ร่วมสืบสานเทศกาล 'ลอยกระทง 2566' ชวน 'แต่งชุดไทย' ไป ลอยกระทง
วธ.ชวน 'แต่งชุดไทย' ไป ลอยกระทง ร่วมสืบสานเทศกาล 'ลอยกระทง 2566' หนุนซอฟต์พาวเวอร์ด้านเฟสติวัล-ท่องเที่ยว สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ เสนอยูเนสโกเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโกในปี 2567
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลมุ่งขับเคลื่อน Soft Power โดยเฉพาะด้านเฟสติวัลเทศกาลประเพณีและด้านท่องเที่ยว สอดคล้องกับเป้าหมายของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในการส่งเสริมคุณค่าเทศกาลประเพณีของชาติและเทศกาลอื่นๆด้านวัฒนธรรมให้เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ จึงได้ร่วมจัดงาน Thailand Winter Festivals ที่เป็นงานเฟสติวัลและเทศกาลประเพณีในกรุงเทพฯและจังหวัดต่างๆ ซึ่งรวมถึงงานเทศกาล ลอยกระทง 2566 ที่ วธ.บูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในหลายพื้นที่ ซึ่งมีกิจกรรมส่งเสริมและรณรงค์ให้ประชาชน แต่งชุดไทย ไป ลอยกระทง เพื่ออนุรักษ์ความเป็นไทย การประกวดกระทง การประกวดนางนพมาศ การแสดงพื้นบ้าน การจำหน่าย และจัดแสดงผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้าน รวมทั้งมุ่งยกระดับงาน ประเพณีลอยกระทง ให้เป็นงานระดับนานาชาติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า การจัดงานประเพณี ลอยกระทง 2566 ที่ วธ.ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ จัดขึ้นมุ่งเน้นประเด็นคุณค่าสาระของวัฒนธรรมประเพณี วิถีอัตลักษณ์ท้องถิ่น ได้แก่
1. จัดกิจกรรมเน้นคุณค่าและสาระของวัฒนธรรม ประเพณี การท่องเที่ยวและสุขภาพ โดยคำนึงถึงความเหมาะสม ความหลากหลายของแต่ละท้องถิ่น
2. ส่งเสริมให้จังหวัดต่างๆ ร่วมจัดกิจกรรมทางศาสนา ความเชื่อ ใน ประเพณีลอยกระทง อย่างเหมาะสม
3. รณรงค์ให้ประชาชนสืบสานคุณค่าสาระและสิ่งที่ควรทำของประเพณีลอยกระทง รักษาความสะอาดแม่น้ำ ลำคลอง ประดิษฐ์กระทงด้วยวัสดุในท้องถิ่นหรือวัสดุที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
4. สนับสนุนศิลปินพื้นบ้านในการจัดกิจกรรมการละเล่น และการแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น
5. ผู้เข้าร่วมงาน ควรคำนึงถึงหลักสิทธิ มนุษยชน เช่น การไม่คุกคามทางเพศ การไม่เล่นประทัด พลุ ดอกไม้ไฟในที่สาธารณะ
6. ขับขี่ยานพาหนะและใช้ถนนหนทางให้ปฏิบัติตาม กฎหมาย กฎจราจรอย่างเคร่งครัด
7. การดำเนินการจัดงานตามคำแนะนำในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด โรคติดเชื้อของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และการรักษาความปลอดภัยในด้านอื่นๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
8. ส่งเสริมภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประเพณีลอยกระทง ทั้งในระดับท้องถิ่น ประเทศ และระหว่างประเทศ
9. ส่งเสริมภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ในการเผยแพร่คุณค่าสาระของประเพณี ลอยกระทง 2566 ที่แท้จริงของต่อชาวต่างชาติ 10.ส่งเสริมในการสร้างความตระหนักรู้ ต่อประชาชนเกี่ยวกับประเพณีลอยกระทงในประเทศไทยในฐานะที่เป็นมรดกภูมิปัญญาของชาติ สร้างความภาคภูมิใจและหวงแหนในประเพณีลอยกระทงต่อประชาชน
11. รณรงค์ให้ประชาชนสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยในการเข้าร่วมกิจกรรมประเพณี ลอยกระทง เช่น แต่งกายด้วยชุดสุภาพผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น หรือชุดไทยที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น เป็นต้น
12. ส่งเสริมกิจกรรมที่มีความสร้างสรรค์ที่สามารถพัฒนาต่อยอดคุณค่าสาระลอยกระทง เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของชุมชนและของประเทศ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชน และยังคงอัตลักษณ์ของความเป็นท้องถิ่น ขณะเดียวกันประเทศไทยโดยวธ.เตรียมเสนอขึ้นทะเบียนเทศกาลประเพณีลอยกระทง เป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ในปี 2567