ไลฟ์สไตล์

"วัดชมภูเวก" วัดมอญสมัยกรุงศรีอยุธยา จิตกรรมพระแม่ธรณีที่งามที่สุดในไทย

"วัดชมภูเวก" วัดมอญสมัยกรุงศรีอยุธยา จิตกรรมพระแม่ธรณีที่งามที่สุดในไทย

03 ก.ย. 2565

ยลความงามเจดีย์ทรงมุเตา ภายใน "วัดชมภูเวก" หลักฐานของชุมชน "ชาวมอญ" จ.นนทบุรี  และตามหาภาพจิตรกรรม "พระแม่ธรณี" ที่งามที่สุดในประเทศไทย และปู่เมง ย่าเมง ศิลปะเอกลักษณะช่างสกุลนนทบุรี ภายในวิหารเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา

จ.นนทบุรี เป็นเมืองเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เป็นอีกเมืองสำคัญที่มีชุมชนอาศัยอยู่หลากหลายเชื้อชาติ เห็นเดียวกับ "ชาวมอญ" ที่เข้ามาอาศัยพระบรมโพธิสมภาร ของกรุงศรีอยุธยา

"ชาวมอญ" อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยตามพงศาวดารมีบันทึกไว้ทั้งหมด 9 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ในสมัย สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ส่วนในจ.นนทบุรี กลุ่มมอญเริ่มเข้ามาในช่วงกรุงธนบุรี

หลักฐานที่ปรากฎชัดเจน คือชุมชน "ชาวมอญ" ที่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณะ และวัฒนธรรมมาจนถึงปัจจุบัน วัดที่เป็นอีกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงของชาวมอญในสมัยกรุงศรีอยุธยา นั่นคือ "วัดชมภูเวก" จ.นนทบุรี

"วัดชมภูเวก" ตั้งอยู่สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี เป็นวัดรามัญนิกาย หรือวัดมอญ สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น สถาปัตยกรรมของ "วัดชมภูเวก" ที่มีความเก่าแก่ถึง 350 ปีนี้ เป็นศิลปะผสมผสานระหว่าง ไทย มอญ จีน พม่า และของชาวตะวันตก  สิ่งที่โดดเด่น คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณอันงดงาม ทั้งสี่ด้านมีภาพจิตรกรรมสีฝุ่นผสมกาวตามแบบอยุธยาตอนกลางฝีมือช่างสกุลนนทบุรีในยุคนั้นแสดงเรื่องราวทศชาติชาดกและพุทธประวัติ

วัดชมภูเวก จ.นนทบุรี

พระมุเตา หรือ เจดีย์ทรงมอญและเสาหงส์ สัญลักษณ์ของวัดมอญ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ  เชื่อว่าภายในบรรจุพระบรมธาตุ
เป็นพระเจดีย์ที่สร้างขึ้นแบบรามัญประเทศ ถอดแบบจากพระธาตุมุเตาชเวดากอง แห่งกรุงหงสาวดี เป็นศิลปะที่ได้ถูกถ่ายทอดตามแบบพุกาม

พระธาตุมุเตา "วัดชมภูเวก" เป็นพระธาตุมุเตาที่สวยที่สุดในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างตามแบบคติความเชื่อของ "ชาวมอญ" เดิมสร้างไม่ใหญ่เพื่อเป็นพุทธบูชา ภายหลังเมื่อปี พ.ศ.2460 สมัยรัชกาลที่ 6 พระอธิการอินทร์เป็นเจ้าอาวาส มีพระสงฆ์มอญชื่อพระครูลัยนำคณะสงฆ์มอญจากเมืองมอญร่วมกับคณะสงฆ์ไทยเชื้อสายมอญและชาวบ้านทำการบูรณะเพิ่มเติมโดยสร้างให้สูงใหญ่ครอบองค์เดิม

พระธาตุมุเตา วัดชมภูเวก

พระธาตุมุเตา เป็นเจดีย์ ทรงบัวคว่ำ บัวหงาย ฐานกว้างเป็นทรงจอมแห ขนาด 10 x 10 เมตร ฐานสูง 1.5 เมตร องค์พระธาตุสร้างแบบแปดเหลี่ยม ย่อส่วนลด 3 ชั้น ความสูงจากพื้น 15 เมตร มีพระมุเตาบริวาร 4 มุม เอกลักษณ์ของเจดีย์แบบมอญคือปลียอดด้านบน ประดับด้วยยอดฉัตร

