พิธีแห่หลวงพ่อหิน ข้ามเขื่อนเจ้าพระยา คอหวยส่อง เลขธูป ตรงรหัสจังหวัดเป๊ะ
คอหวยฮือฮา พิธี แห่หลวงพ่อหิน (จำลอง) ข้ามเขื่อนเจ้าพระยา ไม่พลาดส่องเลขทะเบียนรถ และเลขธูปบวงสรวง อึ้ง ตรงรหัสจังหวัดเป๊ะ
15 ต.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระครูโกศลภาวนานุสิฐ เจ้าคณะตำบลบางหลวง เจ้าอาวาสวัดกรุณา(ดอนเสือ) อ.สสรรพยา จ.ชัยนาท พร้อมด้วยคณะศิษยานุศิษย์ ร่วมประกอบพิธีบวงสรวงอธิษฐานจิต พระพุทธมหาศิลา(หลวงพ่อหิน) และหลวงปู่นาค โกวิโท "เทพเจ้าแห่งเขื่อนเจ้าพระยา" ณ อุโบสถวัดกรุณา(เขื่อนเจ้าพระยา) จังหวัดชัยนาท พร้อมพระเถราจารย์ หลวงปู่ฤษีตาไฟ วัดเทพหิรัณย์ พระอาจารย์ดิเรก วัดหนองทราย หลวงพ่อเกาะ วัดท่าสมอ หลวงพ่อนงค์ วัดสว่างวงษ์คณะกิจหลวงพ่อวิชัย วัดหัวเด่น นั่งอธิษฐานจิตฯ เพื่อทำการแห่อัญเชิญพระพุทธมหาศิลา หลวงพ่อหินกลับวัดกรุณา(วัดดอนเสือ) ใช้เส้นทางผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ไปยังวัด ระยะทางกว่า 5 กม.
หลังเสร็จพิธีเหล่าบรรดา ลูกศิษย์ลูกหา ประชาชนและคอหวย ต่างไม่พลาดที่จะหาเลขเด็ดไปหาซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลในงวด 16 ต.ค. 2567 นี้ ได้เลขธูปพารวยเลข 560 หากกลับไปกลับมา จะได้เลขตรงกับรหัสจังหวัดชัยนาท 056 พอดิบพอดี ส่วนอีกเลขคือเลขทะเบียนรถที่ใช้แห่หลวงพ่อหินคือเลขทะเบียน บจ 7357 สิงห์บุรี
ด้านพระครูโกศลภาวนานุสิฐ เจ้าคณะตำบลบางหลวง เจ้าอาวาสวัดกรุณา(ดอนเสือ) เปิดเผยว่า สาเหตุที่ชื่อหลวงพ่อหิน เพราะองค์หลวงพ่อทำจากหินสลักศิลาขาว ได้ทำการบูรณะและตั้งประดิษฐานไว้ที่โบสถ์ ต่อมามีโครงการสร้างเขื่อนเจ้าพระยาเมื่อปี 2495 เป็นต้นมา ด้วยพื้นที่ของวัดส่วนใหญ่คาบเกี่ยวกับพื้นที่ก่อสร้างจึงจำเป็นต้องย้ายวัดตั้งยังที่ปัจจุบัน มีพื้นที่ 90 ไร่ 2 งาน 37 ตารางวา โดยมีหลวงปู่นาคเป็นเจ้าอาวาสวัดมาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และได้ดำเนินการปฏิสังขรณ์ บูรณะสร้างวัด จนมีกุฏิวิหารลาดเจดีย์ต่างๆ และพัฒนาชุมชนควบคู่ไปกับวัดด้วย
ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสมาตั้งแต่ประมาณปี 2497 จนถึง 2561 ท่านมรณะภาพ อายุ 94 ปี กรรมการวัดและศิษยานุศิษย์ตั้งบำเพ็ญกุศลจนถึงปัจจุบันยังไม่ได้สลายร่างท่าน ถือได้ว่าหลวงปู่นาคเป็นพระที่ได้ร่วมนำพาชาวบ้านในการพัฒนาชุมชนพัฒนาวัด ท้องถิ่นให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นกำลังหลักในส่วนของต้นบุญต้นแบบศรัทธาของชาวบ้าน จึงมีดำริร่วมกับคณะกรรมการวัดและชาวบ้าน ในการหล่อองค์จำลองหลวงพ่อหิน และหลวงปู่นาค ขึ้นเนื่องในโอกาสครบ 100 ปี วันเกิดของหลวงปู่นาค เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 จึงสร้างวัตถุมงคลในวาระโอกาสสำคัญนี้
