สะพานนวรัฐเชียงใหม่น้ำสูง4.90ม.
น้ำท่วมเชียงใหม่คืนที่2แม่ปิงเพิ่มสูงขึ้นอีก สะพานนวรัฐสูง 4.90ม. ย่านเวียงกุมกามอ่วมสูงระดับหน้าอก "ยิ่งลักษณ์" สั่งเจ้าหน้าที่ประเมินร่วมกับผู้ว่าฯอย่างใกล้ชิด
เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 29 ก.ย. 54 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความสำเร็จของนโยบาย2P2Rในการปัญหาน้ำท่วมว่า มองว่าการทำงานของนโยบายดังกล่าวเป็นกลไกการทำงานให้ชัดเจนที่เป็นหน่วยบริการจุดเดียวหรือวันสต็อปเซอร์วิส ที่เน้นมีเจ้าภาพชัดเจนในแต่ละขั้นตอนดังนั้นทุกขั้นตอนมีผู้รับผิดชอบในการบูรณาการรวมเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็ว หากถามว่าได้ผลหรือไม่นั้นการขับเคลื่อนทั่วประเทศต้องใช้เวลาค่อยๆเคลื่อนจากศอส.ในการติดตามแก้ไขสถานการณ์เพื่อให้กิดความคล่องตัวและรวดเร็วขึ้น ซึ่งแต่ละขั้นจะกระจายลงไปสู่ภูมิภาค
นายกฯ กล่าวถึงสถานการณ์ที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า ในการทำงานของเชียงใหม่ก็เป็นข้อคิดอย่างดีที่เราได้มีการหารือกัน จากเดิมที่มีการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ก็ทำให้ทราบปัญหาจากเชียงใหม่และเตรียมการรองรับที่ต้องไปดูว่าจากการแจ้งเตือนภัยนั้นปริมาณน้ำเป็นไปอย่างที่วางแผนไว้หรือไม่ และปริมาณและความสูงของเขื่อนเพียงพอหรือไม่ ซึ่งตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปวิเคราะห์ร่วมกับผู้ว่าฯอย่างเรียบร้อยแล้ว
นายกฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ต้องไปดูเรื่องของการป้องกันภัยอีกว่าการเตือนถูกต้องหรือไม่ และระยะเวลาในการเตรียมการเรียบร้อยหรือไม่ เพราะหากมาถึงขั้นตอนของการเตรียมการในพื้นที่ได้ทำตามเช็คลิสต์ที่ส่งไปให้ครอบคลุมหรือไม่ เพราะบางครั้งเหตุการณ์เกิดขึ้นอาจจะทำไม่ครบขั้นตอนก็อาจทำให้การเตือนภัยช้าลง หรือการคำนวณปริมาณน้ำ ซึ่งเราจะได้ทำแนวกั้นน้ำสูงกี่เซนติเมตร แต่น้ำของจริงมามากกว่าประมาณการ ซึ่งบางครั้งมีปัจจัยควบคุมไม่ได้หลายส่วนก็เลยนำข้อคิดตรงนี้กลับไปทบทวนในส่วนของคณะที่ทำงาน2P2Rด้วย
นายกฯ กล่าวอีกว่า ในส่วนของพื้นที่วิกฤติก็มีการประชุมและสั่งการเพิ่มเติมในส่วนของการป้องกันให้กลับไปทบทวนการพยากรณ์ต่างๆและกลับไปดูการเตรียมการของแต่ละจังหวัดที่จะเน้นในพื้นที่มากขึ้น
ส่วนเหตุผลที่ให้รัฐมนตรีต้องไปนอนค้างในพื้นที่นั้น นายกฯ กล่าวว่า ที่ให้รัฐมนตรีลงไปค้างคืนที่ต่างจังหวัดนั้นโดยเฉพาะ 12 จังหวัดที่มีปัญหาน้ำท่วมนั้นเพื่อทำงานร่วมกับผู้ว่าฯที่จะสนับสนุนและรายงานกลับมายังรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว และยังถือเป็นตัวแทนของนายกฯลงไปเยี่ยมประชาชนและให้กำลังใจ เพราะการไปในระยะเวลาอันสั้นอาจจะไม่ครอบคลุมพื้นที่ได้ ก็เลยขอความร่วมมือกับครม.ลงไปค้างแรมเพื่อมีโอกาสพบประชาชนหลายพื้นที่มากขึ้น
แม่น้ำปิงเพิ่มสูงขึ้นอีกท่วมเชียงใหม่หลายพื้นที่
ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในตัวเมืองเชียงใหม่เริ่มเข้าสู่ค่ำคืนที่สองแล้วหลังจากน้ำปิงได้ล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมหลายพื้นที่ในตัวเมืองตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา ย่านเศรษบกิจและการค้าสำคัญระดับน้ำยังท่วมสูง ล่าสุดศูนย์อุทกวิทยาและบริหารน้ำภาคเหนือตอนบน รายงานระดับน้ำที่จุด P1 สะพานนวรัฐ อ.เมืองเชียงใหม่ น้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นครั้งซึ่งล่าสุดเมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 29 ก.ย. ระดับน้ำอยู่ที่ 4.81 เมตร ปริมาณน้ำไหล 791 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากชั่วโมงก่อนหน้าที่ 4.80 เมตร ปริมาณน้ำไหล 786 ลบ.ม. เนื่องจากระดับน้ำที่จุด P67 บ้านแม่แต อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ได้เพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยเวลา 18.00 น.วัดได้ 4.73 เมตร ปริมาณน้ำไหล 557 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากชั่วโมงก่อนหน้าที่วัดได้ 4.70 เมตร ปริมาณน้ำไหล 550 ลบ.ม./วินาที
นายธนิต ชุมแสง ผู้บริหารร้านเดอะกู้ดวิว ตั้งอยู่บนถนนเจริญราษฎร์ ต.วัดเกต อ.เมือง ติดริมแม่น้ำปิง ซึ่งเป็นร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม กล่าวว่า ร้านต้องให้บริการ 2 วันติดกันทำให้สูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละหลายแสนบาท นอกจากนี้ยังมีข้าวของบ้างส่วนที่เสียหายเพราะเก็บหนีน้ำไม่ทัน คาดว่าหลังน้ำลดจะรีบเปิดให้บริการทันทีเพราะน้ำท่วมทำให้สูญเสียโอกาสทางธุรกิจ
เที่ยงคืนสะพานนวรัฐเชียงใหม่สูง4.90ม.
ต่อมามีรายงานจากศูนย์อุทกวิทยาและบริหารน้ำภาคเหนือตอนบนรายงานว่าจะมีมวลน้ำก้อนใหญ่มาจากภาคตอนเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะน้ำจากตรวจวัด P.67 บ้านแม่แต อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ที่คาดการณ์ว่าระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะขึ้นสูงสุดในเวลาประมาณ 24.00 น. วันที่ 29 กันยายน ซึ่งส่งผลให้ระดับแม่น้ำปิงที่ตรวจวัด P.1 สะพานนวรัฐ มีระดับสูงสุด 4.90 เมตร
น้ำเชี่ยวยกเลิกนำเรือให้บริการรับส่งผู้ประสบภัย
เมื่อเวลา 20.00 น. เจ้าหน้าที่ของเทศบาลนครเชียงใหม่ รวมทั้งอีกหลายหน่วยงานต้องประกาศยกเลิกการนำเรือให้บริการรับ-ส่งประชาชนผู้ประสบภัย โดยนำเรือ 50 ลำ กลับเข้าจุดปลอดภัย หลังจากพบว่า กระแสน้ำเชี่ยวกรากและรุนแรงมากขึ้นจนอาจเป็นอันตรายกับผู้ประสบภัยและเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งหลังจากนี้ตลอดทั้งคืนจะส่งผลให้ผู้ประสบภัยที่อยู่ภายในบ้าน รวมถึงผู้ที่ต้องการจะกลับเข้ามาอาศัย ไม่สามารถเดินทางเข้าออกบ้านได้ ส่วนในวันที่ 30 ก.ย. เรือทั้งหมดจะออกให้บริกาประชาชนในเวลา 07.00 น.เป็นต้นไป
บางระกำสังเวยน้ำท่วมเพิ่มอีก 1 ราย
เมื่อเวลา 17.30 น.พ.ต.ท.จรัญ บุญมี พนักงานสอบสวน(สบ.3)สภ.บางระกำ จ.พิษณุโลก รับแจ้งเหตุมีคนสูญหายไปที่บริเวณสะพานข้ามคลองน้ำ หมู่ 15 ต.บางระกำ ที่เกิดเหตุเป็นถนนสายพิษณุโลก-บางระกำ จุดดังกล่าวมีอุโมงค์น้ำรอดใต้ถนน ซึ่งเป็นทุ่งนาที่ถูกน้ำท่วมขังมานานกว่า 1 เดือน และมีกระแสน้ำที่เชี่ยว ส่วนผู้ที่สูญหายคือนายปานดล ศรีปาน อายุ 17 ปี ภูมิลำเนาเดิม จ.ระยอง
