ไลฟ์สไตล์

"วัดบางหลวง" วัดมอญแต่อดีต และพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ของ "ชาวมอญ" ย่านปทุม

"วัดบางหลวง" วัดมอญแต่อดีต และพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ของ "ชาวมอญ" ย่านปทุม

22 ก.ย. 2565

"วัดบางหลวง" วัดมอญที่สำคัญของเมืองปทุม สร้างตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาประดิษฐาน พระปทุมธรรมราช พระพุทธรูปประจำจังหวัดปทุมธานีที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ ของ "ชาวมอญ" ย่านเมืองปทุม

"วัดบางหลวง" วัดเก่าแก่ที่สวยงาม ในจ.ปทุมธานี เป็นวัดทีมีอายุกว่า 300 ปี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2230  จากบันทึกของ พระรามัญมุนี (สุทธิ์ ญาณรสี) อดีตเจ้าอาวาสวัดบางหลวง และอดีตเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีได้กล่าวเอาไว้ว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัย "กรุงศรีอยุธยา" โดยกล่าวไว้ว่า ในพุทธศักราช 2246 สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ทรงพระนามเดิมว่า "พระพุทธเจ้าเสือ" ได้ทรงสร้างวัดนี้ขึ้น ที่ต.ปากคลองบางหลวงฝั่งใต้ พระราชทานนามว่า "วัดสิงห์" ส่วนชื่อ "วัดบางหลวง" มีการสันนิษฐานกันว่า เมื่อครั้งมีการขุดคลองลัดเตร็ดใหญ่ พบพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน แล้วเอาหลบซ้อนไว้ในวัด เรียกว่าบังไว้ไม่ให้หลวงเห็น จึงพูดติดปากว่า บังหลวง เมื่อเวลาผ่านเลยมานานคำว่า บังหลวง จึงกลายเป็น บางหลวง

แต่เดิมมี "วัดบางหลวง" อยู่ 2 วัด คือ วัดบางหลวงนอก กับวัดบางหลวงใน วัดบางหลวงในคือวัดบางหลวงที่อยู่ปัจจุบันนี้ ส่วนวัดบางหลวงนอก อยู่ใกล้แม่น้ำและได้ทรุดโทรมปรักหักพังร้างไปหมดแล้ว 


"วัดบางหลวง" ได้รับการบูรณะในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 พระองค์ได้โปรดเกล้าให้พระมอญมาเป็นพระราชสมภารเจ้าวัดฝ่ายรามัญ

 

วัดบางหลวง จ.ปทุมธานี
 

"วัดบางหลวง" มีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญและเก่าแก่อยู่หลายจุด แต่ละจุดนั้นสร้างขึ้นในยุคสมัยที่แตกต่างกันไป

อุโบสถของ "วัดบางหลวง" เป็นอุโบสถทรงไทย สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา มีความพิเศษ คือ ไม่มีเสาและใช้วัสดุก่อสร้างแบบโบราณ มีใบเสมาหินทราย จิตรกรรมฝาผนังในอุโบสภ เป็นเรื่องราวพุทธประวัติ ทศชาติชาดก ที่วาดขึ้นเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ตลอดมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่จะสังเกตุได้จากสีคราม และก้อนเมฆที่เป็นศิลปะแบบเรียลลิสติก ซึ่งเป็นศิลปะในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ยังมีภาพเรื่องราวของวิถีชุมชน "ชาวมอญ" แบบของจ.ปทุม ที่จะเห็นได้วิถีชีวิตที่ผูกพันกับริมน้ำ และลำธาร

จิตรกรรมฝาผนัง วัดบางหลวง ปทุมธานี

ผนังหุ้มกลองหลังพระประธานแบ่งการเล่าเรื่องเป็น 2 เรื่อง คือ ตอนพระพุทธเจ้าโปรดพระมารดา และตอนพระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา เป็นรูปแบบที่หาดูได้ยาก

จิตรกรรมฝาผนัง วัดบางหลวง

ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณที่สำคัญ คือ "หลวงพ่อใหญ่" พระประธานปางมารวิชัย และ "หลวงพ่อเพชร" พระพุทธรูปเชียงแสน ที่นับว่าเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในจังหวัดปทุมธานี  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร  หล่อด้วยสัมฤทธิ์ตันทั้งองค์ สมัยเชียงแสน มีหน้าตักกว้าง 25 นิ้ว สูง 39 นิ้ว ชายสังฆติสั้นอยู่เหนือพระถัน พระอุระใหญ่งามอย่างสิงห์ เป็นสัญลักษณ์ของพระสิงห์ 1 แต่ยอดพระเมาลีเป็นรัศมีเปลว สันนิษฐานว่ามีการบูรณะซ่อมแซมใหม่ในช่วงหลัง เนื่องจากพระในสมัยเชียงแสน จะมียอดพระเกศ เป็นทรงดอกบัว  เป็นพระพุทธรูป ที่ถูกค้นพบขณะที่ขุดคลองลัดเตร็ดใหญ่ ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ประมาณ พ.ศ. 2151 ความพิเศษของหลวงพ่อเพชรคือ สามารถขยับพระหัตรซ้ายได้ มีการสันนิษฐานว่า ในอดีตพระเจ้าสายน้ำผึ้ง ได้เดินทางมาจากเหนือได้มีโอกาสมาพูดคุยกับพระรามัญที่วัดแห่งนี้ ได้อัญเชิญหลวงพ่อเพชรมา และถูกซ่อนไว้ และมีการขุดเจอเมื่อครั้ง มีการขุดคลองเตร็ดใหญ่ และมีบางส่วนที่หายไปชาวบ้านจึงได้นำมาซ่อมแซมจึงกลายเป็นศิลปะแบบผสมผสาน จากแบบล้านนาหรือเชียงแสนกลายมาเป็นศิลปะแบบร่วมสมัย

