8 'ภาวะซึมเศร้า' ที่ 'คุณแม่ตั้งครรภ์' ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน
ภาวะซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์ และหลังคลอด ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง และจะดีขึ้นเอง โดยคุณแม่และคนรอบข้างต้องช่วยกันปรับตัวและแก้ไขปัญหา แต่หากไม่ดีขึ้นหรือมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบแจ้งให้คุณหมอที่ฝากครรภ์ทราบ
คุณแม่ตั้งครรภ์ฟังทางนี้ วันนี้ นายแพทย์ธิติพันธุ์ น่วมศิริ สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (MFM) ศูนย์สุขภาพผู้หญิง โรงพยาบาลนวเวช จะมาให้ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และภาวะซึมเศร้าของตัวเอง เพื่อให้รู้วิธีในการรับมือ รวมไปถึงคุณพ่อและคนใกล้ชิดจะได้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น และรู้วิธีที่จะช่วยประคับประคองให้คุณแม่ผ่านปัญหานี้ไปได้ พร้อมทั้งนำเสนอข้อมูลความสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้ เพื่อนำไปสู่การตั้งครรภ์ที่ราบรื่น รวมทั้งช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีระหว่างตั้งครรภ์ของทั้งคุณแม่และลูกน้อย
การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ขณะตั้งครรภ์ มีหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุโดยฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงเป็นสาเหตุหลัก รวมไปถึงอาการเจ็บป่วยขณะตั้งครรภ์ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ปัญหาส่วนตัวต่างๆ ก็เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ หรือภาวะซึมเศร้าได้
สิ่งที่คุณแม่ต้องทำ คือ ระลึกไว้ว่าเมื่อมีการตั้งครรภ์ก็จะมีความเปลี่ยนแปลงต่างๆ อาการจะดีขึ้นเมื่อฮอร์โมนคงที่ อย่าโทษตัวเองและคนอื่น ดูแลสุขภาพกายให้แข็งแรงพักผ่อน และรับประทานอาหารให้เพียงพอ คุณพ่อและคนรอบข้างต้องเข้าใจบทบาทของตัวเอง คอยช่วยเหลือดูแลภรรยาในด้านต่างๆ เช่น ช่วยเหลืองานบ้าน ดูแลจัดสถานที่ในบ้าน ที่นอน เครื่องใช้ต่างๆ ให้เหมาะสมกับคุณแม่ตั้งครรภ์ ช่วยประคับประคองทางจิตใจ ทำกิจกรรมที่ช่วยให้คุณแม่อารมณ์ดีและผ่อนคลาย เช่น พาไปเที่ยวพักผ่อน ช่วยนวดผ่อนคลายความเมื่อยล้า เป็นต้น รวมถึงช่วยเลี้ยงลูกในช่วงหลังคลอด
แต่ถ้าหากอาการที่ผิดปกติทางอารมณ์ไม่ดีขึ้น อย่าปล่อยให้กลายเป็นปัญหาครอบครัว สามารถปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ได้
ภาวะซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์ และหลังคลอด สามารถพบได้บ่อยกว่าที่เราคิด ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและสามารถดีขึ้นได้เอง โดยคุณแม่ตั้งครรภ์และคนรอบข้างต้องช่วยกันปรับตัวและแก้ไขปัญหา แต่หากไม่ดีขึ้นหรือมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบแจ้งให้คุณหมอที่ฝากครรภ์ทราบ
- ซึมเศร้า หม่นหมอง หดหู่ ร้องไห้
- ความรู้สึกสนุก สนใจ ทำกิจวัตรประจำวันที่เคยชอบลดลง หรือรู้สึกเบื่อหน่ายในการดูแลลูก
- เบื่ออาหารหรืออยากกินอาหารตลอดเวลา
- ไม่มีกะจิตกะใจทำอะไร เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียตลอดเวลา
- การนอนเปลี่ยนแปลง อาจง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา หรือนอนไม่หลับ
- รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เป็นแม่ที่ไม่มีความสามารถ
- ไม่มีสมาธิ จดจ่อในสิ่งที่ทำลดลง
- มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย
ถ้าคุณหมอตรวจแล้ว สงสัยว่าจะมีภาวะซึมเศร้าแบบรุนแรงจำเป็นต้องส่งปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อช่วยในการดูแลอย่างเหมาะสม และอาจต้องใช้ยารักษา โดยคุณหมอก็จะเลือกยาที่ปลอดภัยกับทั้งแม่และลูกมากที่สุด
สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์สุขภาพผู้หญิง โรงพยาบาลนวเวช โทร.0-2483-9999 หรือ www.navavej.com