ถูกใจสายเที่ยว 3 ประเทศเดินทางแค่ใกล้ๆ นั่งเรือไป ตราด - สีหนุวิลล์ - ฟูก๊วก
เรียกว่าถูกใจสายเที่ยวกันเลยทีเดียว! กับการเดินทางที่ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงแต่ได้เดินทางถึงสามประเทศ กับเส้นทางเดินเรือไป กัมพูชา - เวียดนาม -ไทย ที่เชื่อมชายฝั่งทะเล ตราด - สีหนุวิลล์ - ฟูก๊วก เที่ยวฟินๆชมวิวทะเลแบบใจฟู
งานนี้ใครชอบเที่ยวยิ้มหวานรอได้เลย เพราะชีวิตจะสะดวกสบายขึ้น กับเส้นทางเดินเรือ ตราด - สีหนุวิลล์ - ฟูก๊วก ที่เชื่อมชายฝั่งทะเลบ้านเราอย่าง จังหวัดตราดและหมู่เกาะเชื่อมโยงเกาะช้าง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 20 (One Belt One Road) Southern Coastal Economic Corridor
โดยล่าสุดมีการประชุม CVTEC เพื่อรองรับนักเดินทาง เชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งทะเล 3 ประเทศ กัมพูชา เวียดนาม ไทย โดยเชื่อมผ่าน 3 จังหวัด ตราด - สีหนุวิลล์ - ฟูก๊วก ซึ่งทุกจังหวัดแต่ล้วนเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ มีแหล่งท่องเที่ยวสําคัญ สามารถเชื่อมโยงการเดินทางได้อย่างสะดวกทั้งทางรถและทางเรือ
มีจุดขายของสินค้าและบริการที่มีความแข็งแกร่งและเป็นอัตลักษณ์ นอกจากนี้ ยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มาตรฐานในการรองรับนักเดินทางคุณภาพสูง มีเครือข่ายภาคธุรกิจในพื้นที่ที่แข็งแกร่ง โดยทาง ทีเส็บ ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยพันธมิตรภาครัฐและเอกชนภายในจังหวัดตราด ร่วมเดินทางโดยเรือโดยสาร เพื่อประเดิมเส้นทางนำร่องสู่การเดินเรือ
โดยเชิญกลุ่มเป้าหมายกัมพูชาและเวียดนาม ร่วมทำกิจกรรมสร้างเครือข่ายและเจรจาจับคู่ทางธุรกิจกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวและไมซ์บนเกาะช้างและหมู่เกาะเชื่อมโยง เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เชื่อมโยงเครือข่ายการทำตลาดร่วมกันในรูปแบบ 1 Marketing 3 Destination รวมถึงเชิญผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานภาครัฐกัมพูชาและเวียดนาม เข้าร่วมประชุมนานาชาติ CVTEC ในการหารือขอตกลงร่วมในการเดินเรือเชื่อมโยงชายฝั่งทะเล 3 ประเทศ
การร่วมเดินทางในครั้งนี้มีการเดินเรือไปยัง 3 เกาะของจังหวัดตราด นับว่าเป็นการผลักดันการท่องเที่ยวของไทยไปอีกทาง เพราะตราด เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและเหมาะกับการเที่ยวทางทะเลมากที่สุด เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีเกาะสวยและน้ำทะเลใสตั้งอยู่มากมายบนทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก อย่าง เกาะช้างเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดตราดและใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยรองจากจังหวัดภูเก็ต ด้วยความสวยงามของท้องทะเลและธรรมชาติที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกมาเที่ยวแล้วที่นี่ยังมีชายหาดและอ่าวต่างๆ จำนวนมากให้เราได้เที่ยวกัน
เกาะกูดเป็นที่ใหญ่เป็นอันดับสองของจังหวัดตราด ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามของท้องทะเลที่มีหาดทรายขาวละเอียดนุ่มเท้า มีน้ำทะเลสวยใสดั่งคริสตัลจนได้รับฉายาว่าเป็น “อันดามันแห่งทะเลตะวันออก” อีกทั้งยังมีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีป่าชายเลนและแนวปะการัง
เกาะหมาก เป็นเกาะที่ตั้งอยู่ระหว่างเกาะช้างและเกาะกูด อีกทั้งยังเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของจังหวัดตราด และเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่อันดับ 4 ของประเทศไทย มีรีสอร์ทตั้งอยู่หลายแห่ง มีวิวพระอาทิตย์ตกสวยๆ ให้ได้ชม นอกจากนี้ใกล้ๆ กับเกาะหมากยังมีจุดดำน้ำเพื่อชมปะการังสวยงามอีกด้วย
นอกจากนี้ในเส้นทางการเดินเรือ ยังส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวทางน้ำ ยกระดับศักยภาพพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ภาคตะวันออกดันการท่องเที่ยวไปยังสองประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง เวียดนาม โดยเชื่อมไปยัง เกาะฟู้ก๊วก ที่ตั้งอยู่ในทะเลอ่าวไทย ฝั่งตะวันตกของประเทศ ในเขตจังหวัดเคียนเกียง (Kien Giang) ธรรมชาติท้องทะเลก็อุดมสมบูรณ์ น้ำทะเลเป็นสีฟ้าเทอร์ควอยซ์ใส มองเห็นพื้นทรายและแนวปะการังใต้ทะเลได้อย่างชัดเจน ที่พักเกาะฟู้ก๊วก มีให้นักท่องเที่ยวได้เลือกหลากหลายแบบ ตั้งแต่โรงแรม 5 ดาว ไปจนถึงเกสต์เฮ้าส์และโฮสเทล