พระพุทธรูปภายในอุโบสถ


นอกจากนี้ยังประดิษฐานพระปางห้ามญาติ และปางห้ามสมุทร ซึ่งเป็นพระพุทธรูป ที่มีพุทธลักษณะ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องจักรพรรดิ

 

พระพุทธรูป ในอุโบสถ วัดบางหลวง

นอกจากนี้ "วัดบางหลวง" ยังมีพระพุทธรูปสำคัญของชาวจังหวัดปทุมธานี คือ "พระปทุมธรรมราช" พระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยโลหะผสม หน้าตักกว้าง 3 คืบ พระสุคตประมาณ 40 นิ้ว สูง 50 นิ้ว ห่มจีวรสังฆาฏิพาด ตั้งอยู่บนฐานบัว สูง 8 นิ้ว ยาว 47 นิ้ว วัดความสูงถึงยอดพระเกตุมาลาได้ 65 นิ้ว เป็นพระประจำจังหวัดปทุมธานี สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 โดย พระศาสนโสภณ (อ่อน) และ พระงอก บนพระอังสามีลักษณะยื่นออกมา ประดิษฐานไว้ในกุฏิเก่าของท่านเจ้าคุณพระราชสุเมธาภรณ์

 

พระปทุมธรรมราช พระพุทธรูปประจำจังหวัดปทุมธานี

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีความเป็นมอญพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งให้สร้างพระพุทธรูปประจำเมืองไว้ เป็นความเกี่ยวเนื่องยึดโยงของ "ชาวมอญ" ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ปทุมธานี นนทบุรี นครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) และเมืองสมุทรปราการ

โดยในขณะนั้นผู้นำ "ชาวมอญ" ร่วมกันสร้างพระประจำเมืองพร้อมกัน 4 องค์ ได้แก่ พระปทุมธรรมราช พระพุทธรูปประจำเมืองปทุมธานี พระนนทนารถชินวร พระพุทธรูปประจำเมืองนนทบุรี พระนครศาสดา พระพุทธรูปประจำเมืองนครเขื่อนขันธ์​ และ พระสมุทรมหามุนินทร์ พระพุทธรูปประจำเมืองสมุทรปราการ พระพุทธรูปทั้ง 4 องค์มีลักษณะเป็นแบบเดียวกันเป็นศิลปะผสมผสานในสมัยรัตนโกสินทร์ มีจีวรริ้วยับเป็นแบบ realistic แต่ยังคงความเป็นศิลปะสมัยต้นรัตนโกสินทร์

 

พระปทุมธรรมราช

สำหรับ "พระปทุมธรรมราช" ขึ้นชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ หากได้ไปขอพรองค์ท่านก็จะได้ประสบความสำเร็จในเรื่องหน้าที่การงาน และความเจริญรุ่งเรือง 

ด้านหน้าอุโบสถ มีพระเจดีย์ทรงมุเตา เอกลักษณ์ของวัดมอญ ที่จำลองมาจาก เจดีย์ชเวดากอง และพระธาตุมุเตา
และยังมีเจดีย์ที่บรรจุอัฐิของอดีตเจ้าอาวาสซึ่งเคยเป็นเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และประดับด้วยเสาหงส์ เป็นสัญลักษณ์ของวัดมอญ

 

เจดีย์ทรงมุเตา จำลองมาจากเจดีย์ชเวดากอง

 

เจดีย์บรรจุอัฐิ พระเถระมอญ
และอีกหนึ่งความสวยงามของวัดบางหลวงคือ สะพานโค้ง 100 ปี สะพานเก่าแก่ที่ไม่มีเสาค้ำด้านล่าง ที่ยังคงแข็งแรงมาจนถึงปัจจุบัน 

สะพานโค้ง 100 ปี

 

สะพานโค้ง 100 ปี วัดบางหลวง

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่

เพิ่มเพื่อน
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube Official : https://youtube.com/user/KOMCHADLUEK
TIKTOK : https://www.tiktok.com/@komchadluekonline