ชี้ผู้นำสตรีอุษาคเนย์ล้วนตระกูลหนุน
เสวนาผู้นำสตรีในอุษาคเนย์ระบุผู้นำหญิงในภูมิภาคนี้มาจากครอบครัวที่เคยครองอำนาจ ก้าวเข้ามาในวิกฤตการเมืองด้วยเพศสภาพ ฟันธง "ยิ่งลักษณ์" ยังมีโอกาสเป็นนายกฯต่อ
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 23 ก.ย.2554 มีจัดการเสวนาอุษาคเนย์เสวนาสาธารณะ เรื่อง "ผู้นำสตรีในอุษาคเนย์" ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ ชั้นสาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กทม. ดำเนินรายการโดยนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และนางสาวสุภัตรา ภูมิประภาส นำการอภิปราย โดยมีนายคริส เบเกอร์ นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสวนาในประเด็นน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย
นายอัครพงษ์ ค่ำคูณ เสวนาในประเด็นนางคอราซอน อาคีโน่ อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ นางสาวอรอนงค์ ทิพย์พิมล เสวนาในประเด็นนางเมกาวตี ซูการ์โน บุตรี อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายดุลยภาค ปรีชารัชช เสวนาในประเด็นนางอองซาน ซูจี อดีตนักโทษทางการเมืองซึ่งโดนรัฐบาลทหารพม่าจองจำในบ้านพักเป็นเวลานับสิบปี และนายพิเชฐ สายพันธ์ เสวนาในประเด็นเพศสภาวะ
นายคริสกล่าวเริ่มต้นการเสวนาว่า ตนไม่มีความรู้เกี่ยวกับน.ส.ยิ่งลักษณ์เท่าใด แต่ตนจะขอพูดถึงผู้นำในเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ โดยศรีลังกา ปากีสถาน บังคาลเทศ รวมทั้งอินเดียมีผู้นำหญิงที่เป็นภรรยาและลูกสาวของอดีตผู้นำประเทศนั้นๆ แต่มักจะโดนยิงตาย ส่วนในเอเชียอาคเนย์นั้นนางอองซานซูจีเป็นลูกสาวพลเอกอองซาน อดีตประธานาธิบดี ส่วนนางเมกาวตีก็เป็นบุตรสาวนายซูการ์โนอดีตประธานาธิบดีอินโดฯคนแรก ส่วนนางคอราซอนนั้นเป็นภรรยาของนายเบนิกโน อาคีโน อดีตส.ว.ฟิลิปินส์ที่เป็นตัวเก็งประธานาธิบดีแต่โดนยิงตาย จากนั้นคือนส.ยิ่งลักษณ์ น้องสาวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่โดนรัฐประหาร
“ในเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์นั้น สตรีเก้าคนขึ้นมามีอำนาจในลักษณะเดียวกัน หลักการคือพ่อหรือสามีหรือพี่เข้ามามีอำนาจก่อน โดยไม่มีลูกชายขึ้นมาเป็นผู้นำต่อจากพ่อ ในเอเชียนั้นมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมของอินเดียมากกว่าจีน เพราะเทพเจ้าเก่าๆในพื้นเมืองอินเดียนั้น เทพที่มีอำนาจจริงๆคือเทพเจ้าหญิง เช่นเจ้าแม่กาลี สรุปว่าการเมืองจะมีอยู่ในอำนาจของผู้ชาย