จากการสอบสวนนายบุญธนัท บัวคำ อายุ 16 ปี เพื่อนของผู้สูญหายให้การว่า ตนเองกับนายปานดล พร้อมกับเพื่อนร่วมทั้งหมด 4 คน ได้ขับรถจักรยานยนต์มาดูน้ำที่สะพานดังกล่าว ก่อนที่ทุกคนจะชักชวนกันลงเล่นน้ำบริเวณดังกล่าว ขณะที่ทุกคนว่ายน้ำท่ามกลางกระแสน้ำที่เชี่ยว ก่อนเกิดเหตุทั้งหมดได้ว่ายน้ำไปเกาะท่อน้ำประปา ซึ่งอยู่ห่างจากถนนประมาณ 15 เ มตร จากนั้นตนเองพร้อมกับเพื่อนได้ว่ายกลับเข้าหาฝั่งโดยที่นายปานดล ว่ายอยู่หลังสุด
ต่อมาเมื่อทุกคนขึ้นขึ้นฝั่งได้เหลือนายปานดลที่ลอยคออยู่ในน้ำ ได้ร้องตะโกนว่า ไม่ไหวแล้วช่วยด้วย ก่อนที่จะจมน้ำหายไปตนพร้อมเพื่อนๆได้พยายามกระโดดลงไปช่วยแต่ก็ไม่สามารถช่วยเหลือไว้ได้ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานเจ้าหน้าที่นักประดาน้ำช่วยค้นหาร่างของนายปานดล ซึ่งใช้เวลานานอยู่พอสมควรแต่ก็ไม่พบร่างของผู้สูญหาย
"คมชัดลึก"ช่วยผู้ประสบภัยดินถล่มน้ำปาด
"คมชัดลึก" ช่วยผู้ประสบภัยดินถล่มน้ำปาด-อุตรดิตถ์ ที่นำโดยนายเสด็จ บุนนาค บก.หน้า 1 นสพ.คมชัดลึก และ อ.บุญรักษา ปัญญายืน ผู้ช่วยอธิการบดี ม.เนชั่นวิทยาเขตโยนกลำปาง พร้อมด้วยอาจารย์ นักศึกษาชมรมอาสาคมชัดลึกแทนคุณแผ่นดิน ชมรมจิตอาสาและบำเพ็ญประโยชน์ ม.เนชั่น วิทยาเขตโยนกลำปาง ได้นำสิ่งของ ข้าวสารอาหารแห้ง น้ำดื่ม จำนวนกว่า 1,000 ชุด ไปมอบให้ผู้ประสบภัยน้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม ต.น้ำไผ่ อ.น้ำปาด
จุดแรกที่นำความช่วยเหลือไปให้คือ ที่บ้านห้วยเดื่อ หมู่ 2 ต.น้ำไผ่ โดยมีผู้นำท้องถิ่นเป็นตัวแทนรับมอบ จากนั้นได้เดินทางต่อไปยังบ้านต้นขนุน หมู่ 3 นายพิชิตพล คำภาปล้อง กำนันตำบลน้ำไผ่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ได้นำคณะดูจุดที่เกิดดินโคลนถล่มบ้านต้นขนุน หมู่ 3 ซึ่งเป็นจุดที่เสียหายมากที่สุดมีบ้านเสียหาย 33 หลัง เสียชีวิต 6 รายสูญหาย 1 ราย ก่อนรับมอบสิ่งของ นำไปมอบเพื่อบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยบ้านต้นขนุน และถวายพระสงฆ์ที่จำพรรษาที่วัดต้นขนุน
สำหรับการเดินทางไปยังหมู่ 4 บ้านห้วยคอมและหมู่ 5 บ้านห้วยเนียม ขบวนรถตู้ ไม่สามารถขับผ่านสะพานแบริ่ง เชื่อมระหว่างบ้านต้นขนุน หมู่ 3 ไปยังสองหมู่บ้านได้ ต้องใช้รถกระบะในการเดินทาง เพื่อนำสิ่งของส่งมอบให้ โดยมีนายหัสดิน อินยา นายก อบต.น้ำไผ่ เป็นตัวแทนรับมอบ ก่อนที่คณะจะเดินทางกลับ เพื่อเตรียมนำสิ่งของไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ จ.สุโขทัยต่อไป
ย่านเวียงกุมกามอ่วมน้ำท่วมสูงระดับอก
เมื่อเวลา 13.30 น. ที่กองบิน 41 นาวาอากาศเอกวิธธูร ขำเจริญ รองผู้บังคับการกองบิน 41 พร้อมด้วยผู้นำสิ่งของบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ได้เดินทางด้วยรถยีเอ็มซี พร้อมด้วยข้าวกล่อง 300 กล่อง และน้ำดื่มกว่า 300 แพค และขนมปังอีกจำนวนหนึ่ง เดินทางลงพื้นที่บ้านช้างค้ำ หมู่ 11 ต.ท่าวังตาล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีนายทหารจากกองบิน 41 กว่า 20 นาย คอยให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับน้ำท่วมตั้งแต่เวลาประมาณ 08.30 น.
