7ปีตากใบ:ยุติธรรมที่หล่นหายและถูกเมิน
7 ปี 'ตากใบ' ยุติธรรมที่หล่นหายและถูกเมิน หวังให้ความยุติธรรมที่แท้จริง บังเกิดต่อโศกนาฏกรรมนี้
“และพวกเจ้าจงอย่าท้อแท้และจงอย่าเสียใจ และพวกเจ้านั้นคือผู้ที่สูงส่งยิ่ง หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา” จากซูเราะห์ อาละอิมรอน (3:135) ข้อความแห่งกำลังใจนี้คือที่มาของการทำบุญ (อัรเวาะห์) ครบรอบ 7 ปีให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ...
เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ซึ่งในวันนั้นตรงกับวันที่ 11 ของเดือนรอมฏอน ฮ.ศ. (ฮิจเราะห์ศักราช) 1425 และปีนี้ตรงกับวันที่ 11 ส.ค.2554 (วันที่ 11 เดือนรอมฏอน ฮ.ศ.1432)
การชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จำนวน 6 คนที่ถูกจับกุมดำเนินคดีเนื่องจากยักยอกปืนของทางราชการ แต่แจ้งความเท็จว่าถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบชิงไป (ช่วงนั้นเกิดเหตุคนร้ายชิงปืนจาก ชรบ. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านบ่อยครั้ง จนทางราชการต้องคาดโทษ) ซึ่งชาวบ้านจำนวนหนึ่งไม่เชื่อว่า ชรบ.ทั้ง 6 คนเป็นผู้ยักยอกปืน
การรวมตัวของผู้ชุมนุมหลายพันคนเริ่มบานปลายและคุมไม่อยู่ จนเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ต้องตัดสินใจใช้กำลังสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 7 ราย (5 รายมีบาดแผลถูกยิงบริเวณศีรษะ) ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 14 นาย แต่การเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมากเกิดขึ้นระหว่างการขนย้ายผู้ถูกจับกุมจากหน้า สภ.ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้วิธีให้ถอดเสื้อและมัดมือไพล่หลัง จับขึ้นไปเรียงซ้อนทับกันบนรถยีเอ็มซีของทหาร ทำให้ผู้ชุมนุมซึ่งอ่อนเพลียอยู่แล้วจากการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนต้องขาดอากาศหายใจ และเสียชีวิตถึง 78 ราย
เหตุการณ์ร้ายที่มีผู้เสียชีวิตในคราวเดียวกันมากถึง 85 คน และกระบวนการยุติธรรมทางอาญาก็มิอาจพิสูจน์ความผิดได้ว่าเกิดจากใครและด้วยเหตุผลใด ทำให้กรณีตากใบกลายเป็นแผลในใจของพี่น้องมุสลิมจำนวนมากในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
บ่ายแก่ๆ ของวันพฤหัสบดีที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา (ซึ่งตรงกับวันที่ 11 เดือนรอมฎอน) ชาวบ้านจาเราะ ต.ไพรวัน อ.ตากใบ ได้ร่วมแรงร่วมใจกันปรุงอาหารสำหรับทำบุญและละศีลอดในเวลาที่พระอาทิตย์หยุดทอแสงแห่งวัน ด้วยความมุ่งมั่นรำลึกถึงเพื่อนพ้องน้องพี่ ลูกชาย และสามีที่สูญเสียไปในเหตุการณ์ตากใบเมื่อ 7 ปีแล้ว ซึ่งยังเป็น 7 ปีแห่งฝันร้ายที่ยังคงตามหลอกหลอนพวกเขาในชีวิตจริงจนถึงทุกวันนี้
งานนี้มีแม่งานหลักคือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบและสูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบบ้านจาเราะ ร่วมกับเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และมีอีกหลายองค์กรเอกชนเข้าร่วมงาน ทั้งเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิต และให้กำลังใจกับผู้ที่อยู่ข้างหลัง บรรยากาศเป็นไปอย่างอบอุ่นและเปี่ยมด้วยมิตรภาพ
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ที่ขาดไม่ได้คือ นารี เจริญผลพิริยะ นักสันติวิธีแห่งศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเข้ามาประสานงานช่วยเหลือครอบครัวผู้สูญเสียและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบตั้งแต่หลังเกิดเหตุใหม่ๆ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
นารี บอกว่า การมารวมตัวกันของทุกคนเพื่อละศีลอดในเดือนรอมฎอน ต้องการให้เห็นความสำคัญของความอดอยาก (เพราะเป็นเดือนแห่งการถือศีลอด) รู้ค่าของชีวิต และรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งยังมีคนข้างหลังที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย
“เรามาเพื่อบอกว่าทุกชีวิตไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ต้องทำให้เห็นว่าเรื่องเช่นนี้ต้องไม่เกิดขึ้นอีกไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ไหน ถ้าเราตระหนักถึงความสำคัญของชีวิต ก็ต้องไม่ละเมิดต่อชีวิตของผู้อื่นเช่นกัน ถ้าหากเราก้าวไปสู่หลุมพรางแบบนั้น เราก็จะมีชีวิตไม่แตกต่างจากคนที่ละเมิด”
อย่างไรก็ดี นารี บอกว่า ความเป็นธรรมจะต้องเป็นสิ่งที่ได้รับการดำรงไว้ ชาวบ้านต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาก แต่การต่อสู้สามารถทำได้โดยสันติวิธี และกระบวนการยุติธรรมคือหนึ่งในสันติวิธีที่ว่านั้น
“เราไม่อยากให้ถอดใจเรื่องการฟ้องอาญา เราอยู่ในประเทศที่มีกฎหมาย จึงสามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้ ต้องยืนยันที่จะทำ เรามีสิทธิที่จะทำเพื่อลูกหลานของเราทุกคน” นารี บอก
