10 ที่สุด ไปรษณีย์กลางบางรัก soft power สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
'ไปรษณีย์ไทย' เปิด 10 ที่สุดแห่งความเป็น 'ไปรษณีย์กลางบางรัก' soft power ในมิติสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ด้านการสื่อสารของคนไทย พร้อม 10 สตอรี่ที่ทุกคนต้องไม่พลาด
ประเทศไทยมีจุดขายทางวัฒนธรรมมากมาย ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจคือ สถาปัตยกรรม ทั้งที่เป็นของดั้งเดิมและปลูกสร้างใหม่ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสวยงามแทบทั้งสิ้น โดยอาคารแห่งหนึ่งที่ถือเป็นแลนด์มาร์คสุดคลาสสิกและมีเสน่ห์ ได้รับความนิยมจากผู้คนทุกกลุ่มก็คืออาคาร “ไปรษณีย์กลางบางรัก” สถาปัตยกรรมที่เจิดจรัสอยู่บนย่านเจริญกรุง ซึ่งเป็น soft power ในมิติสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ด้านการสื่อสารของคนไทย ซึ่งไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัยอาคารแห่งนี้ก็ไม่เคยถูกมองว่าเชย หรือเลือนหายไปกับกาลเวลา และวันนี้เราจะไปดูกันว่าอะไรที่ทำให้คนชื่นชอบ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรักจากวันแรกจนถึงวันนี้
1. จุดเริ่มต้นกิจการ ไปรษณีย์ไทย
สิ่งแรกที่ไม่อยากให้พลาดก็คือด้านหน้าของ อาคารไปรษณีย์กลาง ที่มีพระอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษี สว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขพระองค์แรก โดยนอกจากจะเป็นผู้ทรงวางรากฐานระบบไปรษณีย์แล้ว ยังทรงริเริ่มระบบตั๋วแสตมป์เพื่อเป็นค่าฝากส่ง และยังทรงเป็นผู้ให้กำเนิดคำว่า “โพสต์แมน” ก่อนจะมาเป็น “บุรุษไปรษณีย์” หรือที่ปัจจุบันรู้จักกันว่า “พี่ไปรฯ” ในทุกวันนี้
2. ที่ทำการที่สวยที่สุดในประเทศ
ไปรษณีย์กลางบางรัก ออกแบบอาคารสไตล์อาร์ตเดโค ความตระการตาของประตูทางเข้าที่เป็นเหล็กหล่อประดับตราสัญลักษณ์ครุฑยุดแตรงอน เส้นสายที่เรียบง่ายและอาคารทรงเรขาคณิต สื่อถึงความหนักแน่นแข็งแรง ภายในโถงตึกไม่มีเสา ถือเป็นตึกที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพสมัยนั้นที่เปี่ยมด้วยไปด้วยพลังและความสง่างาม เครื่องแบบของพนักงานการออกแบบในลักษณะร่วมสมัยและเข้ากับบรรยากาศของที่ทำการแบบไม่มีที่อื่นในประเทศ ในส่วนของเคาน์เตอร์มีการจำลองแบบของประตูประดับมาไว้ด้านหลัง ส่วนด้านนอกของอาคารมีความสวยงามตามฉบับศิลปะอาร์ตเดโคที่นำความเป็นตะวันตกยกมาไว้ ณ ที่แห่งนี้แบบลงตัว
3. ประติมากรรมนูนต่ำหนึ่งเดียวในโลก
งานประติมากรรมภาพแสตมป์นูนต่ำจำนวน 8 ชิ้น ที่ประดับผนังห้องโถงไปรษณีย์นฤมิตทั้งสี่ด้านของอาคาร และอีก 1 ชิ้น ถูกค้นพบภายหลังจึงนำไปประดับที่โถงบันได เป็นผลงานที่ออกแบบโดยบิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยไทยอย่างศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผลงานที่ประดับในอาคารเหล่านี้ไม่เพียงแต่สะท้อนในเรื่องความสวยงามเท่านั้น แต่ยังบอกเล่าถึงยุคสมัยของกิจการไปรษณีย์โทรเลขตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน
4. จินตนาการไปกับอดีตกับภาพที่ยังมีชีวิต
ภาพเก่าที่จัดแสดงอยู่ภายในอาคารบริเวณชั้น 3 ที่ไม่มีเผยแพร่ที่ไหน ภาพทุกภาพต้องยังเสมือนมีชีวิต ซ่อนเรื่องราวสำคัญต่างๆ ไว้มากมาย เช่น ภาพแบบร่างอาคารที่ไม่ได้สร้าง ก่อนที่จะมาเป็นอาคารในรูปแบบปัจจุบัน ภาพการทำงานของไปรษณีย์ไทยและบุรุษไปรษณีย์ในอดีต อีกทั้งยังมีภาพที่ทำการไปรษณีย์ที่สำคัญที่เคยใช้อำนวยความสะดวกให้กับผู้คน ความรุ่งเรืองของกิจการที่ยังคงส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน
5. ครุฑยุดแตรงอน ศิลปะแห่งงานปั้น และความอัศจรรย์เหนือกาลเวลา
บนดาดฟ้าของอาคารคือที่ที่เราจะได้พบกับความอันซีนของรูปปั้นครุฑยุดแตรงอนขนาดใหญ่ 3 เท่าของคนจริง รูปปั้นนี้เคยเป็นสัญลักษณ์ของกรมไปรษณีย์โทรเลข มีลักษณะกายวิภาคด้วยท่ากางปีกที่ดูมีพละกำลัง กำยำ น่าเกรงขาม แตกต่างจากครุฑที่เห็นทั่วไป ที่ไม่ได้มีลวดลายอ่อนช้อย ใครเคยเก็บภาพกับองค์พญาครุฑจะทราบดีว่า ภาพที่ถ่ายออกมานั้นดูทันสมัยแบบศิลปะสมัยใหม่ ยิ่งถ่ายในช่วงเย็นภาพที่จะออกมาสวยงามเป็นพิเศษ
นอกจากความงามทางศิลปะยังมีความเชื่อกันว่าพญาครุฑ 2 องค์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์มาก มีเรื่องเล่าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าอาคารไปรษณีย์กลาง เป็นที่ที่ใกล้การทิ้งระเบิดโดยฝ่ายสัมพันธมิตรแต่กลับได้รับความปลอดภัย ซึ่งชาวบ้านร่ำลือว่าเห็นพญาครุฑ 2 องค์ที่อยู่หน้าตึกบินไปปัดลูกระเบิด
6. เหนือกว่าพื้นที่ส่งจดหมาย และศิลปะตามสไตล์ Beyond Logistics
ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากอาคารที่มีคุณค่าทางศิลปะให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ภายในนอกจากจะมีเคาน์เตอร์บริการแล้ว ฝั่งใต้ของอาคารยังเป็นที่ตั้งของศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ หรือ TCDC สำหรับคนที่กำลังมองหาแรงบันดาลใจในด้านงานอาร์ต การต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ และผลงานการดีไซน์เจ๋งๆ ของคนไทย มีโรงละครสุดคลาสสิคที่รองรับการจัดประชุม การแสดงแขนงต่างๆ ตลอดจนมีห้องโถง พื้นที่ส่วนกลาง ดาดฟ้าที่ทุกคนสามารถเอ็นจอยกับการถ่ายรูปได้แบบไม่รู้จบเลยทีเดียว
7. ไปรษณีย์กลางกับห้องแห่งความ (ไม่) ลับ
น้อยคนที่จะรู้ว่าที่ไปรษณีย์กลางก็มีพิกัดลับ มีสองจุดไฮไลท์ที่ควรค่าแก่การเข้าถึง ที่แรกคือห้องใต้ดิน อาคารชั้นล่างของตึกไปรษณีย์กลางที่เป็นชั้นต่ำกว่าระดับพื้นดิน มีพื้นที่กว้างใหญ่กว่า 1,500 ตารางเมตร นับเป็นห้องใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น ในอดีตเมื่อแรกสร้างใช้สำหรับเก็บสิ่งของและงานบางอย่าง ต่อมาใช้เป็นคลังเก็บตราไปรษณียากร และภายหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี 2485 ห้องใต้ดินก็ไม่ได้ใช้งานอีกต่อไป มาในปี 2555 เมื่อมีการปรับปรุงตึกไปรษณีย์กลางครั้งใหญ่ ได้ปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้สำหรับจัดนิทรรศการ และกิจกรรมต่างๆ
