ข่าว

จับตาบัตรเครดิตชาวนาแบ่งเค้กพันล.

จับตาบัตรเครดิตชาวนาแบ่งเค้กพันล.

02 ต.ค. 2554

บัตรเครดิตชาวนาป่วนจับตาประมูลใหม่ล็อกสเปกเค้กพันล้าน : รายงานพิเศษ โดย ณัฐฎ์ชิตา เกิดแดง

           การผลักดันให้มีบัตรเครดิตเกษตรกรครั้งแรกในประเทศไทย ตามที่รัฐบาลเพื่อไทยประกาศเป็นนโยบายหาเสียงไว้นั้น ดูเหมือนจะมีความยุ่งยากตามมาเสียแล้ว หลังจากนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตัดสินใจให้ยุติกระบวนการสรรหาเอกชนเข้ามาทำบัตรเครดิต ทั้งที่ ธ.ก.ส.เตรียมนำเสนอผลการคัดเลือกเข้าสู่ที่ประชุมในครั้งนี้แล้ว โดยนายธีระชัยอ้างว่า จากการหารือกับน.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เห็นตรงกันว่า ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบในการทำบัตรเครดิต แต่ควรทำแบบชัดเจนและมั่นคงในระยะยาว

               แม้เหตุผลในการชะลอโครงการออกไปเพื่อต้องการทบทวนรูปแบบและความเหมาะสม แต่ลึกๆ แล้วมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะการประมูลมีปัญหาการร้องเรียน ทั้งส่วนของผู้ไม่ผ่านเกณฑ์และผู้ที่ผ่านเกณฑ์ไปร้องเรียนนายกรัฐมนตรีว่าเป็นผู้สมควรได้รับคัดเลือก เพราะมีประสบการณ์เหนือคู่แข่ง และยังเป็นผลมาจากการเจรจาต่อรองราคากับเอกชนที่ผ่านเกณฑ์ตามร่างทีโออาร์ 3 ราย เพื่อให้ปรับลดราคาลงมา แต่ทางเอกชนไม่ยินยอม จึงตัดสินใจล้มโครงการ เพื่อเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่การเขียนร่างทีโออาร์จนคัดเลือกเอกชนเข้ามารับงาน

               จึงไม่แปลกที่จะมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า งานนี้น่าจะมีการปรับลดคุณสมบัติลงจากเดิม ซึ่งเข้มงวด เน้นบริษัทที่มีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องเป็นบริษัทที่น่าเชื่อถือ งานนี้คงต้องจับตาดูว่า บริษัทที่ได้รับคัดเลือกมาจากวิธีพิเศษ โดยการเปรียบเทียบราคาที่เสนอมาต่ำสุดนั้น จะเอื้อประโยชน์หรือล็อกสเปกไว้ให้ใครหรือไม่ เพราะโครงการนี้มีมูลค่าถึง 1,000 ล้านบาท

               สำหรับคุณสมบัติบัตรเครดิตเกษตรกรนั้น ควรเป็นบัตรที่ใช้ง่าย ไม่ต้องมีความซับซ้อนมากเกินไป จึงต้องลงทุนให้เป็นบัตรสมาร์ทการ์ด ควรปรับให้มีเพียงแถบแม่เหล็ก คล้ายบัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเดบิต มีชิพข้อมูลของเกษตรกรไว้ใช้รูดซื้อปัจจัยการผลิต


ดึงบ.บัตรกรุงไทยร่างทีโออาร์

               แหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส.ระบุว่า เป้าหมายของรัฐบาลต้องการให้เกษตรกรมีบัตรเครดิตไว้รูดซื้อสินค้าได้ยามจำเป็น มีเพียงแถบแม่เหล็กคล้ายบัตรเอทีเอ็มเท่านั้น แต่เอกชนที่ยื่นซองประมูลเข้ามา 5 ราย และที่ผ่านเกณฑ์ตามร่างทีโออาร์ 3 รายนั้น เสนอมาเป็นบัตรสมาร์ทการ์ดมีซิม หรือชิพเหมือนบัตรเครดิตทั่วไปทุกราย ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตค่อนข้างแพงกว่าเดิมถึง 2-3 เท่า หรืออยู่ที่ใบละ 30 บาท จากบัตรที่มีเพียงแถบแม่เหล็กจะมีต้นทุนเพียง 10 บาทเท่านั้น