แต่หากมีสิ่งรุนแรงเกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ เช่น ผู้นำโดนยิงตายหรือเกิดการรัฐประหารจะทำให้ผู้หญิงขึ้นมามีอิทธิพลแทน และเรื่องครอบครัวยังมีความสำคัญในเอเชียคือ การสืบทอดอำนาจ แม้น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มีประสบการณ์การเมืองแต่กลับได้รับเลือกตั้งเพียงเพราะมาจากครอบครัวการเมือง คือมีพ่อเป็นส.ส.เชียงใหม่และพี่ชายเป็นนายกฯ โดยพี่ชายมีบทบาทกับน้องสาวมากกว่าในฐานะพี่และพ่อ และผมเชื่อว่านส.ยิ่งลักษณ์น่าจะมีโอกาสเป็นนายกฯอยู่ ” นายคริสกล่าว
นายดุลยภาคกล่าวในส่วนของพม่าว่า บทบาทของนางอองซานซูจีนั้น เธอเติบโตและทำงานในต่างประเทศ เมื่อเธอกลับพม่าในช่วงปี1980-90นั้น เธอมีวาทศิลป์อย่างยิ่งจนคนอื่นคาดไม่ถึง ผู้ชายในชีวิตเธอคือนายพลอองซานบิดาแห่งพม่าและผู้ก่อตั้งกองทัพพม่า ในฐานะบิดาของเธอนั้น นายพลอองซานร่วมรบกับนายพลเนวินที่สู้กับกองทัพต่างชาติ ช่วงที่เธอกลับมาเยี่ยมมารดาเมื่อปี1988ที่เข้ามาพัวพันกับการเมือง เธอใช้ภาพบิดาและวาทศิลป์ของเธอที่จับใจชาวพม่า ทำให้คณะนายทหารของนายพลซอหม่องที่มองเธอกำลังแยกนายพลอองซานออกจากกองทัพพม่า สิ่งที่ตามมาคือกองทัพพม่าพยายามชิงภาพลักษณ์นี้กลับมา โดยกักขังนางซูจี และลบภาพนายพลอองซาน การสร้างอนุสาวรีย์ในพม่าในช่วงนี้ย้อนกลับไปสู่กษัตริย์แทนนายพลอองซาน และสังคมพม่านั้นนับถือนัตคือผีชั้นสูงสิบแปดตน โดยในนั้นมีนัตผู้หญิงด้วย แต่พม่าจะไม่มีนารีเขตหรือพื้นที่ยืนของนางซูจีก็ตาม ส่วนอนาคตของเธอจากนี้ไปนั้น แม้พม่าจะมีการเลือกตั้งคือรัฐบาลนายพลเต็ง เส่งที่พยายามพูดและปรองดองกับนางอองซาน แต่วันนี้พม่ามีคลื่นใต้น้ำแล้วคือนายทหารที่สนับสนุนนายพลเต็งเส่ง และนายทหารขั้วตรงข้ามคือสายอนุรักษ์นิยม หากมีการปฏิวัติขึ้นอีกนางซูจีคงจะอยู่ยาก
นางสาวสุพัตรา กล่าวว่า ผู้นำหญิงในอาเซียนนั้นมาเร็วและมาแรงหรือเรียกว่ามาก่อนกาลก็ได้ และจะอยู่หรือไปอย่างไรนั้น ขอย้อนกลับไปในศตวรรษที่สิบเจ็ดจากบันทึกทางการค้าของพ่อค้าชาวตะวันตกคือนครรัฐปัตตานีมีสี่กษัตริยา โดยพระนางฮิเจาพระองค์หนึ่งไม่ได้อยู่ในเส้นทางราชบัลลังก์ แต่เมื่อพี่น้องฆ่ากันตายจึงโดนอันเชิญรับราชบัลลังก์ โดยขุนนางคิดว่าพระองค์เป็นหุ่นเชิด แต่พระองค์ก็จัดการขุนนางเหล่านั้นแบบเงียบๆ โดยมีพระน้องนางคือเจ้าหญิงบิรูคอยช่วยเหลือ ทำให้ปัตตานีช่วงนั้นการค้ารุ่งเรืองมาก และครองราชย์ต่อจากพระนางฮิเจา พระนางบิรูรวบรวมสหพันธ์รัฐปัตตานีขึ้นมาได้และยังรักษาสัมพันธ์กับสยามไว้ คือดำเนินการการทูตสองด้าน พระนางบิรูได้สั่งหล่อปืนใหญ่สามกระบอก กระบอกหนึ่งนั้นคือปืนใหญ่พญาตานี
