตระการตา พระราชพิธีจองเปรียง ลดชุด-ลอยโคม ใน 'ละครพรหมลิขิต'
หลายคนคงสะดุดตากับความงามของเครื่องแต่งกายใน ละครพรหมลิขิต ฉาก “พระราชพิธีจองเปรียง ลดชุด-ลอยโคม” ที่ออกอากาศเมื่อคืนวันที่ 21 พ.ย. 2566 ซึ่งเกิดขึ้นจากความตั้งใจของทีมเสื้อผ้า ที่ต้องการออกแบบให้ เครื่องแต่งกาย เหล่านี้ สื่อสารกับคนดูให้ได้มากที่สุด กล่าวคือ ในหนึ่งฉากเพียงระยะเวลาสั้นๆ ที่ทุกคนเห็น ต้องสื่อให้คนดูเข้าใจถึงความรุ่มรวยของยุคสมัย ตลอดจนสามารถสื่อให้เห็นว่า ช่วงเวลาจัดงานพระราชพิธีนี้ เป็นช่วงเดือนสิบสอง ประกอบกับราชธานีในขณะนั้นเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ จึงทำให้ช่วงเดือนสิบสองยามค่ำคืนมีอากาศเย็นมากเป็นพิเศษ
เครื่องแต่งกาย ใน ละครพรหมลิขิต จึงค่อนข้างมิดชิด แต่ความหรูหรา สง่างาม ผสานเข้ากับความหลากหลายทางวัฒนธรรมของหลายเชื้อชาติ ด้วยว่าขณะนั้นมีการติดต่อค้าขายหลายประเทศจึงมีเครื่องแต่งกายที่แปลกตาให้เห็นในฉากนี้ อาทิ ฉลองพระองค์ ขุนหลวงท้ายสระ และกรมพระราชวังบวร ที่มีทรงคล้ายเสื้อของชาววิลาศ ลักษณะตัวเสื้อมีความยาวกว่าเสื้ออย่างน้อยทั่วไปสวมถุงเท้ายาวเลยเข่าเพื่อป้องกันลม, การห่มสไบสองชายทับเสื้อแขนกระบอก ของพระอัครมเหสี กรมหลวงราชานุรักษ์, การห่มคลุมผ้าขนสัตว์ผืนใหญ่กันลมหนาวของพระมเหสี เจ้าครอกจันทบูร และนุ่งผ้าเขียนลายทอง ในงานพระราชพิธีสำคัญนี้ด้วย
นับว่าเป็นการออกแบบเพื่อสร้างสรรค์ผลงานเสื้อผ้าให้ผู้ชมได้เห็นว่า เครื่องแต่งกาย ในสมัยอยุธยานั้น มีอยู่มากหลากหลายแบบ ทั้งที่ปรากฏอยู่มากในจิตรกรรมไทย บันทึกในจดหมายเหตุที่มีชื่อเสียง และจดหมายเหตุที่ไม่ได้รับความนิยม ผ่านการรวบรวมข้อมูล อ้างอิงมาเพื่อสร้างสรรค์ให้เห็น ดังคำที่ว่า “สิ่งที่เราไม่เคยเห็นใช่ว่าจะไม่เคยมีเคยอยู่ สิ่งที่เรารู้แล้วอาจจะไม่ได้รู้จนหมดจด” จึงเป็นผลงานที่นำเสนอมาใน ละครพรหมลิขิต นี้
สำหรับ “พระราชพิธีจองเปรียง ลดชุด-ลอยโคม” เป็นพระราชพิธีว่าด้วยการบูชาน้ำ ปรากฏหลักฐานทางวรรณกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับ ซึ่งต่อมามีพัฒนาการสู่ “ลอยกระทง” ในปัจจุบัน
“น้ำ” หลากและน้ำแแล้งเป็นปัญหาของทุกชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตมรสุม คนสมัยโบราณเชื่อว่าเกิดขึ้นด้วย “อำนาจเหนือธรรมชาติ” หรือ “ผี” ที่ปกปักรักษาดินน้ำไฟลมนั้น เมื่อน้ำแล้ง คนโบราณจะทำพิธีขอฝนเพื่อทำไร่ไถนา ครั้นถึงฤดูน้ำหลากก็ต้องทำพิธีบูชาเพื่อมิให้น้ำหลากล้นท้นเข้าทำลายนาไร่จนเสียหาย
ลาลูแบร์ ราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศส ที่มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ ราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ได้เห็นบรรยากาศการชักโคมลอยโคม จึงบรรยายว่า
“ประชาชนพลเมืองจะแสดงความขอบคุณแม่คงคาด้วยการตามประทีปโคมไฟขนาดใหญ่ (ในแม่น้ำ) อยู่หลายคืน เราจะได้เห็นทั้งลำแม่น้ำเต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำ ไปตามกระแสธาร มีขนาดใหญ่ย่อมต่างกันตามศรัทธาปสาทะของแต่ละคน โดยนัยเดียวกันเพื่อแสดงความขอบคุณต่อแม่พระธรณี ที่อนุเคราะห์ให้เก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์ ในวันต้น ๆ ของปีใหม่ ชาวสยามก็จะตามประทีปโคมไฟขึ้นอย่างมโหฬาร”
ข้อมูล-ภาพจากเพจ : ภูษาผ้าลายอย่าง