โดยสร้างองค์หลวงพ่อหินจำลองหน้าตัก 40 นิ้ว รูปลักษณ์ตามองค์จริง ย่อส่วนลงเล็กน้อย พร้อมกันนี้ได้สร้างรูปหล่อองค์จำลองหลวงปู่นาค ขนาดเท่าองค์จริง หน้าตัก 30 นิ้ว ได้กำหนดทำพิธีบวงสรวง อธิษฐานจิตและอัญเชิญหลวงพ่อมาประดิษฐานที่วัดกรุณา(ดอนเสือ) เพื่อใช้ประกอบศาสนพิธีกรรมตามความเชื่อศรัทธาของชาวบ้านสืบต่อไป
สำหรับ ประวัติหลวงพ่อหิน ได้มีการบันทึกไว้ ระบุว่า “หลวงพ่อหิน” เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดแฝกซึ่งเป็นวัดร้างอยู่ใต้ตลาดท้ายเมือง ตำบลชัยนาท อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ตั้งอยู่เหนือตัวเขื่อนเจ้าพระยา ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นที่2 ทำจากหลักศิลาทรายขนาดความกว้างหน้าตัก 97 นิ้วความสูงวัดจากหน้าตัก 125 นิ้ว ตัวองค์เป็นสีดำมีความงดงามถูกต้องตามพุทธลักษณะ เมื่อปี พ.ศ. 2479
พระอธิการเล็ก บุญเย็นเจ้าอาวาสวัดท่าควาย ปัจจุบันคือวัดกรุณา ได้สร้างพระอุโบสถขึ้นและได้อัญเชิญหลวงพ่อหินมาเป็นพระประธาน แต่ไม่สามารถอัญเชิญมาได้เนื่องจากเกิดอาเพศฝนตกหนักหลวงพ่อหินได้มาเข้าฝันพระอธิการเล็ก บุญเย็น ให้ไปอัญเชิญท่านอีกครั้งในวันรุ่งขึ้นแต่จะมีเหตุให้สายพรวนที่ใช้ลากจูงล้อเลื่อนขาด 1 ครั้งก็ขออย่าให้ตกใจให้ต่อต่อสายพรวนแล้วลากจูงใหม่ก็จะอัญเชิญมาได้
ต่อมากรมชลประทานมาสร้างเขื่อนกั้นน้ำตรงบริเวณบ้านท้องคุ้งอันเป็นที่ตั้งของวัดกรุณา ซึ่งหลวงพ่อหินประดิษฐานอยู่ ทางราชการจึงออกพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินให้กรมชลประทาน อธิบดีกรมชลประธานในสมัยนั้นคือ หม่อมหลวง ชูชาติ กำภู ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการศาสนาว่าจะให้ย้ายกุฎิ หอสวดมนต์ และศาลาการเปรียญออกไป ส่วนพระอุโบสถกรมชลประทานขอบำรุงรักษาไว้เป็นโบราณสถาน อธิบดีกรมการศาสนาได้ ขออนุโมทนาและฝากพระอุโบสถไว้ในความอุปถัมภ์ของกรมชลประทานต่อไป
อภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อหิน เป็นที่เรื่องลือและในปี พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 ได้เสด็จมานมัสการและทรงตรัสชมว่าหลวงพ่อหินสวยงามมาก และถูกพุทธลักษณะ อภินิหารของท่านที่เห็นชัดก็คือเรื่องฝนเรื่องบนบานศาลกล่าวถ้าใครมีความทุกข์ร้อนมาบนท่าน จะช่วยได้เสมอ ถ้าจะบนบานให้ได้ผลสำเร็จดีจะต้องบนในวันศุกร์ก่อนเที่ยงใช้ธูป 21 ดอกปักไว้นอกลูกนิมิต หรือนอกชายคาบ้าน ถ้าจะบนเรื่องใหญ่ต้องใช้หัวหมูบายศรีปากชาม