ฉะนั้นบทบาทของผู้หญิงภายใต้ความนิ่งนั้นจะรู้ว่าบริหารงานอย่างไร และอาเจ๊ะห์ก็มีผู้นำนครรัฐเป็นสตรีถึงสี่พระนางเช่นกัน ส่วนพม่านั้นพระนางศุภยรัตน์ พระมเหสีพระเจ้าธีบอ กษัตริย์พม่าองค์สุดท้าย พระนางคือผู้มีอำนาจตัวจริงที่ต่อสู้ ชาวต่างชาติมองพระนางว่าเป็นตัวร้าย แต่หากถามชาวพม่านั้นจะพบว่ามีความชื่นชมที่พระนางไม่จำนนกับอำนาจในการต่อสู้เพื่อชาตติ
นายชาญวิทย์กล่าวว่า ตอนนี้จีนมีการตีความบทบาทของพระนางซูสีไทเฮาใหม่แล้วจากบทร้าย เพราะการบันทึกประวัติศาสตร์นั้นส่วนใหญ่ผู้บันทึกจะเป็นผู้ชาย ส่วนสตรีไทยในประวัติศาสตร์คือพระนางจามเทวีและพระนางจิรประภาของราชวงศ์เชียงใหม่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และบทบาทของสตรีในปัจจุบันนี้จะเป็นอย่างไร
นายอัครพงษ์ กล่าวในลำดับต่อมาในประเด็นของฟิลิปปินส์ว่า นางอาคีโนเป็นลูกสาวคนรวยที่เป็นส.ว.และโดนส่งไปเรียนต่างประเทศ จากนั้นแต่งงานกับสามีเพื่อเชื่อมสัมพันธ์การเมืองของครอบครัว เมื่อสามีโดนยิงตาย และศาลยกฟ้องคนที่ยิงสามี ทำให้นางอาคีโนลุกขึ้นมาเล่นการเมืองตามแรงหนุนของสหรัฐฯและตามคำขอของพระคาร์ดินัลที่ปลุกเร้าว่าเธอคือพระนางแมรีที่จะมาจัดการกับซาตานคือเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส นางอาคีโนใช้เสื้อเหลืองเป็นสัญลักษณ์สู้และมีการปรามาสว่าไม่มีประสบการณ์การเมือง โดยนางอาคีโนยอมรับและย้อนว่าไม่มีประสบการณ์โกงและทำเรื่องเลวร้าย เมื่อได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง มีนายทหารบางคนอยากขึ้นเป็นผู้นำ แต่ต้องยอมให้นางอาคีโนเป็นผู้นำ โดยที่ประชาชนไม่ได้ปลื้มการทำงานของนางอาคีโนที่มีปัญหาเยอะ สมัยนั้นมีความพยายามรัฐประหารนางอาคีโนหกครั้ง แต่เธออยู่จนครบวาระ และไม่มีใครสนับสนุนโดยเฉพาะพระคาร์ดินัลที่บอกว่าควรให้คนอื่นขึ้นมาแทน
จากนั้นนางอรอนงค์กล่าวถึงอินโดนีเซียว่า นางเมกาวตี ซูการ์โนบุตรี เล่นการเมืองอายุสามสิบเก้าปี และเป็นประธานาธิบดีเมื่ออายุห้าสิบปีเศษ โดยพรรคพีดีไอของเธอชนะเลือกตั้งเมื่อปี1993 แต่ซูฮาร์โต ประธานาธิบดีในตอนนั้นไม่พอใจ จนเกิดความรุนแรงในเดือนก.ค. 1996 ต่อมาสามปีพรรคนี้แตกเป็นสองส่วน เธอเปลี่ยนชื่อพรรคในส่วนของเธอเป็นพีดีไอพี และพรรคของเธอชนะเป็นอันดับหนึ่ง แต่ผู้นำศาสนาค้านว่าไม่ควรให้ผู้หญิงเป็นผู้นำ และมอบให้คนอื่นเป็นแทน โดยเธอยอมเป็นรองประธานาธิบดี