เมื่อไปถึงจุดดังกล่าวพบว่าปากทางเข้าหมู่บ้านระดับน้ำได้ท่วมขึ้นสูงกว่าครึ่งเอว บางจุดท่วมสูงถึงหน้าอก รถยนต์และรถจักรยานยนต์ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ บ้านชั้นเดียวถูกน้ำเข้าท่วมบางหลังไม่สามาร่าถอยู่ได้ ซึ่งตั้งแต่ช่วงเช้าทหารได้นำเรือท้องแบนไปอพยพผู้เดือดร้อนออกมาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กและคนชรา แต่อีกส่วนหนึ่งก็ยังคงอยู่ในบ้าน เพราะเกรงว่าทรัพย์สินจะได้รับความเสียหาย โดยช่วงเช้าที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บจากงูกัด 1 ราย และยังพบว่าเด็กถูกเศษแก้วบาด แต่ตอนนี้ทั้งสองอาการปลอดภัยแล้ว
นอกจากนี้ ในหมู่บ้านดังกล่าวยังมีบ้านเด็กกำพร้าปิยะวัตร มีนักเรียนกว่า 20 คนติดอยู่ จึงขอความช่วยเหลือนำเด็กออกมาด้านนอกอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวยังได้มีการอพยพผู้ที่อาศัยภายในหอพักชั้นเดียวถูกน้ำท่วมเกือบถึงอกไม่สามารถอยู่ภายในห้องได้ต้องนั่งคอยอยู่บนหลังคา ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารก็ได้ให้ความช่วยเหลือออกมาแล้ว ทั้งนี้ ชาวบ้านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าน้ำท่วมครั้งนี้หนักหนามาก ปกติหมู่บ้านนี้ไม่เคยเกิดน้ำท่วม หนักสุดก็เมื่อปี 2538 แต่ปีนี้หนักหนาสาหัสที่สุด นอกจากนี้ ยังพบว่ามีสัตว์มีพิษทั้งงู แมลงป่อง เป็นจำนวนมากเกรงว่าบุตรหลานจะได้รับอันตราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านบริเวณด้านในบ้านช้างค้ำจำนวนมากขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม ร้องขอให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐเร่งให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว ไม่สามารถเดินทางออกมาได้ เพราะน้ำท่วมค่อนข้างสูง การสัญจรไปมาทำได้ลำบาก
ด้านนาวาอากาศเอกวิธูร เปิดเผยว่า กองบิน 41 ได้เปิดศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองบิน 41 (ศบภ.บน.41) รับบริจาคสิ่งของ น้ำดื่ม อาหารสดและอาหารแห้ง ซึ่งจะนำไปให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนตั้งแต่วานนี้ (29 กันยายน) โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 100 นายรถเล็ก รถยีเอ็มซี เรือ และรถบรรทุกจำนวน 3 คัน สับเปลี่ยนหมุนเวียนคอยให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
"ตอนนี้กำลังทหารของเราพร้อม สิ่งของบริจาคก็ยังมีเข้ามาต่อเนื่อง แต่ตอนนี้ติดขัดปัญหาเรื่องการประสานงานให้ความช่วยเหลือ ไม่ทราบว่ามีจุดไหนได้รับความเดือดร้อน จึงอยากให้มีการประสานงานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวบ้านได้อย่างทันท่วงที" นาวาอากาศเอกวิธูร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บริเวณวงแหวนรอบกลาง หน้าโกลบอลเฮ้าส์ ศูนย์การค้าวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่ บริเวณอ.สารภี ถนนทั้งสองด้านถูกน้ำท่วมสูงกว่า 40 เซนติเมตร รถยนต์สัญจรไปมาลำบาก ขณะที่บริเวณสี่แยกหนองหอย ต้องปิดการจราจรเพราะระดับน้ำท่วมขึ้นสูงกว่า 1 เมตร รถยนต์สัญจรไปมาไม่ได้ มีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ต้องใช้เรือท้องแบนให้ความช่วยเหลือในการอพยพและนำอาหาร น้ำดื่มเข้าไปให้
รพ.ส่งเสริมสุขภาพศูนย์อนามัยที่10ขนผู้ป่วยหนีน้ำ
น.พ.ชัยพร พรหมสิงห์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนายมัยที่ 10 จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า โรงพยาบาลได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมซึ่งระดับน้ำได้ไหลเข้าท่วมชั้นล่างของอาคารผู้ป่วยระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ทำให้ต้องใช้รถหกล้อขนาดใหญ่ส่งต่อผู้ป่วยจำนวน 5 ราย ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลนครพิงค์ เนื่องจากทั้งหมดต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและต้องได้รับการดูแลจากแพทยือย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามยังมีผู้ป่วยพักรักาาตัวอยู่ในดรงพยาบาลอีก 10 ราย ซึ่งแพทย์จะประเมินสถานการณ์ก่อนตัดสินใจอีกครั้ง แต่หากปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีกอาจต้องขนย้ายผู้ป่วยเพิ่มเติม ส่วนอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ได้ขนขึ้นไปไว้บนชั้นสองของอาคารผู้ป่วยแล้วจึงไม่มีอะไรเสียหายมาก
