ข่าว

'ศปช.'จี้'ปู'เร่งกระบวนการยุติธรรมช่วยแดง

'ศปช.'จี้'ปู'เร่งกระบวนการยุติธรรมช่วยแดง

18 ส.ค. 2554

"ศปช." จี้ รัฐบาล"ยิ่งลักษณ์" เร่งกระตุ้นกระบวนการยุติธรรมช่วยคนเสื้อแดง ถูกขังลืมอีก 86ราย เตือนสติรัฐบาลและส.ส.เพื่อไทย รีบเยียวยา ทวงบุญคุณชนะเลือกตั้งได้อย่าลืมที่ยอมเสียสละชีวิตแลกให้

          18 ส.ค.54 นางกฤตยา อาชวนิจกุล นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดล และนางพวงทอง ภวัครพันธ์ นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะคณะกรรมการที่ปรึกษาศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค.53(ศปช.)ที่ได้รับผลกระทบมาร่วมแถลง

          โดยนางพวงทอง กล่าวสรุปว่า ข้อมูลผู้ต้องขังระหว่างเหตุการณ์ความรุนแรงเดือนมีนาคม- พ.ค. 53 และภาพรวมผู้ต้องขังการเมืองทั้งหมดจับกุมหลังรัฐประหาร 2549 มีข้อมูลนำเสนอว่า ทำไมจึงเรียกร้องให้ปล่อยผู้ถูกคุมขังเหล่านี้ ซึ่งคดีทั้งหมดจะนำเสนอเป็นข้อมูลรายละเอียดให้เสนอกับทุกองค์กรเพื่อนำไปสู่การเรียกร้องต่อรัฐบาลชุดนี้ ให้ช่วยเยียวยาโดยเหมาะสม

          นางพวงทอง กล่าวยกข้อมูลคณะกรรมการที่ปรึกษาศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค.53(ศปช.)พบว่า ผู้ต้องหาถูกจับกุมโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ มีกว่า 700 คน ขณะนี้มีผู้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจำนวน 86 คน  เรือนจำทั้งหมด 15 แห่งทั้งในกรุงเทพ และปริมณฑลส่วนใหญ่อยู่ในเรือนจำภาคอีสาน เป็นผู้ชายทั้งหมด 78 คน และผู้หญิง 7 คนมีชาวกัมพูชารวมอยู่ดัวย 1 ราย  บุคคลเหล่านี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และนปช.ต้องช่วยเหลือต่อไป

          ทั้งนี้ ตัวเลขและข้อมูลที่ ศปช.นำเสนอในครั้งนี้ เป็นข้อมูลอัพเดทล่าสุด ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2554 หรือ 2 วันก่อนแถลงข่าว โดยนอกเหนือการนำเสนอข้อมูลผู้ต้องขังเสื้อแดงแล้ว ก็ได้นำเสนอภาพรวมของผู้ต้องขังการเมืองทั่วประเทศนับแต่การรัฐประหารปี 2549 ซึ่งรวมถึงผู้ที่ถูกคุมขังด้วยข้อหาละเมิดมาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้รวบรวมไว้ทั้งหมดเพื่อเป็นข้อเรียกร้องเสนอต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อเป็นมาตรการฟื้นฟูความยุติธรรมและเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็ว

          “ ศปช.ขอนำเสนอภาพรวมของปัญหาในกระบวนการยุติธรรมนับแต่เหตุการณ์สลายการชุมนุมเกี่ยวข้องกับตำรวจ และผู้พิพากษา ปัญหาในเรื่องการจับกุมคุมขัง มีการยัดข้อหาให้กับคนที่กำลังไปรวมชุมนุม หรือเข้าร่วมชุมนุมถือเป็นการละเมิดกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แค่ประชาชนเดินผ่านหน้าด่านตรวจ เพียงพบบัตรของนปช.มีหนังสติ๊ก ลูกแก้ว หมวกคุมหน้า ถูกจับไปด้วย

          นอกจากนี้ยังมีของกลางที่ไม่ได้พบในที่เกิดเหตุ แต่ตำรวจมาวางไว้หน้าผู้ต้องหาให้ทำข่าวว่า เป็นของกลาง หรือผู้ต้องขังในมุกดาหาร อุดรธานี ถูกซ้อมให้ยอมรับข้อหา กรณีเผาศาลกลางในต่างจังหวัดประชาชนจำนวนมาถูกกล่าวหา มีหลายกรณีที่รัฐบาลประกาศว่า ถ้าผู้ชุมนุมกลับบ้านไม่มีความผิดแต่มีหลายคนถูกจับระหว่างเดินทางกลับบ้าน ครอบครัวต้องไปกู้เงินนอกระบบมาประกันตัว