ขณะที่ อับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ จากสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) ซึ่งช่วยเรื่องการประสานงานด้านคดีและการเดินทางไปศาลของผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีตากใบมาตลอด กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตาย (เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2552) ว่าผู้ตายทั้ง 78 คน (จากการขนย้าย) ขาดอากาศหายใจ ทุกคนที่ต่อสู้ต่างรู้สึกหดหู่ ท้อใจ แต่ว่าต้องสู้ต่อ
“เราคุยกันเป็นปีว่าต้องมีการฟ้อง เรื่องนี้เป็นวิกฤติที่ทำให้เรามารู้จัก สร้างสัมพันธ์ และเรียนรู้กัน เป็นการปลุกจากการหลับใหลให้ตื่นขึ้น มีผู้หญิงลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความยุติธรรมอย่างน่าสรรเสริญ เกิดพลังและกำลังใจ คนที่ถูกกดขี่ อัลเลาะฮ์จะทรงรับดุอา (การขอสิ่งต่างๆ)”
ขณะที่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถคลี่คลายกรณีตากใบได้ ถ้าเรื่องนี้ยังไม่นำไปสู่กระบวนการทำให้ความจริงปรากฏ และเป็นความจริงที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ก็จะยังคงเป็นเงื่อนไขในพื้นที่ต่อไป
“เหตุการณ์ผ่านมา 7 ปีแล้ว แต่ความรู้สึกของผู้ได้รับผลกระทบยังคงอยู่ อยากให้เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของกระบวนการสันติภาพ และเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญไม่แพ้เรื่องที่เกิดขึ้นกลางกรุงเทพฯ ไม่ควรปล่อยให้ภาระและการค้นหาความเป็นธรรมตกอยู่กับคนเฉพาะกลุ่ม การช่วยเหลือของทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญ ต้องทำให้ความยุติธรรมมีอยู่จริงและสัมผัสได้จริง” พรเพ็ญ กล่าว
การพูดคุยเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์จบลงเมื่อใกล้เวลาละศีลอด อาหารถูกวางเรียงบนโต๊ะและเสื่อเพื่อรอเสียงอะซานบอกเวลาละศีลอด ชาวบ้านจาเราะและผู้แทนจากหลายองค์กรภาคประชาสังคมทยอยเข้าไปรวมตัวกันในเตนท์และนั่งบนเสื่อที่เตรียมไว้ เมื่อเสียงอะซานดังขึ้น ทุกคนกล่าวละศีลอด และหยิบอินทผลัมแตะลิ้นเป็นอันดับแรก ตามด้วยน้ำและอาหารอื่นๆ
เป็นที่ทราบกันดีว่า ใครที่ได้ทำบุญหรือให้ทานแก่ผู้ถือศีลอดโดยการเลี้ยงละศีลอดในเดือนรอมฎอน จะได้รับการตอบแทนผลบุญจำนวนมหาศาลจากอัลเลาะฮ์
อัรเวาะห์ครบรอบ 7 ปีตากใบจบลงแล้ว...รอมฎอนปีหน้าจะยังมีงานรำลึกเช่นนี้อยู่อีกหรือไม่ เรื่องราวความอยุติธรรมจะได้รับการเยียวยาอย่างจริงใจหรือยัง เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องตามติดกันต่อไป
หวังให้ความยุติธรรมที่แท้จริงบังเกิดต่อโศกนาฏกรรมนี้ด้วยเถิด...
...........
คดีความต่างๆ จากกรณีตากใบ
1.พนักงานอัยการถอนฟ้องผู้ชุมนุม 59 คน (ต่อมาเสียชีวิต 1 คน) เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2549 โดยให้เหตุผลต่อสาธารณะว่า “...การยุติข้อพิพาทในคดีนี้จะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การฟ้องคดีและการดำเนินคดีนี้ต่อไปจึงไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะและอาจกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ รวมทั้งผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ”
2.คดีแพ่งที่ญาติผู้เสียชีวิต ตลอดจนผู้บาดเจ็บและทุพพลภาพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐเพื่อเรียกค่าเสียหายในกรณีเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากการขนย้ายผู้ถูกจับกุมในเหตุการณ์ตากใบ มีจำนวน 7 สำนวน ระหว่างปี 2548-2549 ต่อมาได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความ โดยทั้งสองฝ่ายตกลงยอมรับค่าเสียหายทางแพ่ง
3.สำนวนคดีที่มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จำนวน 7 คน เจ้าหน้าที่ไม่สามารถสืบทราบได้ว่าใครเป็นผู้ทำให้เสียชีวิต เนื่องจากอยู่ในช่วงเหตุการณ์ชุลมุนระหว่างการชุมนุม จึงไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิตขึ้น พนักงานอัยการจึงมีคำสั่งให้งดการสอบสวน
4.สำนวนคดีที่มีผู้เสียชีวิต 78 คนจากการขนย้ายผู้ถูกจับกุมนับพันคนไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งไต่สวนการตาย เนื่องจากเป็นกรณีการเสียชีวิตโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ หรือเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2552 ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตายว่า สาเหตุการเสียชีวิตของผู้เสียชีวิตทั้ง 78 ศพ เป็นเพราะขาดอากาศหายใจ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้ใดทำให้ตาย และการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่
ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนส่งอัยการ โดยอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต และผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นพ้องกับอัยการ คือสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด
.............
(หมายเหตุ : ที่มา : เรื่อง/ภาพ : สำนักข่าวอิศรา