น.พ.ชัยพร กล่าวว่า ถึงแม้น้ำจะท่วมแต่ก็ยังเปิดให้บริการโดยมีแพทย์พยาบาลประจำอยู่ แต่ในส่วนของรถพยาบาลฉุกเฉินไม่สามารถใช้การได้ทั้งหมดเนื่องจากระดับน้ำสูง หากผู้ป่วยที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงจำเป็นต้องใช้เรือเดินทางเข้ามาเอง
คาดเชียงใหม่สูญโอกาสทางการค้าทั้งระบบ3พันล้าน
นายประพันธ์ สุจริตพานิช รองผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกรุงเทพจำกัด สำนักงานใหญ่ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่ครั้งนี้ ส่งผลกระทบให้ภาคธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่เกิดการชะงัก โดยคนซื้อไม่ออกจากบ้านมาซื้อสินค้าและร้านค้าในโซนสำคัญเช่นไนท์บาร์ซ่า ช้างคลาน ตลาดวโรรส ตลาดต้นลำไย และ ตลาดเมืองใหม่ ต้องปิดการค้าขายทำให้เกิดความไม่สะดวกในการซื้อขาย จึงคาดว่าปีนี้การสูญเสียโอกาสทางการค้าอันเกิดจากน้ำท่วมครั้งนี้จะไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท โดยเฉพาะในย่านการค้าสำคัญอย่างตลาดวโรรส ตลาดต้นลำไย และ ตลาดเมืองใหม่ น่าจะมีผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 3 พันราย ต้องประสบปัญหากับการซื้อขายที่น้อยลง นอกจากนี้ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งในโซนน้ำท่วมทั้งหมดต่างได้รับผลกระทบการทำธุรกรรมทางการเงินลดน้อยลง
หอการค้าฯเปิดบัญชีระดมทุน-รับบริจาคช่วย
นายณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้าจ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ได้ส่งผลกระทบไปยังย่านธุรกิจการค้าสำคัญของจ.เชียงใหมา สร้างความเสียหายให้ทรัพยฺสิน สินค้า และการขาดโอกาสทางการค้า จึงคาดว่าตัวเลขความเสียหายไม่น่าจะต่ำกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งความเสียหายด้านเศรษฐกิจอาจจะมากกว่านี้ต้องรอประเมินสถานการณ์อีกครั้งในวันพรุ่งนี้ และคาดว่าหากไม่มีน้ำเหนือเข้ามาสมทบปัญหาน้ำท่วมในจ.เชียงใหม่จะคลี่คลายภายใน 3 - 5 วัน และภาคเอกชนและจังหวัดเชียงใหม่จะร่วมประเมินสถานการณ์น้ำท่วมและความเสียหายทางธุรกิจกับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีช่วย่วาการกระทรวงการคลัง
อย่างไรก็ตามหอการค้าฯได้ระดมทุนผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก บุคลภายนอก นำไปซื้ออาหารแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัยโดยเปิดจุดรับบริจาคที่โครงการนิ่มซิตี้ เดลี สาขาแอร์พอร์ต และเปิดบัญชีรับบริจาคด้วย
"บรรหาร"ดูน้ำท่วมอุทัยฯโปรยยาหอมจะเร่งทำให้น้ำลด
นายชุมพล ศิลปะอาชา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย นายบรรหาร ศิลปะอาชา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ลงพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี เพื่อนำถุงยังชีพจำนวน 1,000 ชุด มอบช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย ที่หอประชุมโรงเรียนวัดหลวงราชาวาส โดยนายบรรหาร ได้ชี้แจงกับประชาชนถึงภาวะอุทกภัยหนักที่เกิดขึ้นกับจังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดภาคกลาง ในขณะนี้ว่า เกิดจากภาวะน้ำฝนที่ปริมาณมากเหมื่อนกับประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ กอปรกับอุทัยธานี เป็นพื้นที่รับน้ำไหลผ่านจากแม่น้ำ ปิง วัง ยม น่าน ที่ไหลรวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา บวกกับ แม่น้ำสะกกรัง ที่ไหลผ่านตัวเมือง อย่างไรก็ตามเชื่อว่ารัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะได้มีการวางแผนแก้ไข่อย่างเร่งด่วน
จากนั้น นายบรรหาร และนายชุมพลได้ลงเรือนตรวจสถานการณ์น้ำท่วมตัวเมืองอุทัยธานี และโบกมือทักทายกับประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในเขตเทศบาลเมืองอุทัยธานี พร้อมยาหอมว่า จะเร่งหาทางช่วยให้น้ำท่วมลดลงในเร็ววันนี้ ก่อนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ไปตรวจสถานการณ์อุทกภัยที่จังหวัดลพบุรีพร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ชัยนาททหารเร่งอพยพ นร. 865 คนหนีน้ำท่วม
พ.อ.(พิเศษ)กฤษฎ์ พรมเอียง รองผอ.รมน.จังหวัดชัยนาท กล่าวว่าจากสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดชัยนาทถนนทุกสายที่เข้าไปที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ชัยนาทถูกน้ำท่วมทุกสายจึงได้รับการประสานจากโรงเรียนให้นำรถ จีเอ็มซี ของศูนย์การบินทหารบกและศูนย์ปืนใหญ่จังหวัดลพบุรีเข้าไปรับนักเรียนจำนวน 865 คน ที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ชัยนาท ต.ธรรมมามูล อ.เมือง จ.ชัยนาท เพื่อนำออกมาส่งให้กลับผู้ปกครองที่สถานนีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดชัยนาทเพื่อกลับภูมิลำเนา
นายชาญชัย สุดใจ ผอ.โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ชัยนาทกล่าว่าขณะนี้ทางโรงเรียนได้ประสบปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมโดยรอบโรงเรียนรวมถึงทางเข้าออกในการติดต่อประสานงานต่างๆไม่สะดวกและอาจถูกตัดขาด สาเหตุมาจากปริมาณน้ำที่ยังเพิ่มขี้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจให้เกิดปัญหาน้ำเข้าโรงเรียนและประสพอันตรายต่อนักเรียนเพราะทรัพย์สินของทางราชการได้
โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนประจำเปิดสอนตตั้งแต่ ป1-ม.6 มีเด็กด้อยโอกาส 10 กลุ่มได้แก่เด็กกำพร้า เด็กเร่รอน เด็กยากจน เด็กชนกลุ่มน้อย จากจังหวัด อยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพรช สุพรรณบุรี เชียงใหม่ เชียงราย
ขุนอินทประมูลอ่วมน้ำท่วมระดมขนกระสอบทรายป้องพระนอน
สถานการณ์น้ำในจังหวัดอ่างทอง กระแสน้ำยังได้ทะลักเข้าท่วมพื้นที่ต่างๆของจังหวัด สร้างความเสียหายเพิ่มมากขึ้น โดยตอนนี้น้ำจากทุ่งอินทประมูลได้ไหลลงสู่ทุ่งลำท่าแดงจนเต็มพื้นที่ล้อมเขตเทศบาลเมืองอ่างทองซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจ บ้านเรือนประชาชนใน ต.เทวราช ต.ย่านซื่อ อ.เมือง จ.อ่างทอง ถูกน้ำท่วม ทางจังหวัด ทำการผันน้ำลงคลองชลประทานเพื่อให้น้ำในทุ่งลำท่าแดงออกกระจายไปสู่ทุ่งศาลาแดงทุ่งจำปาหล่อ ทุ่งคลองวัว
ส่วนที่บริเวณวัดขุนอินทประมูลที่ถนนหนองฉางขาดทำให้น้ำจากทุ่งอินทประมูลไหลทะลักเข้าท่วมตัววัดตอนนี้ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ต้องขนกระสอบทรายลงเรือไปทำการกั้นบริเวณรอบๆองค์พระนอน ที่น้ำเหลืออีกไม่ถึง 30 ซ.ม.ก็จะไหลเข้าฐานองค์พระแล้ว นอกจากนั้นบริเวณวัดขุนอิทประมูลก็ยังถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากเส้นทางสายอินทประมูล-ไชโย สำหรับวัดขุนอินทประมูล นั้นอยู่ในเขต ต.อินทประมูล อ.เมือง จ.อ่างทอง เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ มีชื่อว่า พระศรีเมืองทอง มีความยาววัดจากปลายพระเมาลีถึงปลายพระบาทได้ 50 เมตร องค์พระนอนมีพุทธลักษณะที่งดงาม
น้ำท่วมพ่นพิษทำเลือกตั้งท้องถิ่นเจอโรคเลื่อน
นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายจังหวัดได้ประสบอุทกภัยอย่างหนัก โดยเฉพาะภาคกลาง ซึ่งน้ำท่วมครั้งนี้คงจะส่งผลกระทบต่อการจัดการเลือกตั้งผู้บริหาร เนื่องจากตั้งแต่เดือนต.ค.-ธ.ค.ปีนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 6,000 แห่ง จะต้องจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น เช่น อบต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ที่นายกฯอบต.และสมาชิก หมดวาระในวันที่ 29 ก.ย.รวมทั้ง อบต.ศาลาลอย ต.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ประสบอุทกภัย