ส่วนอีกที่คือ ลิฟต์ดั้งเดิมออกแบบก่อสร้างมาพร้อมกับการก่อสร้างอาคารเมื่อปี 2478 ติดตั้งอยู่บริเวณเชิงบันไดชั้น 2 และชั้น 3 เป็นลิฟต์ที่สั่งเข้ามาจากเยอรมนี มีประตูชั้นนอกเป็นไม้ยืดแบบอาคารพาณิชย์รุ่นเก่า ส่วนตัวลิฟต์มีประตูบานเหล็กทึบแบบบานเลื่อนด้านบนภายนอก มีหน้าปัดครึ่งวงกลม แสดงการขึ้นลงของลิฟต์ ภายหลังการบูรณะอาคารไปรษณีย์กลางครั้งใหญ่เมื่อปี 2555 ได้ปิดใช้งาน แล้วไปติดตั้งลิฟต์ที่ปีกอาคารทั้งสองด้าน และได้อนุรักษ์ช่องปุ่มเรียกลิฟต์เดิมไว้เป็นประวัติศาสตร์
8. “ไปรษณีย์กลาง” รอยต่อร้านอร่อย
อีกเหตุผลที่ต้องไป ไปรษณีย์กลาง คือ ที่นี่เป็นพื้นที่ที่ใกล้ร้านอร่อยเป็นจำนวนมากรายรอบไม่ว่าจะเป็น ไอศกรีมฮงฮวด ของหวานสูตรโบราณที่ขายมานานกว่า 80 ปี เติบโตเคียงคู่มากับไปรษณีย์กลางบางรัก ชิมเมนูแกงเขียวหวานกินคู่กับโรตี ร้านฮาร์โมนิค หรือหากอยากจะจัดเครื่องดื่มอร่อยชื่นใจ ก็เพียงข้ามไปที่ฝั่งตรงข้ามกับร้านมาดิ และยังมีร้านอื่นๆ เช่น วัวทองโภชนาสำหรับคนรักเนื้อและอาหารสไตล์จีน ข้าวหมูแดงหมูกรอบบ้านบางรัก เป็นต้น
9. ไปรษณีย์กลางยามเย็น พื้นที่เที่ยวเล่น และบรรยากาศที่เป็นใจ
ช่วงเย็นบริเวณหน้าอาคารจะเปิดไฟประดับหลากสีสัน สาดส่องขึ้นบนอาคาร ให้ความสวยงามอีกอารมณ์ เป็นจุดเช็กอินยอดฮิตที่ใครต่อใครพากันมาแวะเวียนไม่ขาดสาย หรือหากใครอยากเห็นและเก็บบรรยากาศตอนเย็นให้ได้ยิ่งกว่าตัวอาคาร ที่นี่ยังมีริมน้ำซึ่งเป็นท่าเรือสำหรับใช้สัญจรจริงหลังอาคารบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ มองเห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยายามพลบค่ำ และบรรยากาศนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้ายามค่ำ
10. Grand Postal Building สมชื่อตำนานแห่งความแกรนด์ สู่ความแกรนด์ยิ่งกว่าในงาน POSTiverse
ที่แห่งนี้มีการจัดงานใหญ่ๆ แกรนด์ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นงานระดับโลก งานระดับชาติ หรืองานแฟชั่นโชว์ก็ผ่านการอวดโฉมสู่สายตาคนไทยมาแล้วทั้งสิ้น โดยเฉพาะในปลายปีนี้ที่จะมีการใช้ไปรษณีย์กลางจัดอีเว้นท์ใหญ่ระดับโลกอย่างการจัดงานแสดง ตราไปรษณียากรโลก 2566 และเปิดพื้นที่อวดโฉมความสร้างสรรค์ soft power และย่านเจริญกรุง รวมถึงการฉลองครบรอบ 140 ปีกิจการไปรษณีย์ไทยและส่งพลังความสุขให้กับคนไทย
เตรียมตัวพบกับไฮไลท์สำคัญที่ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “เจ้าฟ้านักสะสม” จำลองพิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรส่วนพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แสตมป์ที่แพงที่สุดในโลก และเอเชีย สิ่งสะสมสุดพิเศษจากนักออกแบบชื่อดัง และศิลปินกลุ่ม Art Toy มินิคอนเสิร์ตจากวงดนตรี New Gen และศิลปินรุ่นใหม่ รวมร้านเด็ดจากทุกตรอกซอกซอยสำหรับสายกิน อีกทั้งยังมีมุมถ่ายภาพทำคอนเทนต์สุดเก๋ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 พ.ย. ถึง 3 ธ.ค. 2566 สุข สร้างสรรค์ ตระการตาตลอดทั้ง 7 วันส่งท้ายปี