ไลฟ์สไตล์

เที่ยวสุขใจ ชม โบราณสถาน แดนประหารชีวิต " วัดโคกพระยา "

เที่ยวสุขใจ ชม โบราณสถาน แดนประหารชีวิต " วัดโคกพระยา "

11 ต.ค. 2565

เที่ยว โบราณสถาน ลานประหารชีวิต พระมหากษัตริย์ และ เชื้อพระราชวงศ์ สมัย กรุงศรีอยุธยา วัดโคกพระยา ที่มีระบุใน พงศาวดาร

หากความตายคือจุดจบของชีวิต ในหลายครั้ง การดับสูญ คือการเปลี่ยนผ่านสู่การเปลี่ยนแปลง ของ เรื่องราว ของสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม ความเปลี่ยนแปลง และ ก้าวผ่าน ของ ความเป็น กรุงศรีอยุธยา เป็น เช่นนั้น ตลอดเวลา 417 ปี ของราชอาณาจักร ที่ถูกขานนามว่า ไร้พ่าย ( อยุธยา แปลว่า "เมืองที่ไม่อาจต่อรบได้") การเปลี่ยนแปลงผู้ปกครอง วิธีการสำคัญที่ใช้กันอย่างต่อเนื่องก็คือ ทำให้ตายแบบไม่สมัครใจ 

 

ปราบดาภิเษก การเปลี่ยนผ่านอำนาจด้วยเลือด

ในยุคสมัย กรุงศรีอยุธยา การขึ้นสู่อำนาจ วิธีการหนึ่งคือการ ปราบดาภิเษก หรือการกำจัดคู่แข่ง หรือ ศัตรูทางการเมือง เพื่อขจัดเสี้ยนหนามให้พ้นทาง วิธีการประหารคือการจัดการให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง 

 

วันที่น้ำเหนือลากไหล ฟ้าเต็มด้วยไอกลิ่นฝน สายน้ำในคลองเมืองเอ่อขึ้น จนบางส่วนลามไหลเข้า โบราณสถาน ผมเดินจากรถยนต์ส่วนตัว ที่จอดบนลานด้านหน้าวัดหน้าพระเมรุฯ ที่คนมักเชื่อกันไปเองว่า เป็นวัดเดียวที่ข้าศึกในปี 2310 ไม่ได้ทำลาย ข้ามผ่านบริเวณวัดหัสดาวาส ย่านตั้งเต็นท์ เจรจาระหว่างประเทศ ของ พระมหาจักรพรรดิ กับ พระเจ้าบุเรงนอง เข้าไปในซอยข้างวัด เพื่อไปยังแดนประหารสำคัญ คือ วัดโคกพระยา 

 

วัดโคกพระยา
 

วัดโคกพระยา ที่อยู่ใกล้เคียงวัดหน้าพระเมรุ เป็นสถานที่ที่มีระบุในพงศาวดารว่า ใช้เป็นพื้นที่การประหาร พระมหากษัตริย์ และ เชื้อพระวงศ์  จากการวิเคราะห์ส่วนตัว เหตุที่วัดโคกพระยา ถูกเลือกเป็นที่ส่งศัตรูทางการเมืองไปทัวร์สวรรค์ เนื่องจากวัดอยู่ในส่วนท้ายวัง ฝั่งตรงข้ามบริเวณพระบรมมหาราชวังกรุงศรีฯ 

 

พระอุโบสถ และ เจดีย์ ของ วัดโคกพระยา

 

หญ้าเขียวขึ้นจนทั่วบริเวณวัด  แนวฐานพระอุโบสถที่หลงเหลือ วางตัวหันหน้าสู่ คลองสระบัว ด้านหลัง เป็นพระเจดีย์ทรงกลม ที่ไร้ปล่องไฉน มีการคาดการจากผู้เชี่ยวชาญว่า วัดนี้ น่าจะสร้างมาตั้งแต่ช่วง ต้นสมัยกรุงศรีฯ หรือ เป็นไปได้ที่จะสร้างมาก่อนหน้านั้น 