จากนั้นปี2001มีการถอดถอนนายอับดุลเราะห์มาน วาฮิด ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเพราะบทบาทที่แข็งกร้าวกับทหารและมอบให้เธอดำรงตำแหน่งแทน โดยเธออยู่ครบวาระสี่ปี เพราะช่วงนั้นครบหนึ่งร้อยปีของอดีตประธานาธิบดีซูการ์โน และมองว่าอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต้เลวร้ายกว่า เธอในฐานะบุตรสาวของซูการ์โนซึ่งเป็นบิดาแห่งอินโดนีเซีย เธอเป็นผู้นำที่มีคนสนับสนุนและต่อต้านเข้มข้นสองด้าน โดยเธอนำเสนอตัวเองคือแม่ ใช้บุคลิกพูดน้อยและนิ่ง เวลาให้สัมภาษณ์เธอก็โดนโจมตีว่าพูดแบบมีบทเท่านั้น หากถามนอกบทก็จะตอบไม่ได้ และเธอโดนสื่อมวลชนโจมตีรุนแรง ตอนนั้นเธอโดนท้าทายหลายด้าน คือทหารสนับสนุนเธอ ปัญหาการแบ่งแยกดินแดน ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการทุจริต ปัญหาเรียกร้องให้รัฐบาลลดบทบาทของทหาร รวมทั้งปัญหาความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกที่สนับสนุนการก่อการร้าย แม้ตอนหลังเธอแพ้เลือกตั้งสองครั้ง แต่เธอยังเสนอตัวลงแข่งขันอีกในปี2014เพราะตอนนี้คะแนนนิยมของเธอเพิ่มขึ้น
นายพิเชฐกล่าวถึงเพศสภาวะว่า ขอกล่าวถึงสามเรื่องคือเส้นทางทางการเมืองที่ทำให้เกิดผู้นำสตรีคือวิกฤตการเมืองที่เกิดก่อนทำให้เกิดภาวะผู้นำสตรีและเกิดผลกระทบกับครอบครัวของพวกเธอเหล่านี้ พวกเธอผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแสดงว่าประชาชนยอมรับ โดยพวกเธอเกิดขึ้นมาทางการเมืองเพราะความผูกพันทางครอบครัว คือเป็นภรรยา แม่ น้องสาวของอดีตผู้นำ
จากนั้นคือพื้นฐานทางสังคมที่ทำให้เกิดเพศสภาวะคือ พวกเธอเป็นชนชั้นสูงหรือตระกูลผู้นำในสังคมนั้นๆ อีกทั้งระบบศาสนาทุกสังคมข้างต้นจะไม่อยู่ในศาสนาเดียวกันเลย เพราะมีศาสนาอิสลามที่มีแรงต้านกับสตรี คริสต์ที่สนับสนุนนางอาคีโน พุทธที่สนับสนุนนางซูจี รวมทั้งระบบครอบครัว เครือญาติและวงศ์วาน เพราะในอดีตนั้นท้องถิ่นต่างๆปกครองด้วยสตรีในภูมิภาคนี้ที่สืบตระกูลทางมารดา จากนั้นเปลี่ยนไปเป็นชายเพราะอิทธิพลจากอินเดีย
"มันเกิดขึ้นและส่งผลให้ภาวะผู้นำสตรีเกิดขึ้นและยอมรับ โดยความเป็นหญิงนั้นเป็นคุณสมบัติสำคัญที่นำมาใช้แก้ไขในภาวะวิกฤตของบ้านเมือง เพราะวิกฤตสะท้อนอธรรมในสังคม ผู้หญิงเป็นภาพตัวแทนความบริสุทธิ์ที่เข้ามาชำระล้างความสกปรกทางการเมืองของผู้ชายที่โดนภาพควบคุมจากทหาร ผู้หญิงจึงเข้ามาประนีประนอม ฉะนั้นอนาคตของไทยนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้มาก่อนกาลและมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยมีบทบาทฟื้นฟูประชาธิปไตย มันจะเป็นภาพที่สังคมไทยจะได้พบเห็น" นายพิเชษฐ กล่าว