          ดังนั้นรัฐบาลต้องรับผิดชอบเยียวยากรณีเหล่านี้ด้วย หลายรายต้องติดคุกเป็นปีหลังจากรับสารภาพ เพราะเพียงเข้าร่วมชุมนุมแล้วโดนข้อหาละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” กรรมการที่ปรึกษาศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาการสลายการชุมนุมฯ กล่าวและว่า  นอกจากนี้ปัญหากระบวนการยุติธรรม ผู้ต้องหาโดนโทษร้ายแรงเกินความเป็นจริงข้อหาวางเพลิงเผาห้างเซ็นทร็ลเวิร์ล เผาศาลากลางจังหวัด เป็นข้อหาหนักมาก

          ในกรณีที่จำเลยปฏิเสธและต่อสู้ศาลมักลงโทษสูงศาลอาญาตัดสินลงโทษ 11 ปี ทำให้คนยอมรับดีกว่า ส่วนใหญ่ศาลตั้งวงเงินประกันสูงมากเป็นเหตุให้จำเลยบางคนไม่เคยยื่นสิทธิประกันตัวเลย กรณีเหล่านี้สมควรได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลทั้งสิ้น บางรายโดนจับผิดตัวบาวงคนอายุมากและป่วย บางรายอยู่ในชั้นศาลอุธรกลับมีคำสั่งให้ขังไว้ก่อน ในส่วนเยาวชน 2 รายอาจถูกประหารชีวิตในข้อหาเผาห้างเซ็นทรัลเวิร์ล แม้ว่าหน่วยงานรัฐตั้งหน่วยงานมาดูแลจ่ายเงินผู้บาดเจ็บผู้ต้องหา

          ซึ่งที่ผ่านไม่ทั่วถึงชาวบ้านในภาคอีสานไม่รู้จะมาเอาเงินจากที่ไหนและไม่กล้าเข้ามาเพราะภายใต้รัฐบาลที่สั่งสลายพวกเขา บางรายแพทย์ไม่ร่วมมือในการออกใบรับรองแพทย์ หรือรายงานไม่ตรงกับอาการ เช่น รายหนึ่งถูกยิงบริเวณบ่อนไก่ กระสุนเข้าที่หลังโดนลำไส้เล็ก ตับ และไต ได้เงินเยียวยาจากกรมคุ้มครองสิทธิฯ เพียง 2,800 บาท เพราะใบรับรองแพทย์ระบุว่ารักษาอยู่ในรพ.แค่ 14 วัน ในความเป็นจริงต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ อาจเพราะแพทย์ไม่ชอบผู้ชุมนุมเสื้อแดง ซึ่งได้รับการเยียวยา 2 พันกว่าบาทเท่านั้น จ่ายเพียงครั้งแรก ครั้งต่อไปยกเลิก

          “ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่ควรปฏิเสธว่า ชัยชนะที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอย่างเด็ดขาด เพราะความโกรธแค้นต่อความอยุติธรรมทางการเมือง ตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา 2549 จนมาถึงเหตุการณ์รัฐบาลอภิสิทธิ์ สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 93 ราย บาดเจ็บ 1,800 ราย และมีผู้จับกุมอีกกว่า 700 ราย ยังไม่รวมเสื้อแดงที่ดำเนินคดีเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองก่อนหน้านี้อีกหลายราย

          ซึ่งผู้คำสั่งปราบปรามไม่ได้ถูกดำเนินคดีแม้แต่รายเดียว” กรรมการศปช.กล่าว และย้ำว่า พรรคเพื่อไทยต้องให้ความยุติธรรมและฟื้นฟูชีวิตให้กับคนเสื้อแดงอย่างไรเพราะทุกคนกำลังจับตารัฐบาลยิ่งลักษณ์  จะสร้างความปรองดองในประเทศให้เท่าเทียมกับการเยียวยาคนเสื้อแดงได้ เรียกร้องให้การทำงานของ คอป.ต้องปรับปรุงให้มีจุดยืนที่ชัดเจนในการแสวงหาความจริงและความยุติธรรมและสามารถเรียกพยานเอกสารได้จากทุกฝ่าย

          รวมทั้งรัฐบาลต้องเปิดกว้างให้องค์กรต่างประเทศเข้ามาตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวข้องการสลายการชุมนุมและเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ

 

....................

(หมายเหตุ : แก้ไขเนื้อความบางส่วนที่อาจคลาดเคลื่อน (เน้นตัวหนา) ตามการท้วงติงจาก ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์)