ข่าว

อุทกภัยในเอเชีย

อุทกภัยในเอเชีย

14 ต.ค. 2554

อุทกภัยในเอเชีย : วันเว้นวันจันทร์ พุธ ศุกร์กับ ประภัสสร เสวิกุล

          ปีนี้เป็นปีที่หลายประเทศในเอเชียประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี เนื่องจากต้องเผชิญกับพายุฝนที่ตกลงมาอย่างหนักและต่อเนื่องหลายระลอก ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นพื้นที่กว้าง บ้านเรือน ทรัพย์สิน ถนนหนทาง และรถราจมอยู่ในน้ำ มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน ไร่นาและพื้นที่เกษตรกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนัก ความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมหลายหมื่นล้านดอลลาร์ และการบูรณะฟื้นฟูสภาพบ้านเมือง ชีวิต และจิตใจ หลังน้ำลด ก็คงต้องใช้งบประมาณนับแสนล้านดอลลาร์

           องค์การอาหารโลก (เอฟเอโอ) ได้แสดงความกังวลต่ออุทกภัยในเอเชีย ว่าจะเป็นปัญหาต่อการขาดแคลนอาหารและราคาอาหารที่จะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือข้าว ทั้งนี้ ในแต่ละปี โลกมีความต้องการในการบริโภคข้าวประมาณ 417.7 ล้านตัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือได้ว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำหรือคลังอาหารของชาวโลก โดยมีแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญอยู่ที่ประเทศไทย ประมาณ 36 เปอร์เซ็นต์ เวียดนาม 20 เปอร์เซ็นต์ รองลงไปคือกัมพูชาและลาว แต่ในปีนี้ประเมินว่านาข้าว 9.37 ล้านไร่ ในไทย เวียดนาม กัมพูชา และลาว ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย เฉพาะประเทศไทยประเทศเดียวก็เสียหาย 6.25 ล้านไร่ หรือ 1 ใน 10 ของพื้นที่นา ขณะที่เวียดนาม ผืนนาบริเวณปากแม่น้ำโขงจมอยู่ใต้น้ำ 6.2 แสนไร่ ในส่วนของกัมพูชานั้น ประสบน้ำท่วมใน 15 พื้นที่ นา 2.06 ล้านไร่ได้รับความเสียหาย ในจำนวนนี้คาดว่า 6.2 แสนไร่จะพังยับเยิน และนาข้าว 3.7 แสนไร่ในลาวก็อยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักถึง 8 แขวง

           ใช่แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น อีกหลายประเทศในเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ จีน ปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ ก็ประสบภัยพิบัติจากน้ำท่วมไม่ต่างกัน

           แม้ว่าเอเชีย โดยเฉพาะจีน อินเดีย และเวียดนาม จะเป็นเขตที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูง ซึ่งเวียดนามเองก็ถูกจับตาว่าเป็นดาวรุ่งทางเศรษฐกิจที่กำลังมาแรง แต่ความร้อนแรงของเศรษฐกิจเองก็ทำให้เวียดนามต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น เมื่อมาพบกับปัญหาน้ำท่วมซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวในปีนี้ ก็อาจฉุดให้เศรษฐกิจของเวียดนามต้องชะลอตัวลง เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ตั้งเป้าการส่งออกข้าวในปีนี้ไว้ร่วม 10 ล้านตัน ก็คงจะไม่บรรลุเป้าหมาย

           คำถามที่ตามมาก็คือแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับชาวโลก เมื่อข้าวขาดแคลน และหากพายุฝน-น้ำท่วม กลายเป็นฤดูกาลประจำปีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นเดียวกับบังกลาเทศหรือศรีลังกา เราจะรับมือกับภัยธรรมชาติได้อย่างไร

           ผมคิดว่าเรื่องนี้กำลังจะเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งเกินกำลังของประเทศใดประเทศหนึ่งจะจัดการได้ตามลำพัง แต่ควรจะต้องเริ่มนึกถึงความร่วมมือในการปกป้องแหล่งผลิตข้าว รวมทั้งป้องกันและบรรเทาภัยธรรมชาติในระดับภูมิภาค ด้วยการขอความสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศ และต่างประเทศ เพื่อสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้า ระบบการเคลื่อนย้ายประชาชนจากพื้นที่ที่เกิดพิบัติภัย ระบบการช่วยเหลือและดูแลคนและปศุสัตว์ การตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงการฟื้นฟูภายหลังเหตุการณ์ ซึ่งอาจมีการปฏิบัติการร่วมกัน หรือการให้ความช่วยเหลือด้านเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์และยานพาหนะข้ามประเทศ โดยเฉพาะเมื่อประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังจะรวมเป็นประชาคมเดียวกันในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

           ครับ ถึงโลกเราจะแคบลง แต่ภัยธรรมชาติก็กลับใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนน่าเป็นห่วง