จังหวัดพระสีหนุ เล็งเห็นโอกาสของการเดินเรือเพื่อการท่องเที่ยวคุณภาพสูงบนเส้นทางนี้มานานแล้ว และมีการหารือภายในร่วมกันมาโดยตลอด แต่ในเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงแล้ว การเดินทางต่างๆ ผู้คนมีความมั่นใจในความปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น อีกทั้งจังหวัดพระสีหนุ มีการเปิดกว้างรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น การประชุม CVTEC ในครั้ง นี้ จึงมั่นใจว่าจะนำไปสู่ความเห็นร่วมกันเพื่อเกิดการเดินเรือรอบปฐมฤกษ์ได้สำเร็จอย่างแน่นอนในเร็วๆนี้ แม้ธรรมชาติทางทะเลของกัมพูชาจะมีความเป็นธรรมชาติสูง แต่การบริหารจัดการสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะช้าง จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการจาก 2 ประเทศจะได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ร่วมกันได้เป็นอย่างดี
สรุปการหารือในประชุมระหว่าง 3 ประเทศ
1. เสนอให้มีการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงทางน้ำระหว่างท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ (Klong Yai Port) จังหวัดตราด กับท่าเรือสีหนุวิลล์ (Sihanoukville Port) จังหวัดพระสีหนุ/ท่าเรือดาราสาคร ในระยะแรกโดยให้มีการศึกษาความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในการอำนวยความสะดวกในการรองรับนักเดินทางเรือโดย หน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ประเทศกัมพูชา และประเทศเวียดนาม
1.1. มีการเตรียมวางโครงสร้างการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่เดินทางในการเข้ามาทางเรือ อาทิ กระบวนการตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร
1.2. ให้การสนับสนุนในการดูแลความสะดวกกับบริษัทเดินเรือที่มีความสนใจในการเข้าพัฒนาเส้นทางดังกล่าวดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกฎหมายการเดินเรือ และมีการกำหนดเส้นทางการเดินทางทางน้ำให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศ อาทิ การขออนุญาตการเดินเรือ เป็นต้น
1.3. ดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมการเดินทางทางน้ำ ตามข้อสรุปการประชุมของการจัดประชุมที่จังหวัดพระสีหนุ ในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2567
2. กำหนดการทดสอบ (Trail Run) การเดินเรือเชื่อมโยงจังหวัดตราดและจังหวัดพระสีหนุจากการขับเคลื่อนจากแนวคิด (Concept) ไปสู่การปฏิบัติจริง (Pilot & Implementation) โดยการทดสอบการเดินทางของบริษัทเดินเรือในการพัฒนาเส้นทางดังกล่าว เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคและแนวทางในการแก้ไขเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเส้นทางดังกล่าว โดย
2.1. กำหนดให้มีการหารือร่วมกันในการทดสอบการเดินเรือในช่วงระหว่างฤดูการท่องเที่ยวโดยเริ่มต้นจากประเทศไทยกับประเทศกัมพูชาในช่วงระหว่างเดือน ตุลาคม ถึง มกราคม ในปลายปีนี้ พ.ศ. 2567 และปีถัดไป พ.ศ. 2568 โดยประเทศกัมพูชารับข้อเสนอเพื่อนำไปพิจารณาภายในก่อน
3. มีการจัดตั้งคณะทำงานของภาคเอกชนและผู้ประกอบการเดินเรือ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ระหว่าง 3 ประเทศ (ประเทศไทย ประเทศกัมพูชา และประเทศเวียดนาม) ในการศึกษาแนวทางในการพัฒนาเส้นทางการเดินเรือระหว่าง ท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จังหวัดตราด กับท่าเรือสีหนุวิลล์ จังหวัดพระสีหนุ และไปยังประเทศเวียดนามในอนาคต และการพัฒนากิจกรรมทางการตลาดร่วมกัน (Marketing Package Exchange) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเส้นทางให้เกิดเป็นรูปธรรม
4. หน่วยงานภาครัฐของทั้ง 3 ประเทศโดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีการตกลงที่จะทำบันทึกข้อตกลง MOU ร่วมกัน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุน และดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อสนับสนุนการพัฒนากิจกรรมทางการตลาดร่วมกันเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเส้นทางให้เกิดเป็นรูปธรรม
5. มีความเห็นชอบการร่วมกันระหว่าง 3 ประเทศในการจัดทำแผนพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวทางน้ำระยะยาว (CVTEC Marine Tourism Masterplan) เพื่อกำหนดกิจกรรมและโครงการในการสนับสนุนการพัฒนาเส้นทางดังกล่าวในอนาคต นอกเหนือจากการดำเนินการทดสอบระยะสั้น
6. กำหนดให้มีข้อตกลงในการเวียนการเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม CVTEC เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน
โดยมีข้อเสนอให้ทางประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม CVTEC Conference 2025
ที่เกาะฟูก๊วก (Phu Quoc)