ดังนั้นตนจึงสั่งการให้ด้านบริหารการเลือกตั้งจังหวัดทำการสำรวจว่า พื้นที่ประสบอุทกภัยที่ใดที่มีปัญหาไม่อาจจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ โดยถ้าเป็นกรณีที่อปท.นั้นครบวาระก็ถือเป็นพฤติการณ์พิเศษที่กกต.อาจมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาให้มีการเลือกตั้งออกไปได้จนกว่าเหตุอุทกภัยจะกลับสู่ภาวะปกติ ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ.ศ.2545 มาตรา 7 หรือกรณีที่มีการประกาศให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งไปแล้วแต่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยซึ่งเป็นการไม่สะดวกที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะไปลงคะแนนเลือกตั้ง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ อปท.แห่งนั้นสามารถประกาศงดการลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่ประสบอุทกภัย แล้วรายงานต่อกกต.จังหวัดและคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)และจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งที่ประสบอุทกภัยได้ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 83 และอปท.ที่มีปัญหาประสบอุทกภัยซึ่งไม่อาจจัดการเลือกตั้งได้สามารถแจ้งเหตุดังกล่าวต่อกกต.เพื่อเลื่อนการลงคะแนนเลือกตั้งออกไปได้
ยันไม่ปรับจีดีพีหลังน้ำท่วม-ศก.โลกรุมเร้า
นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงผลกระทบจากน้ำท่วมและวิกฤติเศรษฐกิโลกจะมีการปรับตัวเลขจีดีพีหรือไม่ว่า “ตัวเลขยังไม่ออกเลยค่ะ เดี๋ยวให้สภาพัฒน์ชี้แจงดีกว่าค่ะ” เมื่อถามว่ามีข่าวว่าจะมีการปรับลดลง นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกันตรงนั้นเลย เดี๋ยวให้ทางสภาพัฒน์ชี้แจงตัวเลขดีกว่า
“ตรงนี้ขอความกรุณาเพราะว่ามันเป็นอะไรที่อ่อนไหวสำหรับภาพรวมเศรษฐกิจ ถ้ายังไม่มีตัวเลขที่แน่นอนก็ถือว่าไม่เป็นทางการจากรัฐบาล”นายกฯ กล่าว
“ยงยุทธ”เผยผู้ว่าฯแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่นำมาใช้พิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดที่ยังวิกฤตว่า รัฐมนตรีทุกคนต้องเร่งลงพื้นที่ดูแลปัญหาของประชาชน รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือและเยียวยา ซึ่งในส่วนของตนได้ลงพื้นที่ทุกวัน ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า กระทรวงยังไม่พอใจในหลายจังหวัดนั้น ต้องบอกว่า มันไม่ใช่ที่จะไปบอกว่า พอใจหรือไม่ แต่เป็นเรื่องการเห็นอกเห็นใจมากกว่า ที่ต้องเห็นใจฝ่ายผู้ปฏิบัติและฝ่ายพี่น้องประชาชนที่อยากให้มีการช่วยเหลือที่เร็วในขณะที่ผู้ปฏิบัติมีข้อจำกัดหลายเรื่อง แต่ยืนยันว่า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของผู้ว่าฯ จะไม่นำมาเป็นประเด็นหลักในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย เพราะเป็นเรื่องของสถานการณ์ฉุกเฉินคงจะมาติเตียนคงไม่ได้ มีทางเดียวคือ รู้สึกเห็นใจและต้องให้กำลังใจกัน
“ศอส.ได้มีการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด นายกฯสอบถามตลอดทุกวัน และได้กำชับให้รัฐมนตรีทุกคนลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วม ผมจะเน้นในพื้นที่ภาคใต้เป็นหลัก ซึ่งการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงของกระทรวงก็ยังไม่มีการพิจารณา เพราะอยากให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมก่อน”รมว.มหาดไทยกล่าว เมื่อถามว่า การประเมินสถานการณ์ดินโคลนถล่มและมีผู้เสียชีวิต มีปัญหาเกิดจากระบบแจ้งเตือนภัยบกพร่องหรือไม่ นายยงยุทธ กล่าวว่า ยอมรับว่า ปัญหาภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่ยากต่อการควบคุม มีทางเดียวคือ เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วต้องเข้าไปดูแลประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์ อย่าให้ประชาชนมองว่าถูกราชการทอดทิ้ง ส่วนจะให้ไปควบคุมสภาพดินฟ้าอากาศคงไม่สามารถควบคุมได้ ยอมรับว่า ยังมีจุดที่ทางการเข้าไปไม่ถึง เนื่องจากมีระดับน้ำท่วมสูงหรือถนนถูกตัดขาดแต่ก็อาจจะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เพราะทุกฝ่ายได้ระดมกำลังกันเข้าไปช่วยเหลือในทุกพื้นที่แล้ว
“เลขานายกฯ”ประสานทหารพัฒนาลงพื้นที่ช่วยปชช.
นายบัณฑูร สุภัควณิช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังอย่างเร่งด่วนว่า เบื้องต้นได้หารือกับทางกองทัพโดยติดต่อผ่านไปยัง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสนาธิการทหารบก และพล.อ.ดุลกฤต รักษ์เผ่า ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา โดยให้นำเครื่องมืออุปกรณ์ของกองทัพมาสมทบช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และเรื่องของงบประมาณนั้นรัฐบาลได้เตรียมจัดงบกลางฉุกเฉินให้เต็มที่ สำหรับแผนงานได้เตรียมหารือกับกรมทหารพัฒนาที่จะมาพบในเวลา 15.30 น.วันที่ 29 ก.ย.นี้เพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางการช่วยเหลือ
นายบัณฑูร กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณปี 2555 ทางรัฐบาลได้เตรียมเสนอปรับเพิ่มงบประมาณให้กับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) เนื่องจากประเทศไทยจะประสบปัญหาภัยพิบัติถี่ขึ้น เพราะสถานการณ์โลกร้อนจะทำให้เกิดวาตภัยบ่อยครั้ง ดังนั้นการเพิ่มงบประมาณเพื่อให้ ปภ. นำไปจัดเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ทั้งการจัดหาอุปกรณ์การแก้ปัญหาในการช่วยเหลือ หรือ การจัดสรรเช่าวัสดุอุปกรณ์ในการช่วยเหลือ เช่น รถไฟส่องสว่าง แต่อุปกรณ์บางอย่างไม่ควรต้องเช่า แต่ให้จัดซื้อ เพราะมีความจำเป็นในการใช้งาน และเป็นการป้องกันปัญหาทุจริตคอรัปชั่น
นายบัณฑูร กล่าวอีกว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ประสานงานกับรัฐบาลจีน เพื่อขอความช่วยเหลือจัดหาเรือพลาสติกท้องแบน เนื่องจากรัฐบาลจัดซื้อและผลิตไม่ทัน อีกทั้งราคาในตลาดขณะนี้ค่อนข้างสูง นอกจากนี้สถานการณ์น้ำท่วมทำให้อุปกรณ์การป้องกันน้ำท่วมมีราคาสูง โดยเฉพาะกระสอบทราย ที่ขึ้นราคาถึงใบละ 300 บาท และส่วนหนึ่งยอมรับว่าที่มาของปัญหานั้นเกิดจากเจ้าหน้าที่หาช่องทางทุจริต ดังนั้นหากประชาชนพบเห็นสามารถแจ้งมายังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ปปท.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และกรมบัญชีกลาง
ขณะเดียวกันทางรัฐบาลได้กำชับให้ท้องถิ่นเข้าไปดูแลการดำเนินงานภายในองค์กรส่วนท้องถิ่น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการทุจริตขึ้น และสิ่งสำคัญประชาชนต้องช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐ นายบัณฑูร กล่าวต่อไปว่า นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณช่วยเหลือเร่งด่วน พร้อมกับให้มีการแก้ไขระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา เช่น การจัดซื้อถังน้ำ เดิมที่ระเบียบระบุให้สามารถทำได้ในฤดูแล้ง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมประชาชนจำเป็นต้องบริโภคน้ำ จึงมีความต้องการถังน้ำ รวมถึง นายกฯ ยังกำชับให้แต่ละจังหวัดที่ประสบอุทกภัยสามารถเพิ่มงบเลิกจ่ายได้ จากเดิม 50ล้านบาท ส่วนจะเป็นจำนวนเท่าไหร่นั้นจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความรุนแรงของภัยพิบัติ เนื่องจากสถานการณ์ภัยพิบัติถี่มากขึ้น และปัญหามีความสลับซับซ้อน
นายบัณฑูร กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันว่า จะต้องมีการวางแผนและยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาระยะยาว แต่ขณะนี้สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือ จ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้แก่พี่น้องประชาชนให้รวดเร็ว ทั้งที่เป็นความเสียหายครัวเรือนละ 5พันบาท หรือ ชดเชย นาข้าวไร่ละ 2,222 บาท อย่างไรก็ตามประชาชนไม่ต้องกังวลหากในพื้นที่เดิมประสบปัญหาวาตภัยซ้ำสามารถรับความช่วยเหลือได้เพิ่มเติม แต่ที่สำคัญต้องเข้ากับหลักเกณฑ์และระเบียบการจ่ายชดเชยทั้งนี้ทางรัฐบาลได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน เข้ามาดูแลช่วงฟื้นฟูเพราะทางรัฐบาลต้องการให้มีการจ้างงานในพื้นที่ เช่นการซ่อมแซมทาสี ซ่อมถน