ข่าว

สั่ง2นิคมอุตฯกรุงเก่าระวังน้ำท่วม

สั่ง2นิคมอุตฯกรุงเก่าระวังน้ำท่วม

06 ต.ค. 2554

ผู้ว่ากนอ. สั่งการให้ นิคมอุตฯที่อยู่ในข่ายเสี่ยงวิกฤตน้ำท่วมเพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง หวั่นกระทบไปถึงการลงทุนที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท "สุขุมพันธุ์" ทวิต เตรียมจับมือกรมชลฯสร้างแนวดินกั้นน้ำริมคลอง

           6ต.ค.2554 นางมณฑา ประณุทนรพาล ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กนอ. ได้แจ้งเตือนผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และนิคมบ้านหว้า (ไฮเทค) จ.พระนครศรีอยุธยา ให้เตรียมความพร้อมรับมือกับภัยน้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 2 แห่ง  มีโรงงานอุตสาหกรรมรวม  233 ราย มูลค่าลงทุนรวม 125,312 ล้านบาท  จ้างงานรวม 111,186 คน  อยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง เพราะระดับน้ำขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว แต่ที่ผ่านมาสามารถทำแนวสกัดไว้ได้ น้ำยังไม่สามารถเข้าไปถึงพื้นที่นิคมฯหลังจากผู้เกี่ยวข้องมีการป้องกันอย่างเต็มที่

            สำหรับสวนนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน เป็นนิคม ร่วมดำเนินงานระหว่าง กนอ.กับบริษัทที่ดินบางปะอิน จำกัด เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2532 ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.บางปะอิน พื้นที่โครงการรวม 1,962 ไร่ ซึ่งมีโรงงานทั้งสิ้น 90 ราย จำนวนแรงงานทั้งหมด 60,000 คน มูลค่าลงทุน 60,000 ล้านบาท ประเภทอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์,อุตสาหกรรมยาง พลาสติก เป็นต้น

            ส่วนนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค เป็นนิคม ร่วมดำเนินงานระหว่าง กนอ. กับบริษัท ไทยอินดัสเตรียลเอสเตท จำกัด เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2532 ตั้งอยู่บริเวณถนนสายเอเซีย-นครสวรรค์ อ.บางปะอิน พื้นที่โครงการรวม 2,379 ไร่ มีโรงงานทั้งหมด 143 ราย มีแรงงานทั้งสิ้น 51,186 คน มูลค่าลงทุน 65,312 ล้านบาท ประเภทอุตสาหกรรมประเภทอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์, อุตสาหกรรมยาง พลาสติก  

            นายประยูร ติ่งทอง อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร นิคมฯแห่งนี้  ร่วมดำเนินงานระหว่าง กนอ. กับบริษัท สหรัตนนคร จำกัด เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2537   ตั้งอยู่ในอำเภออำเภอนครหลวง พื้นที่โครงการรวม 2,050 ไร่ พัฒนาในระยะแรก 1,441 ไร่   ปัจจุบันมีโรงงานทั้งสิ้น 46 โรง จำนวนแรงงานทั้งสิ้น 14,696 คน มูลค่าการลงทุน 9,472 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นประเภทอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์, อุตสาหกรรมยาง พลาสติก  ,เครื่องหนัง ,เครื่องแต่งกาย   สัดส่วนการลงทุน ญี่ปุ่น 70% ไทย 20%   ส่วน 10 % เป็นการถือหุ้นในประเทศเอเชีย ยุโรป

            ส่วนนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อำเภออุทัย ขณะนี้โรงงานยังไม่ได้ปิดทำการ   ขณะนี้ได้เร่งเสริมคันดินให้สูงขึ้นจากเดิมที่ทำคันดินไว้แล้วรอบนิคม  อยู่ในระดับความสูง5.10 เมตร โดยเพิ่มให้สูงเป็น 6.50 เมตร มั่นใจว่าจะมีความมั่นคงรับกับสภาพน้ำที่จะไหลเข้ามา

 

ผู้ว่าฯเตือนอีก3วัน อยุธยาจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติ


            นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา   เปิดเผยว่า  สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ทั้ง 16 อำเภอ   ของจังหวัดหรือคิดเป็นพื้นที่โดยเฉลี่ยร้อยละ 70  ถือว่ายังคงอยู่ในช่วงขั้นต้นของวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งที่เป็นห่วงในขณะนี้ก็คือมวลน้ำที่กำลังหลากมา  ซึ่งมวลน้ำในรอบนี้เป็นมวลน้ำที่มาจากแม่น้ำปาสัก แม่น้ำลพบุรี    คาดว่าจะทำให้ระดับน้ำในจังหวัดเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร  สิ่งที่ทำได้ในขณะนี้คือขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากเทศบาลเมืองอโยธยา เทศบาลพระนครนครศรีอยุธยา รวมถึงของจังหวัด อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง  เพื่อความพร้อมที่จะมีมากที่สุดต่อการรับมือ