ปลียอด ประดับฉัตร เอกลักษณ์ของพระธาตุมุเตา

อุโบสถหลังเดิมของ "วัดชมภูเวก" มีอายุเก่าแก่ กว่า 350 ปี ลักษณะเด่นของอุโบสถแห่งนี้คือ ถูกออกแบบให้มีประตูเข้า-ออก ทางด้านหน้าด้านเดียวตามคติมอญ เรียกว่า "โบสถ์มหาอุต" ตัววิหารเป็นทรงวิลันดา ปลายผนังสอบเข้าเพื่อรับน้ำหนักแทนเสา ด้านหน้ามีพาไล หน้าบันประดับปูนปั้นลายดอกพุดตานกลางดอกเป็นเครื่องถ้วยลายครามและเบญจรงค์ ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นปูนปั้นลายพฤกษา

วิหาร หรือ อุโบสถเก่า วัดชมภูเวก

เสมาถูกทำขึ้นมาใหม่ เป็นเสมาที่จำลองแบบจากของเดิม คือหินทราย แต่เป็นใบเล็ก


ผนังในอุโบสถหลังเก่าประดับด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบรัตนโกสินทร์ บรรยายเรื่องราวการประสูติของพระพุทธเจ้าสิบองค์ ภาพทศชาติชาดกที่ผนังด้านข้างระหว่างช่องหน้าต่าง และภาพเหล่าเทวดากำลังไหว้พระธาตุจุฬามณีบนสวรรค์ ส่วนผนังหลังพระประธานนั้น ตรงกลางเขียนซุ้มเรือนแก้วใหญ่เป็นฉาก พื้นผนังเป็นลายดอกไม้ร่วง ด้านข้างทั้งสองเป็นรูปอดีตพระพุทธเจ้า สำหรับองค์พระประธานภายในอุโบสถเก่าเป็นแบบรัตนโกสินทร์ เป็นพระประธานจำลองปางมารวิชัยถอดแบบของเก่าสมัยสุโขทัย

จิตรกรรมฝาผนังด้านในวิหาร วัดชมภูเวก

พระประธานในวิหาร มีการเรียงพระประธานโดยมีอดีตพระพุทธเจ้าอยู่ด้านหลังพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันและอนาคตพระเจ้าหรือพระศรีอริยเมตไตรยอยู่ด้านหน้า จึงเรียกกันว่า พระพุทธเจ้า 4 พระองค์ ได้แก่ พระกัสสปะพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระโคตมพุทธเจ้า และพระศรีอารยเมตไตรย  การวาดภาพ จิตรกรรมฝาผนังที่มีพระพุทธเจ้าหลายพระองค์จะเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ในช่างของสกุลนนทบุรี


ฝีมือสกุลช่างนนทบุรี สมัยอยุธยาตอนกลาง ใช้เทคนิคเขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวแบบเทมเพอร่า เขียนตามคติอยุธยาตอนกลาง
และซุกซ่อนภาพกิจกรรมฝาผนังที่เรียกว่าภาพกากที่ออกแนวทะลึ่งขบขันอยู่ภายในจิตรกรรมฝาผนัง เช่น ภาพวาดปู่เมง ย่าเมง ที่แสดงเอกลักษณะของคนมอญ มีการนุ่งผ้าแบบมอญ ลายผ้าแบบมอญ เป็นภาพเชิงสังวาส หรือภาพชายหญิง สะท้อนถึงสังคมไทย เพราะวัดเป็นที่สังคม สมัยอยุธยา และต้นรัตนโกสินทร์ มักจะมีภาพประเภทเหล่านี้เป็นเรื่องสะท้อนแนวคิดของช่าง

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ปู่เมง-ย่าเมง วัดชมภูเวก

ผนังหุ้มกลองหน้าพระประธานเหนือประตูเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ใต้รูปพระพุทธเจ้าเป็นภาพเขียนรูป "แม่พระธรณีบิดมวยผม" เทพีแห่งดินตามความเชื่อของศาสนาพุทธ ในซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งงามวิจิตรด้วยความคดเคี้ยวของเส้น แสดงให้เห็นถึงลักษณะของศิลปะขั้นสูงฝีมือบรมครู ถูกจัดเป็นภาพพระแม่ธรณีที่มีความงดงามที่สุดในประเทศไทย

ภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผม ที่สวยที่สุดในโลก

อุโบสถหลังใหม่ของ "วัดชมภูเวก" เป็นที่ประดิษฐานพระประธานศิลปะสุโขทัยและพระพุทธรูปยืนอีก 2 องค์วัดแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมพ.ศ. 2517

ภาพในอดีตของเจดีย์ทรงมุเตา วัดชมภูเวก