               “นายกฯและรมว.คลังมองว่า ราคาที่เสนอมาแพงเกินไป หากต้องทำให้เกษตรกร 3 ล้านรายจะต้องใช้เงินค่อนข้างสูง จึงต้องการให้ปรับลดงบที่ตั้งไว้ 1,000 ล้านบาท ลงมาให้มากที่สุด เพราะธ.ก.ส.เองมีความจำเป็นต้องใช้เงินในการรับจำนำข้าวจำนวนมากอยู่แล้ว หากมีการปรับใหม่ทั้งบัตรและเครื่องรูดบัตรก็อาจประหยัดงบไปได้ครึ่งหนึ่ง” แหล่งข่าว ระบุ

               ทั้งนี้ จากการล้มการประมูลบัตรเครดิตแบบเดิม ทำให้กำหนดที่จะใช้ในพื้นที่นำร่องใน 5 ได้แก่ เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา และอุดรธานี จังหวัดละ 1,000 ใบ รวม 5,000 ใบ ในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ ต้องเลื่อนไปก่อน แต่นายธีระชัยยืนยันว่าจะใช้ได้ทันในปีการผลิตข้าวนาปีฤดูกาลหน้า ที่จะเริ่มเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2555 อย่างแน่นอน โดยเร็วสุดเกษตรกรน่าจะรับบัตรได้เดือนมกราคม 2555

               อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากธ.ก.ส.ระบุว่า ในสัปดาห์หน้าจะเริ่มต้นกระบวนการพิจารณารายละเอียดของรูปแบบบัตร และได้เจรจาให้บริษัทบัตรกรุงไทยเข้ามาช่วยร่างทีโออาร์ใหม่ โดยอาจปรับคุณสมบัติของบัตรไปที่การมีแถบแม่เหล็ก ซึ่งต้องมีระบบป้องกันการนำไปแอบอ้างใช้หรือปลอมแปลงบัตรด้วย โดยอาจจะต้องมีข้อมูลของตัวเกษตรกรและมีการตรวจสอบได้ว่าตัวจริงหรือไม่ ซึ่งเดิมมองว่างบสำหรับการจัดทำบัตร 360 ล้านบาทนั้น น่าจะลดลงไปได้

              ส่วนตัวเครื่องที่ ธ.ก.ส.ต้องจ่ายค่าเช่าในการนำไปติดตั้งตามร้านค้าเครือข่ายที่ขึ้นทะเบียนไว้ 3,000 แห่งทั่วประเทศ เป็นเวลา 3 ปี วงเงิน 648 ล้านบาท ก็น่าจะมีการปรับเปลี่ยนใหม่ จากเครื่องรูดบัตรเครดิตทั่วไปเป็นเครื่องรูดบัตรสินเชื่อของธ.ก.ส.โดยเฉพาะ ซึ่งอาจจะทันสมัยน้อยกว่า ราคาน่าจะถูกลงเช่นกัน จึงอาจจะลดงบประมาณลงได้ครึ่งหนึ่ง แต่ระยะเวลาการคัดเลือกเอกชนเข้ามาทำโครงการนั้น มองว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน การเริ่มใช้บัตรสินเชื่อดังกล่าวจึงอาจไม่ทันเดือนมกราคม 2555 ตามที่นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังต้องการแจกให้เป็นของขวัญปีใหม่ของเกษตรกร โดยอย่างเร็วสุดน่าจะเป็นเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า


เล็งขยายกรอบใช้เงินในบัตร


               นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส.ระบุว่า ผู้บริหาร ธ.ก.ส.ต้องมาหารือถึงขั้นตอนการเปิดประมูลใหม่อีกครั้ง แต่มั่นใจว่าเกษตรกรจะได้ใช้ทันเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูการทำนารอบใหม่ โดยยืนยันว่า การคัดเลือกเอกชนรอบใหม่นี้ยังยึดหลักความโปร่งใสและเปิดกว้างให้ทุกราย รวมทั้งรายเก่าที่เสนอตัวเข้ามาก่อนหน้านี้ด้วย โดยความล่าช้าไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก เพราะตามแผนเดิม ธ.ก.ส.จะนำบัตรเครดิตมาใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้าอยู่แล้ว แต่เมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันก็เลยเร่งทำโครงการให้เร็วขึ้น

               อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส.ต้องพิจารณาด้วยว่า การเปิดใช้ระบบบัตรเครดิตสำหรับชาวนาควรมีความสอดคล้องกับการเปิดใช้ระบบคอร์แบงกิ้งของ ธ.ก.ส. ที่จะใช้ในเดือนพฤษภาคม 2555 ด้วยหรือไม่ เพราะหากใช้บัตรเครดิตที่ว่าจ้างเอาท์ซอสอาจมีปัญหากับระบบคอร์แบงกิ้ง ซึ่งเรื่องนี้ต้องพิจารณาในเรื่องเทคนิคอีกครั้งว่า ระบบทั้งสองจะสามารถปรับการใช้งานร่วมกันได้ในอนาคตหรือไม่ 

               นายอรุณ เลิศวิไลย์ ผู้ช่วยผู้จัดการธ.ก.ส.ยืนยันว่า รูปแบบของบัตรอาจเปลี่ยนไป แต่เงื่อนไขการใช้บัตรยังเป็นไปตามเดิม โดยแต่ละปีธ.ก.ส.จะปล่อยกู้ให้เกษตรกร 60% ของมูลค่าผลผลิตที่ขายของเกษตรกรผู้กู้แต่ละรายและได้ปรับเพิ่มเป็น 70% เพื่อให้มีวงเงินเพิ่มขึ้นไปใช้เป็นเครดิตในการซื้อปัจจัยการผลิต 3 ประเภท คือ เมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ซึ่งส่วนของเครดิตนี้จะรวมอยู่ในวงเงินใหญ่ด้วย แต่มีสัดส่วน 30% เช่น วงเงินกู้ส่วนใหญ่ของลูกค้าจะอยู่ที่ 1 แสนบาท ก็จะเป็นวงเงินในบัตรเครดิตประมาณ 2-3 หมื่นบาท

               “บัตรเครดิตน่าจะมีอายุการใช้งานประมาณ 3 ปี เท่ากับการเช่าใช้เครื่องรูดบัตร หลังจากนั้นคงต้องประเมินโครงการ หากสำเร็จดีก็สามารถต่ออายุหรือเปลี่ยนบัตรใหม่ได้ รวมถึงการพิจารณาขอบเขตการใช้บัตรอาจต้องมีการขยายวงเงินในบัตร เพื่อให้ครอบคลุมทั้งการซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งถือเป็นปัจจัยการผลิตอย่างหนึ่ง รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในระยะต่อไป”

              อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้มีหนังสือจากบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ติดต่อเข้ามาเป็นรายแรก โดยมีความต้องการให้ ธ.ก.ส.ขยายวัตถุประสงค์การใช้บัตรเครดิต ในส่วนของการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตของเกษตรกร และสามารถมาติดตั้งเครื่องอ่านได้ที่ปั๊มหรือร้านค้าที่จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย 


ชาวนาฉะรัฐบาลเอาใจไม่ตรงจุด

              นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย ระบุว่า การที่รัฐบาลเลื่อนระยะเวลาการแจกบัตรเครดิตออกไปเป็นต้นเดือนมกราคมปีหน้า ไม่ได้มีผลกระทบกับเกษตรกร เพราะปกติเกษตรกรจะได้รับสินเชื่อจาก ธ.ก.ส.เต็มวงเงินอยู่แล้ว สามารถนำเงินสดไปซื้อปัจจัยการผลิตได้อยู่แล้ว หากรัฐบาลจะทำก็ควรพิจารณาให้รอบคอบ ไม่ให้เกิดปัญหากับเกษตรกรในภายหลัง และการให้วงเงินเพิ่มนั้น ในทางกลับกันก็เป็นการส่งเสริมให้ชาวนามีหนี้สินเพิ่มขึ้นไปอีก

               “เกษตรกรไม่เคยพูดว่าต้องการบัตรเครดิต และไม่เห็นว่าจำเป็นต้องใช้ แต่เมื่อรัฐบาลคิดเองทำเอง ออกเป็นแคมเปญหาเสียงไว้แล้วก็คงต้องเดินหน้าทำต่อไป ซึ่งมองว่าเป็นการเอาใจเกษตรกรไม่ตรงจุด จริงๆ แล้วหากเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์ ได้ไม่คุ้มเสียและยังสิ้นเปลืองงบเกือบพันล้านบาทก็น่าจะยกเลิกไปดีกว่า เงินส่วนนี้สามารถนำมาพัฒนาสร้างความมั่นคงให้เกษตรกรได้ในระยะยาว”