ไปดูให้เห็นกับตา ปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้นตรง 15 ช่องประตู ณ ปราสาทพนมรุ้ง
ชวนไปชมให้เห็นกับตา กับปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้นตรง 15 ช่องประตู "มหัศจรรย์พนมรุ้ง" ในระหว่างวันที่ 8 - 10 กันยายน 2567 ณ ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เช็กรายละเอียดได้ที่นี่
ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หาชมได้ยาก 1 ปี จะมีให้ชมเพียง 4 ครั้งเท่านั้น ในทุกๆ ปี ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ จะมีปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ลอดช่องผ่านประตูทั้ง 15 ช่อง เป็นแนวเดียวกัน 4 ครั้งเท่านั้น คือ พระอาทิตย์ขึ้นลอดช่องประตู 2 ครั้ง ในช่วงวันที่ 3-5 เมษายน และวันที่ 8 -10 กันยายน พระอาทิตย์ตกลอดช่องประตู 2 ครั้ง ในช่วงวันที่ วันที่ 5-7 มีนาคม และวันที่ 5-7 ตุลาคม ของทุกปี
โดยปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้นตรง 15 ช่องประตู ณ ปราสาทพนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ วันที่ 8 - 10 กันยายน 2567 เวลา 05.30 น. เป็นต้นไป บริเวณลานด้านหน้าโคปุระ ทิศตะวันตก ปราสาทพนมรุ้ง (นำรถเข้าลานจอด ประตู 3 ได้)
นับเป็นปรากฏการณ์ที่มหัศจรรย์ โดยปราสาทพนมรุ้งเป็นเทวสถานในศิลปกรรมขอมแห่งเดียวในโลกที่มีสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ที่เป็นการผสมผสานภูมิปัญญาด้านสถาปัตยกรรม ที่มีการก่อสร้างปราสาท ที่ให้แสงอาทิตย์ส่องตรง 15 ช่องประตู ผ่านศิวะลึงค์ ที่เปรียบเสมือนองค์พระศิวะ ซึ่งตั้งอยู่ภายในปรางค์ประธานของปราสาทพนมรุ้ง ที่เปรียบเสมือนเขาไกรลาส บนสรวงสวรรค์ นอกจากประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกลอดผ่านตรง 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้งแล้ว ยังจะได้เที่ยวชมความงดงามและความมหัศจรรย์ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานที่สำคัญอื่นๆ อีกหลายแห่งในจังหวัดอีกด้วย
สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 4466 6251
หรือ Inbox facebook : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์ Phanom Rung Historical Park
สำหรับบัตรเข้าชมปราสาทพนมรุ้ง คนไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เข้าชมฟรี โปรดแต่งกายสุภาพให้เกียรติศาสนสถาน สำหรับสุภาพสตรีขอความมืองดใส่กางเกงขาสั้น กระโปรงสั้น สถานที่จอดรถ ลานด้านหลังปราสาท รองรับเฉพาะรถ 4 ล้อ ประมาณ 40 คัน มีค่าธรรมเนียม 50 บาท และลานจอดรถประตู 1 รองรับรถทุกชนิด ประมาณ 200 คัน จอดฟรีไม่มีค่าธรรมเนียม หากจอดรถที่ลานจอดประตู 1 ควรมีไฟฉายสำหรับส่องสว่าง เนื่องจากหลังฟ้ามืด
หมายเหตุ : ปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้นตรง 15 ช่องประตู เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละวัน หากมีฝนตก หมอก เมฆเยอะ หรือเมฆลงต่ำ จะไม่สามารถมองเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวได้