
เชลล์ และ เชน
เชลล์ และ เชน : ขมน้ำตาลหวานบอระเพ็ด โดย...พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ
เชลล์เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ โดยระยะแรกชื่อเสียงของเชลล์เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้จำหน่ายน้ำมันก๊าดบรรจุปี๊บ ด้วยว่ายุคนั้นประเทศไทยยังมีพื้นที่ให้บริการไฟฟ้าไม่มากนัก แม้กระทั่งบริเวณชานเมืองหลวงหลายแห่งก็ยังไม่สามารถหาไฟฟ้ามาใช้เพื่อความสะดวกได้ น้ำมันก๊าดจึงเป็นแหล่งให้พลังงานสำคัญของผู้คน
หลัง พ.ศ.2500 เป็นต้นมา เมื่อประเทศไทยมีประชากรรถยนต์เพิ่มมากขึ้น บริษัทน้ำมันทั้งของไทยและต่างชาติ ต่างขยายสถานีบริการออกไป เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รูปแบบสถานีบริการหรือปั๊มน้ำมันในระยะแรกยังอยู่ในรูปแบบของต่างคนต่างสร้าง แต่เมื่อการแข่งขันเริ่มดุเดือดมากขึ้น บริษัทแม่จึงเป็นผู้กำหนดให้เจ้าของสถานีบริการต้องสร้างสถานีตามแปลนที่เป็นมาตรฐานเดียวกันตามขนาดของพื้นที่
ยุคนั้น เชลล์ถือว่าเป็นผู้นำในด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นอย่างแท้จริง ชื่อของเชลล์ เอ็กซ์ ร้อย มัลติเกรด เป็นชื่อที่ทำให้คนรุ่นผมที่สนใจใคร่รู้เรื่องเครื่องยนต์กลไก เริ่มรับรู้ว่าน้ำมันเครื่องที่มีเบอร์หรือตัวเลขเป็นตัวกำหนดค่าความหนืดนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องมีค่าความหนืดเดี่ยวหรือเบอร์เดียว เช่น SAE 40, SAE 50 อีกต่อไป
แต่สามารถปรุงแต่งให้มีค่าความหนืดเหมาะสมตามอุณหภูมิของเครื่องยนต์ได้ ด้วยการใช้ค่าความหนืดผสมผสานหรือที่เรียกกันว่าเกรดรวมในปัจจุบัน นั่นคือชื่อที่เชลล์เรียกขานในตลาดว่าน้ำมันแบบมัลติเกรด รวบเข้าไปกับชื่อรุ่นน้ำมัน X 100 ของตนเอง จนกลายเป็นคำเรียกติดปากว่า เชลล์ เอ็กซ์ ร้อย มัลติเกรด
ปั๊มน้ำมันรูปทรงทันสมัยสไตล์ยุโรป ที่มีปล่องควันเตาผิงบนหลังคาของเชลล์ กลายเป็นอาคารปั๊มน้ำมันที่ทำให้คนที่พบเห็นเกิดความรับรู้ถึงความทันสมัยไฮเทคโนโลยีมากที่สุดในยุคนั้นเช่นกัน และสำหรับร้านสะดวกซื้อซึ่งในปัจจุบันนี้ ถือเป็นแหล่งสร้างรายได้โดยตรงและโดยอ้อมให้แก่ปั๊มน้ำมันนั้น
เชลล์เป็นผู้จำหน่ายน้ำมันรายแรก ที่นำธุรกิจร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมันเข้ามาให้บริการในประเทศไทย โดยปั๊มแรกที่เปิดขึ้นตั้งอยู่ริมถนนวิภาวดีรังสิตขาออก บริเวณที่เป็นร้านอาหารเพลินในปัจจุบันนี้นั่นเอง ปีแรกที่เปิดให้บริการน่าจะอยู่ราว พ.ศ.2519 หรือระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้น
นอกจากน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นภายใต้ยี่ห้อเชลล์แล้ว ยุคที่เกมการแข่งขันในตลาดรถมอเตอร์ไซค์กำลังรุนแรงถึงขั้นรบประชิดติดพัน เชลล์ก็มีน้ำมันหล่อลื่นตรามอลล่า ออกรบกับบรรดาคู่ต่อสู้นอกปั๊ม ในลักษณะของการสร้างให้มอลล่าเป็นไฟท์ติ้งแบรนด์ และได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่งอีกด้วย
ยุคที่ประเทศไทยต้องการเปลี่ยนถ่ายการใช้ถ่านไม้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้ม ให้หันมาใช้แก๊สหุงต้ม (LPG) กันมากขึ้น ซึ่งเกิดมาพร้อมกับการที่ประชาชนคนไทยในกรุงเทพฯ เริ่มรู้จักที่อยู่อาศัยแบบรังนกกระจอกที่เรียกว่า แฟลตดินแดง เชลล์ก็รุกตลาดแก๊สหุงต้มอย่างหนักหน่วง และเป็นผู้ให้การสนับสนุนคอลัมน์ตระเวนชิมร้านอาหาร ซึ่งมี ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ เป็นผู้รับผิดชอบคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ จนเกิดเชลล์ ชวนชิม ที่ได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลายมาจนทุกวันนี้
แม้ว่าปัจจุบันนี้ด้วยเหตุผลหลักของบริษัทแม่ในต่างประเทศ ทำให้เชลล์แก๊สเลิกราไปนานแล้ว และชื่อของ “เชลล์ ชวนชิม” ก็มิได้อยู่เป็นสมบัติของเชลล์อีกต่อไป แต่ชื่อที่สะกดด้วยตัวอักษรเชลล์ ในเชลล์ ชวนชิมก็ยังคงอยู่ด้วยเหตุผลพิเศษจนทุกวันนี้ ในขณะที่สินค้าอื่นๆ ที่เคยทำรายได้ให้แก่เชลล์ เช่น เคมีกำจัดปลวกและแมลง เชลล์ไดรท์ เมื่อถูกปลดออกจากความรับผิดชอบของบริษัทเชลล์ ผู้ที่ดำเนินการธุรกิจต่อไปก็หันไปใช้ชื่อเชนไดรท์
เชลล์ ในประเทศไทยทุกวันนี้แม้จะไม่ใช่หมายเลขหนึ่งของการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เชลล์ คือผู้สร้างปรากฏการณ์ อันเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากมายให้เกิดขึ้นในประเทศไทย