            "ขณะนี้ผมได้สั่งให้เสริมคันกั้นน้ำ ทั้งที่เป็นแบบคันดินและกระสอบทรายโดยรอบเกาะเมือง  จากเดิมที่สูงอยู่ 50 เซนติเมตร  ให้เพิ่มความสูงไปจากเดิมอีก 50 เซนติเมตร หรือให้มีความสูงเฉลี่  1 เมตร   พร้อมกับเร่งซ่อมแนวกั้นน้ำที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งขณะนี้พบว่ามีแนวป้องกันน้ำได้รับความเสียหายกว่าร้อยละ 60 จากการถูกแรงดันน้ำพัดจนได้รับความเสียหาย" นายวิทยา กล่าว

 

"ยิ่งลักษณ์"ถกกรมชลฯรับมือน้ำเหนือจ่อท่วมกทม.


             น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงหมาดไทย นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) และนายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ได้เดินทางไปประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่จะส่งผลกระทบต่อลุ่มน้ำเจ้าพระยา และพื้นที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) ที่กรมชลประทาน

             นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธบิดีกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ ว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำในภาพรวมอยู่ในภาวะวิกฤต ซึ่งมีปริมาณน้ำมากกว่าปีที่แล้วเฉลี่ยร้อยละ 48 ขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำ ปิง วัง ยม และน่านที่ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ อยู่ที่ 4,578 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่ 3,622 ลูกบาศก์เมตร/วินาที อย่างไรก็ตาม ก่อนน้ำจะถึงเขื่อนเจ้าพระยาจะมีการผันน้ำเข้าคลองมะขามเฒ่าได้ 41 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งเกินความจุจากเดิมรับได้เพียง 35 ลูกบาศก์/ต่อวินาที

             นายชลิต กล่าวต่อว่า สำหรับการระบายน้ำออกทางด้านตะวันตกของกทม.นั้นจำเป็นต้องลดระดับน้ำลงเพราะจะทำให้น้ำในแม่น้ำน้อยไหลตลบเข้าท่วมในพื้นที่จ.อ่างทอง และอ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนสถานการณ์แม่น้ำท่าจีน จ.สุพรรณบุรี ที่ไหลผ่านประตูระบายน้ำพลเทพขณะนี้น้ำเกินความจุจำเป็นต้องระบายน้ำที่ไหลเข้ามาออกทั้งหมด และจำเป็นต้องมีการสั่งปิดคลองสาขาทั้งหมด เพราะจะกระทบกับจ.ลพบุรี อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแม่น้ำท่าจีนมีการเสนอให้ดำเนินการเช่นเดียวกับคลองลัดโพธิ์ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากมีกลุ่มอนุรักษ์ท่าจีนออกมาคัดค้าน เพราะเกรงจะกระทบสวนส้มโอที่ไม่ได้คุณภาพ ส่วนการซ่อมแซมประตูระบายน้ำบางโฉมศรีมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 40  ส่วนสถานการณ์ทิศตะวันออกจะผันไปยังคลองรังสิต ผ่านไปยังจ.ฉะเชิงเทราออกแม่น้ำบางประกง ซึ่งในภาพรวมได้ผันน้ำออกแล้ว 45.5 ล้านลูกบาศก์เมตร และได้มีนำเครื่องสูบน้ำมาช่วยเร่งระบายน้ำเต็มพิกัดแล้ว ขณะเดียวกันจะมีการประสานไปยังหน่วยบัญชาการทหารพัฒนามาช่วยขุดลอกคลองทั้ง 8 สาย

             ทั้งนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งโดยกำชับให้นายพระนายสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เตรียมรับมือพายุลูกใหม่ที่จะเข้ามาในอีกไม่กี่วันโดยให้เพิ่มแนวคันกั้นน้ำ และเคลื่อนย้ายประชา ชนไปที่ปลอดภัยและให้สอบถามความต้องการของประชาชนโดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมขังนาน เพื่อจัดหาสาธารณูปโภคให้เพียงพอ  และดำเนินการทุกวิถีทางในการดำเนินการช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นเรือหรือเฮลิคอปเตอร์ อย่างไรก็ตาม ตนจะให้นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรมเข้าไปดูแลเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆโดยเฉพาะในจ.พระนครศรีอยุธยาเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเพิ่มมากขึ้น และขอให้ทุกภาคส่วนประสานงานกันเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีระบบ และรวดเร็วที่สุด


เตือนปชช.ระวังมวลน้ำสองเขื่อนป่าสัก- ภูมิพล-น้ำทะเลหนุนกลางเดือน


             นายวิบูลย์  สงวนพงศ์  อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รองผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 28 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา นครนายก  ปราจีนบุรี  เชียงใหม่  ยโสธร  ร้อยเอ็ด ลำปาง  เลย และนครราชสีมา รวม 201  อำเภอ 1,486 ตำบล 11,208 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 826,377 ครัวเรือน 2,604,220 คน ผู้เสียชีวิต 244 ราย สูญหาย 3 ราย

             ส่วนพื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 7,528,805 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยง สัตว์น้ำ บ่อปลา 105,963 บ่อ สัตว์ได้รับผลกระทบ 8,511,689 ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้ รวม 182 สาย แยกเป็น ทางหลวง 43 สาย ใน 13 จังหวัด ทางหลวงชนบท 139 สายใน  23 จังหวัด

             ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่าง ๆ ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด  เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากและระดับน้ำล้นตลิ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะลุ่มน้ำปิง ที่ อ.เมือง จ.ตาก อ.บรรพตพิสัย  จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,263ลบ.ม./วินาที ลุ่มน้ำวัง ที่ อ.สามเงา อ.เมือง จ.ตาก ลุ่มน้ำยม ที่ อ.โพทะเล  อ.โพธิ์ประทับช้าง อ.สามง่าม จ.พิจิตร

             ลุ่มน้ำมูล ที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา อ.คูเมือง  อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ อ.ราษีไศล  อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ อ.ลำปลายมาศ อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ อ.เมือง  อ.พยุห์  จ.ศรีสะเกษ ลุ่มน้ำชีที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น อ.โกสุมพิสัย อ.เมือง จ.มหาสารคาม อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ลุ่มน้ำสะแกกรัง ที่ อ.เมือง จ.อุทัยธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 669 ลบ.ม./วินาที ลุ่มน้ำท่าจีน ที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

             สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 4,578ลบ.ม./วินาที เขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณไหลผ่าน 3,622 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 3,930 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำใน 10 จังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำ ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท  สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ยังอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำ 98 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำ 99 เปอร์เซ็นต์  เขื่อนแควน้อยมีปริมาณน้ำ 98 เปอร์เซ็นต์  เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำ 136 เปอร์เซ็นต์

             “ในระยะ 1-2 วันนี้ ประเทศไทยมีฝนตกกระจายถึงเกือบทั่วไปและมีฝนตกหนักบางแห่งทางด้านภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนัก โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี  ที่ อ.ขลุง  ตราด ที่ อ.เกาะช้าง  อ.บ่อไร่  ระนอง  ที่ อ.กระบุรี  อ.กะเปอร์ พังงา ที่ อ.กะปง อ.ท้ายเหมือง อ.ตะกั่วป่า ภูเก็ต ที่ อ.กระทู้ อ.เมือง ต้องเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม ขณะนี้เขื่อนภูมิพล และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีการระบายน้ำออกมาอย่างต่อเนื่อง จึงขอเตือนให้จังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ท้ายเขื่อนทั้งสองแห่ง เตรียมรับมือผลกระทบจากการระบายน้ำในระยะนี้ไว้ด้วย” นายวิบูลย์ กล่าว

             นอกจากนี้ขณะนี้มวลน้ำของทั้งสองเขื่อนใหญ่จะไหลมารวมกันในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างช่วงวันที่ 13-16 ต.ค. ซึ่งช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้การผลักดันน้ำออกสู่ทะเลเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงขอให้ประชาชนเตรียมรับมือภาวะน้ำล้นที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

              นายพิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า  การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ครอบครัวละ 5,000 บาท ได้แล้ว 86%. ขณะนี้ ได้เตรียมรับมือกับน้ำเหนือที่จะเข้าสมทบ คาดว่าจะไหลเข้าท่วม อ.เมือง จ.ตาก อีก2วันข้างหน้าและ จ.นครสวรรค์จะเข้าขั้นวิกฤติในอีก7 วัน โดยประสาน ผวจ.นครสวรรค์เตรียมแผนอพยพประชาชนแล้ว และให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าทุกหน่วยงานทำงานอย่างเต็มที่ ส่วนสถานการณ์น้ำที่ จ.พระนครศรีอยุธยาระดับน้ำเริ่มลดลง แต่หากเขื่อนภูมิพลมีการระบายน้ำเพิ่ม แล้วผันน้ำออกไปไม่ทันก็อาจได้รับผลกระทบอีก ส่วนโบราณสถานได้ระบายน้ำออกได้ถึง70-80% และอยู่ระหว่างดูแนวกั้นเขื่อนให้แข็งแรงคงทน ความเสียหายที่นิคมอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการประเมิน


"สุขุมพันธุ์"ทวิตจับมือกรมชลฯสร้างแนวดินกั้นน้ำริมคลอง


             ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม) โพสต์ข้อความผ่านเว็บไซต์ทวิตเตอร์ผ่าน @bangkokgovernor หลังลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมเขตหนองจอก ว่า ตนได้มาเยี่ยมพี่น้องที่ชุมบนเกาะกลางที่เขตหนองจอก พื้นที่นี้มีคลองล้อมรอบ ฝนเมื่อคืนทำให้น้ำท่วมถนน ซึ่งมาตรการระยะสั้นของด้านตะวันออกคือ กทม.ร่วมกับกรมชลฯสร้างแนวดินกั้นน้ำตามริมคลอง ส่วนระยะยาวต้องบูรณาการกับจังหวัดปริมณฑลเพื่อจัดทำพื้นที่รับน้ำ เมื่อได้รับฟังปัญหาเองก็ทราบว่าลำพังสำนักงานเขตคงมีกำลังไม่พอในการแก้ไขปัญหา ต้องให้ส่วนกลางเข้าช่วย


ชุมชนเขียวไข่กาอ่วมน้ำเพิ่มสูงหลังฝนกระหน่ำ


             เมื่อเวลา 15.00 น. น.ส.อารีย์ วงศ์นพรัตน์เลิศ ผู้อำนวยการเขตดุสิต พร้อมด้วย น.ส.จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขตดุสิต พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางมายังชุมชนเขียวไข่กา แยกบางกระบือเขตดุสิต ภายหลังที่นายพรเทพ  เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม.ได้มอบหมายให้เขตมาดูแลประชาชนในพื้นที่ หลังจากติดภารกิจไม่สามารถเดินทางมาได้

             น.ส.อารีย์ กล่าวภายหลังตรวจสถานการณ์น้ำท่วมในชุมชนเขียวไข่กาว่า ที่ผ่านมาชุมชนเขียวไข่กา ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมาหลายสัปดาห์ โดยเมื่อคืนที่ผ่านมามีเฉพาะฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้ระดับน้ำที่ท่วมอยู่แล้ว เพิ่มสูงขึ้นอีก ซึ่งเขตได้ส่งเจ้าหน้าที่มาติดตั้งทางเดินแผ่นไม้ให้กับชาวบ้านในชุมชนเพื่อใช้สัญจร พร้อมประสานกองทัพบกให้ส่งกำลังพลเข้ามาช่วยอย่างไรก็ตาม หากมีลงฝนตกลงมาเหมือนช่วงค่ำวานนี้ (5 ต.ค.)  ทางเขตก็จะเฝ้าดูแลประชาชนให้ดีที่สุด

             ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในชุมชนเขียวไข่กา พบว่า มีปริมาณน้ำเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนทุกหลังเรือน โดยมีระดับน้ำสูงประมาณ 1 เมตร ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับความยากลำบาก  และต้องขนสิ่งของขึ้นบริเวณชั้น 2 ของบ้าน จากการสอบถามชาวบ้านที่อยู่ที่ในพื้นที่ระบุว่า น้ำได้เข้าท่วมพื้นที่เป็นประจำทุกปี ซึ่งในปีนี้ ชาวบ้านยังต้องทนกับสถาพน้ำท่วมต่อไป แต่ก็จะไม่ย้ายหนีไปไหน เพราะได้อยู่ที่ชุมชนนี้มานานแล้ว และชินกับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น

 

สภากทม.ระอุ กระทุ้งผู้บริหารเร่งแก้น้ำท่วม


             นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานสภากรุงเทพมหานคร(กทม.) เป็นประธานการประชุมสภา กทม. สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 4 ครั้งที่ 1 ประจำปีพุทธศักราช 2554 โดยมีคณะสมาชิกสภา กทม. พร้อมด้วย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.และคณะผู้บริหาร ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง 

             ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมได้มีการเสนอญัตติของนายวิสูตร สำเร็จวาณิชย์ ส.ก.เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย เรื่อง ขอให้กทม.เร่งรัดแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และช่วยเหลือผู้ประสบภัยและผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่กทม. พร้อมทั้งวางแผนระยะยาวเพื่อป้องกันน้ำท่วมในอนาคต โดยให้ผู้บริหารควรมีความจริงจังในการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันออก ได้แก่ เขตคลองสามวา เขตหนองจอก เขตลาดกระบัง เขตมีนบุรี เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มและเป็นแอ่งกะทะทำให้น้ำท่วมได้ง่ายและยังเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อภัยน้ำท่วมทุกปี อีกทั้งเขตมีนบุรีขณะนี้ได้มีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ซึ่งได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบด้วย

             หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมที่มีปริมาณมากขึ้นและมีฝนตกหนัก ซึ่งผู้บริหารควรมีแผนดำเนินการแก้ไขระยะสั้นระยะยาว และจะต้องประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนป้องกันและดำเนินการแก้ไขโดยจะต้องหารือร่วมกับ กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และหน่วยงานจังหวัดพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน