
สปก.พบอีก99รีสอร์ทรุกวังน้ำเขียว
"สปก."พบรีสอร์ท โรงแรม ขนาดใหญ่อีก 99 แห่งรุกที่สปก.วังน้ำเขียว มีทั้งสำนักปฏิบัติธรรม ปั้มน้ำมัน ร้านขายวัสดุก่อสร้าง แหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์พร้อมโฮมสเตย์ เร่งสรุป โมเดลวังน้ำเขียว เสนอ รมว.เกษตรฯปลายเดือนนี้ เตรียมลุยตรวจสอบ สระบุรี กาญจนบุรี
22สิงหาคม2554 นายสถิตพงษ์ สุดชูเกียรติ รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.) แถลงความคืบหน้าผลการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินสปก.อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมาว่า ผลการตรวจสอบที่ดินที่ใช้ผิดเงื่อนไขของกฏหมายสปก.ในรอบที่ 2 จำนวน 2,009 ราย 3,461 แปลง พบว่ามีผู้กระทำผิดจำนวนมาก โดยพบว่ามีการสร้างโรงแรมและรีสอร์ทจำนวน 99 แห่ง เป็นโรงแรมขนาดใหญ่ 3 แห่ง รีสอร์ท 63 แห่ง ร้านอาหาร 4 บ้านพักโฮมสเตย์ 24 ปั้มน้ำมัน 1แห่ง โรงผสมคอนกรีต 1 แห่งและร้านค้า 3 แห่ง ซึ่งเมื่อร่วมกับการตรวจสอบที่ผ่านมามียอดตรวจสอบแล้วสะสมร่วม 2,735 ราย 3,461 แปลง เชื่อว่าเป้าหมายการตรวจสอบ 6.4 พันรายในอ.วังน้ำเขียว 2.4 แสนไร่จะแล้วเสร็จประมาณ 20 ก.ย. 2554 เร็วกว่ากำหนดเดิมที่ตั้งไว้ 30 ก.ย.และผลจากที่ได้ทั้งหมดจะนำมาจัดกลุ่มความผิดเพื่อดำเนินคดีตามกฏหมายซึ่งจะมีโทษหนักเบาต่างกันตามความผิด แต่กรณีที่ไม่ใช่เกษตรกรจะต้องออกจากพื้นที่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปภายใน 30 วัน อย่างไรก็ตามนอกจาการตรวจสอบกรณีการใช้ที่ดิน สปก.ผิดวัตถุประสงค์ในอ.วังน้ำเขียวแล้วจะได้ประสานให้มีการตรวจสอบการครอบครองที่ดินสปก.ในจังหวัดสระบุรี และกาญจนบุรี ซึ่งมีปัญหาการบุกรุกรุกเปลี่ยนมือและใช้ผิดวัถตุประสงค์จำนวนมากเช่นกัน
อย่างไรก็ตามเมื่อมาแยกดูการตรวจสอบเป็นรายตำบลจะพบว่าตำบลไทยสามัคคี จำนวนเกษตรกร 522 ราย 649 แปลง พบทำถูกระเบียบ 342 ราย 460 แปลง และทำผิดระเบียบ 180 ราย 189 แปลงหรือ 34.48 เปอร์เซนต์ ส่วนตำบลวังน้ำเขียว ตำบลอุดมทรัพย์และตำบลวังหมี จำนวนเกษตรกร 1,624 ราย 2,044 แปลง 41,379 ไร่ ถูกระเบียบ 978 ราย เนื้อที่ 25,562 ไร่ ผิดระเบียบ 649 ราย เนื้อที่ 15,817 ไร่ หรือ 39.77 เปอร์เซนต์เช่นสร้างรีสอร์ท ขาย ให้เช่า ทิ้งร้าง ให้ทำประโยนช์ฟรีและขายบางส่วน สรุปผลการตรวจสอบพื้นที่สร้างโรงแรมรีสอร์ท ร้านอาหาร ที่พักตากอากาศ โฮมสเตย์ ที่พักเพื่อการท่องเที่ยวอื่น ๆ ทั้งพื้นที่ สปก.และพื้นที่ยังไม่จัดที่ดิน ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม จนถึง 22 สิงหาคม พบผิดวัตถุประสงค์จำนวนทั้งสิ้น 120 แห่ง โดยแยกเป็นพื้นที่เป้าหมายตรวจสอบไว้เดิม 21 แห่ง พบทำผิดระเบียบใหม่ 66 แห่ง
รองลขาธิการ สปก. กล่าวว่าสำหรับในการประชุมร่วมสองกระทรวงระหว่างเลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.) อธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเพื่อหารือเรื่องแนวเขตที่ทับซ้อน เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมาที่ประชุมได้มีมติตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดเพื่อดำเนินการ1. ตรวจสอบแนวเขตที่ทับซ้อนกันระหว่างที่ดินสปก.และแนวเขตของป่าไม้ใน อ.วังน้ำเขียว เนื่องจากในบริเวณแนวเขตพบว่ามีปัญหาระวางแผนที่ไม่ตรงกัน เนื่องจากบางแปลงใช้แผนที่มาตรา 1: 50000 บางพื้นที่ใช้แผนที่ 1:4000 ทำให้เมื่อนำมาใช้จำนวนที่ดินไม่ตรงกัน หากนำไปสู่การฟ้องร้องอาจจะผิดพลาดได้ 2. ให้หารือกันในเรื่องกฏหมายว่าการสิ้นสภาพป่าสงวนแห่งชาตินั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เพราะยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าในพื้นที่ที่กรมป่าไม้มอบมาให้แล้วนั้นเป็นของสปก.หรือยัง 3. เมื่อได้ความชัดเจนทั้งหมดจะเสนอให้มีการแก้ไขกฤษฎีกา เพื่อแก้ไขรูปแผนที่ท้ายประกาศของสปก.และของกรมป่าไม้เพื่อให้ ให้เกิดความชัดเจนว่าหน่วยงานใดดูแลที่ดินแปลงใด ซึ่งหลังจากได้ข้อสรุปทั้งหมดจะมีการใช้แนวทางการตรวจสอบระวางแผนที่ชุดนี้ไปใช้สำหรับพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกรมป่าแม้และสปก.ทั่วประเทศ 32 ล้านไร่
“สำหรับที่ดินสปก.ที่ยังไม่มีการออกเอกสารสิทธิใน อ.วังนำเขียวจำนวน 6.9 หมื่นไร่ที่ผู้ครอบครองไม่ยอมเข้าขบวนการตามกฏหมายนั้น สปก.จะไม่คืนให้กรมป่าไม้ แต่จะดำเนินการเองโดยจะให้มีหนังสือให้ผู้ครอบครองมาแจ้งหลักฐานภายใน 15-30 วันไม่มาแสดงตัวสปก.จะเข้าไปดำเนินนการรังวัดเพื่อนำมาจัดสรรให้กับเกษตรกร ซึ่งในประเด็นนี้จะอยู่ในโมเดลวังน้ำเขียวเช่นกัน ทั้งนี้หลังวันที่ 20 ก.ย.ที่ผลตรวจสอบแล้วเสร็จสปก.จะเร่งจัดกลุ่มความผิดเพื่อนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ แถลงเป็นโมเดลวังน้ำเขียวแก้ไขปัญหาที่ดินสปก.ทั่วประเทศ “ นายสถิตพงษ์กล่าว
รองเลขาธิการสปก.กล่าวว่ากรณีเกิดปัญหาวังน้ำเขียวขณะนี้เป็นโอกาสดีที่ สปก. และกรมป่าไม้จะได้ใช้โอกาสนี้สะสางปัญหาที่สะสมในเรื่องการบุกรุกที่ดินของสองหน่วยงานทั่วประเทศ ซึ่งหากพื้นที่ สปก.มีโมเดลวังน้ำเขียวที่ชัดเจนออกมาแล้วคาดว่าทั้งประเทศจะใช้เวลาแก้ไขประมาณ 2 ปี
นายสถิตย์พงษ์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม วันที่ 25 ส.ค.นี้ จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ ทั้งนี้ สำนักงานผู้ตรวจราชการแผ่นดิน ซึ่งได้รับร้องเรียนจากประชาชน จะเข้าร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนี้ และถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการหาแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหา
รายงานสรุปสำหรับรายชื่อโรงแรมและรีสอร์ท ขนาดใหญ่ ที่บุกรุกที่ สปก.อำเภอวังน้ำเขียว อาทิ ไร่ธัญเทพ รีสอร์ท เนื้อที่ 600 กว่าไร่ ฮอลิเดย์รีสอร์ท เนื้อที่เกือบ 300 ไร่ วิลล่าเขาแผงม้า 200 ไร่ วังน้ำเขียววิวล์ 181 ไร่ โรงแรมบ้านภูหลวง เนื้อที่ 100 กว่าไร่ โกลด์เมาท์เท่นรีสอร์ท เนื้อที่กว่า 100 ไร่ บ้านสวนทศพร ตั้งเป็นสำนักปฏิบัติธรรมและสถานที่พักตากอากาศ เนื้อที่ 100 กว่าไร่ และยังมีแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ สวน ณญา รีสอร์ท เนื้อกว่า 50 ไร่ ซึ่งมีรีสอร์ทที่มีสไตล์โมเดิลอีกหลายแห่งที่รุกที่ สปก.เช่น ไอดินรีสอร์ท คัพออฟเลิฟ รีสอร์ท เพชรภูหมอก ภูเคียงลม ภูผาหยกรีสอร์ท ภูวังทอง ภูโอบโฮมสเตย์ ภูน้ำอิงฟ้า ภูธาราฟ้า ซึ่งแต่ละแห่งมีเนื้อประมาณ กว่า 50 ไร่ ทั้งนี้มีรีสอร์ทหลายสิบแห่งที่กำลังก่อสร้าง และถอนป้ายชื่อออกเพื่อไม่ให้เป็นข่าว
สปก.สอบใช้ประโยชน์ที่ดิน1,760ราย
นายประเสริฐ วิศิษฏจินดา ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยความคืบหน้าในการตรวจสอบการใช้ประโยชน์พื้นที่ ส.ป.ก.ในเขต อ.วังน้ำเขียว ของเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรจากทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ทั้งหมด 6,412 ราย รวมเนื้อที่ 139,300 ไร่ เพื่อดูว่าเป็นการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ให้เป็นพื้นที่ทำกินเพื่อการเกษตรหรือไม่ ซึ่งล่าสุดผลการตรวจสอบการใช้ประโยชน์พื้นที่ได้ทำการตรวจสอบไปแล้วจำนวน 1,760 ราย
เบื้องต้น ตรวจสอบพบว่า ในจำนวนนี้มีประมาณ 40 % หรือประมาณ 700 ราย ใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์ อาทิ มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ , ใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อการอื่นนอกเหนือจากการทำการเกษตรตามที่กำหนดไว้ และไม่มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่มีการจัดสรรให้ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 60 % ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ซึ่งขณะนี้ในส่วนที่มีการใช้ประโยชน์ผิดวัตถุประสงค์ทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ได้ทยอยส่งหนังสือแจ้งให้ทางผู้ครอบครองพื้นที่เข้ามาให้ถ้อนคำและแสดงเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการถือครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินกับทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมาแล้วบางส่วน ส่วนการตรวจสอบการใช้พื้นที่ สปก.ทั้งหมดนั้นคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้
นายประเสริฐ กล่าวว่า ขั้นตอนการตรวจสอบการใช้ประโยชน์พื้นที่ สปก.ในเขต อ.วังน้ำเขียว ที่มีการดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จะแบ่งการตรวจสอบออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.จะทำการเข้าตรวจสอบพื้นที่ที่อยู่เขตปฏิรูปที่ดินและเห็นว่ามีการใช้ประโยชน์ผิดวัตถุประสงค์อย่างชัดเจนด้วยการสร้างเป็นรีสอร์ทที่พัก ซึ่งในเบื้องต้นจากการสำรวจพื้นที่ปฏิรูปที่ดินในเขตอำเภอวังน้ำเขียว พบว่ามีการใช้ประโยชน์พื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินสร้างเป็นรีสอร์ทที่พักรวมทั้งสิ้น 35 จุด
ขณะนี้ ทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน จ.นครราชสีมา ได้ส่งหนังสือแจ้งให้ทางผู้ครอบครองพื้นที่เข้ามาให้ปากคำและแสดงเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการถือครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินกับทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมาไปแล้ว ทางไปรษณีย์และกำลังอยู่ในระหว่างรอการตอบรับหนังสือจากผู้ถือครองพื้นที่ เนื่องจากทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา จะให้ระยะเวลาผู้ถือครองพื้นที่นำเอกสารหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือ
ล่าสุด ขณะนี้มีการตอบกลับจากทางผู้ถือครองพื้นที่มายังทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมาแล้วรวม 8 ราย โดย 4 ราย เตรียมที่จะนำเอกสารหลักฐานการถือครองพื้นที่มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ คือ 15 วัน ที่เหลืออีก 4 ราย ให้ตัวแทนแจ้งขอยืดระยะเวลาการนำเอกสารหลักฐานมาชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ เนื่องจากผู้ถือครองพื้นที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ และต้องใช้ระยะเวลาในการรวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆ เพื่อเข้าชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งในส่วนนี้ทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ได้ทำการขยายเวลาการเข้าชี้แจงจากเดิม 15 วัน เป็นไม่เกิน 1 เดือนนับตั้งแต่ได้รับหนังสือเพื่อให้โอกาสผู้ถือครองได้เตรียมตัวตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ในรีสอร์ทที่พักส่วนนี้มีจำนวนหนึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ สปก.ที่ยังไม่มีการจัดสรรสิทธิให้กับเกษตรกรรวมอยู่ด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบรายละเอียดว่าข้อเท็จจริงแล้วเป็นอย่างไร ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ข้อสุปออกมาในเร็ววันนี้ ส่วนที่ 2 คือการตรวจการใช้ประโยชน์พื้นที่ของเกษตรกรทั่วไปที่ไม่มีการใช้ประโยชน์พื้นที่ในการสร้างเป็นรีสอร์ทที่พักผิดวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน ซึ่งในส่วนนี้ทางเจ้าหน้าที่ก็จะทยอยเข้าตรวจสอบการใช้ประโยชน์พื้นที่ในแต่ละเขตพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะทำการตรวจสอบเสร็จสิ้นทั้งหมด 6,412 รายภายในเดือนกันยายนนี้
สำหรับขั้นตอนการดำเนินการกับผู้ที่ประโยชน์พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์นั้นหลังจากที่มีการตรวจสอบพื้นที่แล้ว ทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ก็จะทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการให้นำหลักฐานเอกสารสิทธิมายืนยันว่าได้เข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ตามเอกสารครอบครองใด โดยเบื้องต้นจะให้เวลา 15 วันเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำหลักฐานมาแสดงต่อทางเจ้าหน้าที่ และสามารถขยายระยะเวลาการเข้าชี้แจงได้ถึง 1 เดือนแล้วแต่ความเหมาะสมและดุลพินิจของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา แต่หากไม่มีหลักฐานยืนยันนอกเหนือไปจากเอกสารสิทธิ สปก.ก็จะทำการแจ้งให้ปรับพื้นที่ให้กลับมาเป็นการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตรกรรม โดยจะให้เวลาในการดำเนินการตามนี้ตามความเหมาะสม หรือประมาณ 2 เดือน แต่หากไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกเพิกถอนสิทธิการใช้ที่ดินโดยทันที
นายประเสริฐ กล่าวถึงการที่ทาง ศ.ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว กรณีข้อพิพาทการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติทับลานเมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา ว่า เท่าที่รับทราบจากการเข้าร่วมประชุมชี้แจงกับทางผู้ตรวจการแผ่นดินในครั้งนั้นมองแล้วทางผู้ตรวจการแผ่นดินอยากจะให้มีการพิสูจน์สิทธิในส่วนของผู้ที่เข้ามาครอบครองพื้นที่ใช้ประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของที่ดิน สปก. , กรมป่าไม้ หรือกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้มีความชัดเจนก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ รวมถึงการตรวจสอบพื้นที่ที่อยู่ในข่ายการทับซ้อนกันระหว่าง 3 หน่วยงาน คือกรมป่าไม้ อุทยานแห่งชาติทับลาน และ สปก. ซึ่งในส่วนของ สปก.เองนั้นความจริงแล้วพื้นที่ที่ทางกรมป่าไม้ได้มอบให้ทาง สปก.มาดำเนินการ ก็จะมีแผนที่แนบท้ายวงรอบกำหนดแนวเขตที่ค่อนข้างชัดเจนในรูปของแผนที่
อย่างไรก็ตาม ในสภาพพื้นที่จริงตามแนวตะเข็บแนวเขตติดต่อระหว่างพื้นที่ที่ได้มอบให้กับทาง สปก.แล้วกับพื้นที่ที่ยังไม่ได้มอบให้อาจมีปัญหาอยู่บ้างในเรื่องของความชัดเจน ซึ่งในส่วนนี้ความจริงแล้วก่อนหน้าที่จะเกิดปัญหาตนเองได้เข้าร่วมประชุมหน่วยงานอุทยานแห่งชาติและหน่วนงานของกรมป่าไม้ รวมถึงทางอำเภอวังน้ำเขียวมาแล้วเพื่อที่จะทำการกำหนดแนวเขตให้ตรงกันของทุกหน่วยงานทั้งในส่วนของแผนที่และพื้นที่จริง ซึ่งก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อเตรียมที่จะลงสำรวจแนวเขตร่วมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ก็เกิดมีปัญหานี้ขึ้นมาเสียก่อน จึงทำให้กระบวนการนี้ชะงักลง โดยพื้นที่ที่ตนเองมองว่ามีปัญหาในเรื่องของแนวเขตไม่ชัดเจนหรือมีการคาดเกี่ยวกันระหว่างหน่วยงานนั้นอาจจะมีจำนวนไม่มากนัก
อีกทั้ง สิ่งสำคัญก็คือแนวเขตนี้น่าจะต้องมีความชัดเจนระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งหมดเพื่อให้การกำหนดพื้นที่หรือการดำเนินการต่างๆเดินหน้าไปได้ด้วยดีโดยไม่ต้องมีปัญหาเกิดขึ้น เนื่องจากในพื้นที่ส่วนนี้ที่ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็พบว่ามีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่ยังไม่มีความชัดเชนในเรื่องของแนวเขตการรับผิดชอบซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินการในส่วนนี้ว่าใครจะเป็นผู้ดำเนินการ
ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบรีสอร์ท บ้านพัก 17 แห่ง ที่เข้าข่ายบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง ล่าสุดยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบพิกัด คาดว่า จะทราบผลภายในสัปดาห์หน้า ส่วนการตรวจสอบรีสอร์ท และ บ้านพักที่บุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ทั้งในอ.วังน้ำเขียว และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี จนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการปิดป้ายสั่งรื้อถอนไปแล้ว 38 แห่งจากทั้งหมด 54 แห่ง ส่วนที่เหลือเจ้าหน้าที่คาดว่า จะนำป้ายไปปิดได้ครบในสัปดาห์หน้า