 

ผมไล่เดินเลียบฐานพระอุโบสถ เจอกับฐานสิ่งก่อสร้างนอกพระอุโบสถ จากการสอบถามชาวบ้าน ที่นั่งเอนกายอยู่หน้าบ้านใกล้ ๆ กับ วัด บอก ส่วนบริเวณนี้ อาจจะเป็นจุดที่ประหารชีวิตกัน เพราะพวกเขาบอกว่า เขาเคยเจอสิ่งที่เคยเป็นสิ่งมีชีวิต เดินอยู่ตรงแถว ๆ นี้ !

 

ฐานของสิ่งก่อสร้าง ที่ชาวบ้านบอก เคยเจอ สุกี้น้ำ บริเวณนี้

 

สาเหตุที่คนรุ่นหลัง อย่าง เรา ๆ ทราบว่า สถานที่แห่งนี้ เคยเป็นจุดส่งเชื้อพระวงศ์ไปเฝ้าพระอินทร์นั้น เป็นเพราะ มีจดหมายเหตุ หรือ บันทึก ของ นักเดินทางชาวฮอลันดา นาม วัน วลิต เขียนระบุไว้ว่า ที่นอกเกาะอยุธยา เยื้องไปทางเหนือ มีสถานที่ ที่ไว้ใช้ประหารชีวิตเชื้อพระวงศ์ บุคคลสำคัญ  ระดับเซเลปกรุงศรีฯ 

 

มุมด้านบน พระอุโบสถ วัดโคกพระยา
 

ผมละเลียดถ่ายรูปนิ่งอีกจำนวนหนึ่ง แล้วหยุดยืนอยู่ตรงปากทางเข้า ชมภาพ ที่จะว่างามก็งามตามแบบโบราณสถาน แต่ในใจก็คิดตามเหตุและปัจจัยในการฆ่าฟันกันที่เคยเจอขึ้นที่นี่  วิเคราะห์ตามแบบฉบับ นักประวัติศาสตร์กำมะลอ พบว่า การส่งคนไปเฝ้าพระอินทร์ แบบไม่สมัครใจนั้น มักจะเกิดขึ้น ในช่วงรอยต่อของอำนาจ การเปลี่ยนรัชกาล การเปลี่ยนราชวงศ์ เป็นสำคัญ เพราะด้วยเหตุสำคัญ คือ การสร้างความมั่นคง และเสถียรภาพทางการเมืองนั่นเอง 


สำหรับพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ ที่ถูกสำเร็จโทษ ที่วัดโคกพระยา มีทั้งสิ้น 16 พระองค์ ได้แก่ 


สมเด็จพระเจ้าทองลัน พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 4 แห่งกรุงศรีอยุธยา
พระรัษฎาธิราช พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 12 แห่งกรุงศรีอยุธยา
พระยอดฟ้า พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 14 แห่งกรุงศรีอยุธยา
พระศรีเสาวภาคย์ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงศรีอยุธยา
พระพันปีศรีศิลป์ พระอนุชาในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ถูกสำเร็จโทษโดยออกญากลาโหมสุริยวงศ์ หรือพระเจ้าปราสาททอง
สมเด็จพระเชษฐาธิราช พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 22 แห่งกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จเจ้าฟ้าไชย พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 25 แห่งกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 26 แห่งกรุงศรีอยุธยา
เจ้าพระขวัญ พระราชโอรสในสมเด็จพระเพทราชาที่ประสูติแต่กรมหลวงโยธาทิพ
เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
พระองค์เจ้าชื่นและพระองค์เจ้าเกิด พระราชบุตรในกรมพระราชวังบวรเสนาพิทักษ์
กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี (เจ้าสามกรม) พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

 

ผมรำลึกถึงเรื่องราวในพงศาวดารที่เคยเกิดขึ้นอีกครั้ง ก่อนจากกลับด้วยความขบคิด แต่ไม่อาจจะบอกออกมาเป็นถ้อยประโยคได้.

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website -  www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek