'เกาะโลซิน' เกาะเล็กที่สุดใน ประเทศไทย แต่ทำไม มีราคาแสนล้าน
ทำความรู้จัก 'เกาะโลซิน' เกาะ ที่เหมือนกองหิน ที่เล็กที่สุดในประเทศไทย แต่ทำไม มีราคาดุจโคตรเพชร หลายแสนล้านบาท
หากพูดถึง “เกาะ” ต่างๆ ในประเทศไทย ทั้งทะเลฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน เกาะเล็ก เกาะใหญ่ ทั้งมีผู้อยู่อาศัย และไม่มีคนอยู่อาศัย มีนับไม่ถ้วน
แต่มีอยู่เกาะหนึ่ง เชื่อว่า หลายคนอาจจะไม่คุ้นหู หรือ ได้ยินชื่อ นั่นคือ “เกาะโลซิน” เกาะที่เล็กที่สุดในประเทศไทย แต่ขึ้นชื่อว่า มีราคานับแสนล้านบาท ทำไม เกาะที่เล็กที่สุด ถึงมีราคาสูงที่สุด คมชัดลึก รวบรวมข้อมูล พาไปรู้จักกับ “เกาะโลซิน”
ประวัติความเป็นมา “เกาะโลซิน”
“เกาะโลซิน” เป็นเกาะหินปูนขนาดย่อมกลางทะเลอ่าวไทย ขึ้นอยู่กับ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ห่างจากหาดวาสุกรี ในเขต อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ประมาณ 72 กิโลเมตร ไม่มีต้นไม้ ไม่มีแม้แต่หาดทราย มีเพียงยอดภูเขาโผล่พ้นน้ำขึ้นมาประมาณ 10 เมตร ฐานกองหินใต้ผืนน้ำกว้างประมาณ 50 ตารางเมตร และมีเพียงประภาคาร ตั้งโดดเด่นเป็นจุดสังเกตแก่นักเดินเรือเท่านั้น บริเวณรอบเกาะ เป็นแหล่งปะการังที่อุดมสมบูรณ์ กินพื้นที่ยาว 1 กิโลเมตร มีพืชใต้น้ำ และฝูงปลานานาชนิด โดยเฉพาะฉลามวาฬ ด้วยเหตุนี้ เกาะโลซินจึงเป็นที่นิยมของนักดำน้ำ และนักตกปลา
แต่เดิมที่นี่เคยเป็นดินแดนพิพาทระหว่างไทยกับมาเลเซีย โดยมาเลเซียได้ทำการอ้างสิทธิ เหนือหมู่เกาะกระ ใน จ.นครศรีธรรมราช ด้วยการอ้างการแบ่งเขตไหล่ทวีป อันเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่สัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติ ทำให้ไทยเสียเปรียบ แต่เวลาต่อมา คณะเจรจาไปพบเกาะหินกลางทะเล นั่นคือ “เกาะโลซิน” จึงได้ใช้อนุสัญญากรุงเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ. 1958 ให้โลซินมีสถานะเป็นเกาะ ไทยจึงสามารถประกาศสิทธิเขตเศรษฐกิจจำเพาะจากแนวน้ำลดบริเวณชายฝั่งออกไปได้ 200 ไมล์ทะเล ซึ่งครอบคลุมแหล่งก๊าซด้วย
ภายหลังปี พ.ศ. 2521 ไทยและมาเลเซียจึงได้ตกลงกัน กำหนดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลดังกล่าว เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7,250 ตารางกิโลเมตร โดยตั้งองค์กรขึ้นมาบริหารจัดการร่วมกันแล้วแบ่งผลประโยชน์กันคนละครึ่ง
เกาะโลซิน เกาะเล็ก ราคาใหญ่
ทำไม “เกาะโลซิน” ที่มีขนาดเท่าห้องขนาดกลางในคอนโดมีเนียม โดยมีพื้นที่รวมแค่ 50 ตารางเมตร ถึงมีราคาสูงถึงแสนล้านบาท จากข้อมูลของ openup ระบุว่า พื้นที่ใต้น่านน้ำอาณาเขต จะมีโอกาสสำรวจพบทรัพยากรธรรมชาติได้มากมาย ยกตัวอย่างเช่น แหล่งก๊าซธรรมชาติ
โดยเมื่อแต่ละประเทศเริ่มมีการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งของตนออกมา 200 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 370 กิโลเมตร ตามอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ทำให้เขตเศรษฐกิจจำเพาะของหลายๆ ประเทศทับซ้อนกัน โดยเฉพาะทะเลในเขตน่านน้ำรอยต่อไทย-มาเลเซียนั้น มีพื้นที่ทับซ้อนกันอย่างกว้างขวาง และเมื่อสำรวจพบว่าใต้ทะเลบริเวณนี้ เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาล ทั้งไทยและมาเลเซียต่างก็อ้างสิทธิในพื้นที่ทางทะเลดังกล่าว จนเกิดข้อโต้แย้งกันขึ้น และมีการตั้งโต๊ะเจรจาอย่างจริงจังในปี 2515 ซึ่งการเจรจาในครั้งนั้น ใช้การแบ่งเขตทางทะเล ด้วยวิธีการลากเส้นตั้งฉากจากแนวโค้งของแผ่นดินแต่ละฝ่าย หรือที่เรียกว่าเขตไหล่ทวีปตามหลักสากล ด้วยวิธีเช่นนั้น ทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบอย่างมาก และพื้นที่แหล่งก๊าซธรรมชาติจะกลายเป็นของมาเลเซียทั้งหมด
น่านน้ำอาณาเขต คืออะไร
น่านน้ำอาณาเขต (Territorial Waters) หรือทะเลอาณาเขต (Territorial Sea) ในวิกิพีเดียอธิบายว่า เป็นแนวน่านน้ำชายฝั่งวัดจากเส้นฐาน ปกติของน้ำทะเลในช่วงลงเต็มที่จนถึงปานกลางของชายฝั่งไปไกลสุดที่ 22.2 กิโลเมตร
พูดง่ายๆ ก็คือ ตำแหน่งไหนที่เป็นปลายทางที่อยู่ติดกับทะเล หรือในทะเล ถ้าใครได้เป็นเจ้าของ ประเทศนั้นก็จะได้ครอบครองน่านน้ำเพิ่มออกไปจากจุดนั้นอีก 22.2 กิโลเมตร รวมถึงบนฟ้าและใต้ดินที่อยู่ในอาณาเขตด้วย
ก็แปลว่าประเทศไทย นอกจากจะเป็นเจ้าของพื้นที่รูปขวานใน Map โลกแล้ว หลายๆ เกาะในที่อยู่ไกลจากผืนดินมากที่สุด บวกเพิ่มไปอีก 22.2 กิโลเมตร ก็นับเป็นโซนของประเทศไทยเหมือนกัน โดยไทยยืนยันว่า ได้ก่อสร้างประภาคารไว้บนเกาะนี้ เพื่อแสดงอาณาเขตไว้แล้ว
ตามอนุสัญญาเจนีวา กฎหมายทางทะเล ค.ศ.1958 ที่ไทยเป็นสมาชิกในอนุสัญญา ได้ระบุความหมายของเกาะไว้ว่า "แผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบ" ซึ่งหมายถึงเกาะที่เป็นหิน หรือกองหินโผล่จากน้ำขึ้นมาด้วย โลซินก็เลยกลายเป็นเกาะสุดท้ายของประเทศไทย ที่ทำให้ฝ่ายมาเลเซียต้องยอมยกให้
ในปี 2522 ประเทศไทยและมาเลเซีย เจรจาตกลงกำหนดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area) ครอบคลุมประมาณ 7,250 ตร.กม.โดยตั้งองค์กรขึ้นมาบริหารจัดการร่วมกันแล้วแบ่งผลประโยชน์คนละครึ่ง เป็นระยะเวลา 50 ปี
เมื่อมีการสำรวจขุดเจาะก๊าซธรรมชาติขึ้นมาก็พบว่า แหล่งก๊าซที่มีปริมาณมากถึงราว 75% นั้น อยู่ในซีกพื้นที่ใกล้ชายฝั่งมาเลเซีย แต่ไทยเราได้รับผลประโยชน์ไปด้วย เพราะการอ้างอาณาเขตจากเกาะโลซินที่เป็นแค่กองหิน จนหลายคนตั้งชื่อเกาะโลซินใหม่ว่า “กองหินแสนล้าน” ตามมูลค่าของแหล่งก๊าซธรรมชาตินั่นเอง
แต่ในปี 2572 ข้อตกลงเจรจาระหว่างไทย-มาเลเซีย ที่กำหนดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมจะหมดอายุลง เกาะโลซินยังจะถูกเรียกเหมือนเดิมไหมไม่รู้ แต่ที่รู้คือ ความอุดมสมบูรณ์ของเกาะโลซิน และความหลากหลายทางชีวภาพของโลกใต้ทะเล มีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล
เหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นบนเกาะโลซิน
- 2 ต.ค. 2556 เรือขนส่งเงินตราต่างประเทศมูลค่ารวม 119 ล้านบาท โดยมีนายอาคม พูนชนะ ไต๋เรือ เป็นผู้ขับเรือ ถูกปล้น ขณะนำมาส่งลูกค้าที่เกาะโลซิน ต่อมาพบว่า นายอาคม มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการปล้นทรัพย์ นับเป็นเหตุการณ์ปล้นทรัพย์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย และตำรวจตั้งข้อสังเกตว่า ลูกเรือทั้ง 7 ราย น่าจะเสียชีวิตเพราะถูกฆาตกรรมในทะเล
- ปี 2564 มีเศษอวนขนาดยาว 200 เมตร กว้าง 50 เมตร ติดแนวปะการัง บริเวณเกาะโลซิน สร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศปะการังประมาณ 550 ตารางเมตร ซึ่งเก็บกู้ได้เป็นน้ำหนัก 800 กิโลกรัม
สถานะเกาะโลซินในปัจจุบัน
ราชกิจจานุเบกษา ได้ออกประกาศกฎกระทรวง กำหนดให้บริเวณเกาะโลซิน ต.บ้านน้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี 2565 โดยได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 มีผลบังคับใช้วันที่ 28 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากเกาะโลซิน เป็นพื้นที่มีความสำคัญและเปราะบางมาก
ที่มา : openup, วิกิพีเดีย
ขอบคุณภาพ : Thon Thamrongnawasawat, PTTEP