ชมภาพ ป้อมสมิงพราย แนวปราการที่ยังเหลืออยู่ ในยุค ต้น กรุงรัตนโกสินทร์
เยือน โบราณสถาน ที่หลงเหลือ ของ ป้อมสมิงพราย หนึ่งในอดีต ป้อมปราการ สำคัญ ที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อป้องกันปากแม่น้ำเจ้าพระยา ของ กรุงรัตนโกสินทร์
ป้อมปราการต่างๆของเมือง สมุทรปราการ นั้น ส่วนใหญ่ ได้พังทลายไปตามกาลเวลา บ้างถูกรื้อออกไปเพื่อใช้งานพื้นที่ ที่ยังเหลืออยู่นั้น มีสภาพที่แข็งแรง อยู่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น
หนึ่งในนั้น คือ ป้อมสมิงพราย
รวมทั้งยังมีซากของ ป้อมปราการ ใกล้เคียง ที่เคยตั้งตระหง่านป้องกันลำน้ำ ให้ได้ศึกษา ความเป็นมาเป็นไป
บ่ายในวันหนึ่งที่แดดร่ม ลมดี ไร้ฝน ผมพาตัวเองไปยัง สถาบันราชประชาสมาสัย หรือ โรงพยาบาลพระประแดง ของคนในพื้นที่ เพื่อมาบันทึกภาพและดูความเปลี่ยนแปลงของ ป้อมปราการ ในยุคต้นกรุงเทพฯ ที่ยังหลงเหลือให้ได้ชมกัน
เมื่อเข้ามาในพื้นที่ แนวกำแพง ป้อมปราการ แรกก็เผยตัวให้เห็นอย่างชัดเจน บริเวณนี้ คือ ป้อมวิทยาคม และ ป้อมปีศาจสิง อยู่ที่ด้านหน้าตึกอาชีวเวชศาสตร์ ในปัจจุบันนี้ เหลือเพียงแนวกำแพงเท่านั้น จากนั้น ผมสอบถามถึง ป้อมสมิงพราย กับเจ้าหน้าที่ที่อยู่แถวนั้น ก่อนจะบอกทางให้เดินไป จนมาถึงตัวป้อม
สำหรับ ป้อมสมิงพราย นั้น ได้รับการดูแลอย่างดี มีการซ่อมแซมบูรณะใหม่ บนโครงสร้างและรูปแบบดั่งเดิมของตัวป้อม ทำให้สามารถมองเห็นภาพในอดีตได้อย่างชัดเจน
สำหรับ ป้อมสมิงพราย นั้น ถูกก่อสร้างขึ้น ในปี 2357 พร้อมกับป้อมต่างๆ อีก 3 ป้อม ได้แก่ ป้อมราหูจร ป้อมปีศาจสิง และป้อมวิทยาคม สำหรับชื่อสมิงพรายนั้น เชื่อว่า หลายคนอาจจะเข้าใจว่า มาจากชื่อ ปู่เจ้าสมิงพราย หนึ่งในฤาษีที่คนไทยนับถือ แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น ชื่อป้อมมาจากชื่อของนายทหารชาวมอญ ที่เป็นหัวหน้าคุมกำลังก่อสร้างป้อม ชื่อว่า สมิงคลา และต่อมาได้เรียกเป็น สมิงพราย
นอกจากนี้ ป้อมสมิงพราย คือ อาคารหลังแรกที่ใช้เป็นอาคารพยาบาลของสถาบันราชประชาสมาสัยในอดีตอีกด้วย
ผมเดินบันทึกภาพมุมต่างๆของ ป้อมสมิงพราย ไว้อย่างครบถ้วน ได้เห็นความต่างระหว่างซากเก่าของป้อมเดิม กับส่วนที่ก่อสร้างซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ ด้วยความทึ่ง ในการก่อสร้างของคนในอดีต และชื่นชมในความใส่ใจอนุรักษ์ของคนร่วมรุ่น แม้จะเป็นการก่อสร้างแทนป้อมปราการเดิมที่พังสลายไปตามกาลเวลา แต่อย่างน้อยคนรุ่นถัดไป ก็จะสามารถเรียนรู้ได้ต่อไป ถึงความเป็นไป และเรียนราวที่ผ่านมา ของผู้คน ยุคสมัย รวมทั้งประวัติศาสตร์แห่งพื้นที่.
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website - www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek