ข่าว

"เสิงสาง"นามบ้านเมืองแห่งรุ่งสางและรุ่งเรือง

"เสิงสาง"นามบ้านเมืองแห่งรุ่งสางและรุ่งเรือง

01 พ.ค. 2552

อ.เสิงสาง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของ จ.นครราชสีมา มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

  ทิศเหนือติดต่อกับ อ.หนองบุญมาก และ อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ ทิศตะวันออกติดกับ อ.โนนสุวรรณ อ.ปะคำ และ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ทิศใต้ติดกับ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ และ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา

 เรื่องราวของ "เสิงสาง" นั้น มีตำนานพื้นบ้านของชาวอีสานที่เล่าขานสืบต่อกันมาความว่า ท้าวประจิต เจ้าเมืองกัมพูชา และนางอรพิมพ์ ชายา ที่เมืองพิมาย เมื่อได้พบกันแล้วจึงพากันเดินทางกลับเมือง แต่มีเหตุต้องพลัดพรากจากกันระหว่างการเดินทาง กระทั่งได้พบกันอีกครั้งที่หมู่บ้านแห่งนี้ ตอนฟ้าใกล้สาง จึงได้เรียกชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า "บ้านเสิงสาง" ซึ่งต่อมาได้ตั้งเป็นชื่อตำบล และยกฐานะเป็นอำเภอตาม ลำดับ

 เดิม "เสิงสาง" เป็นตำบลหนึ่งของ อ.ครบุรี มีเขตการปกครอง 1 ตำบล คือ ต.สระตะเคียน ประกอบด้วย 7 หมู่บ้าน ต่อเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2519 กระทรวงมหาดไทยได้ยกระดับท้องที่ตำบลดังกล่าวขึ้นเป็น กิ่ง อ.เสิงสาง และได้ยกฐานะเป็น อ.เสิงสาง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2522

 เนื่องจากอำเภอแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ดังนั้น การหาความหมายของคำว่า “เสิงสาง” จึงจำเป็นที่จะต้องมุ่งเน้นในภาษาถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน

 ในพจนานุกรมภาคอีสาน - ภาคกลาง ฉบับ ปณิธานสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺสมหาเถร) ให้คำจำกัดความของ “เสิง” ว่า รุ่ง จวนสว่าง จวนแจ้ง ตัวอย่างว่า ตาเวนเสิง = รุ่งอรุณ ส่วนคำว่า “เสิงสาง” รุ่งสาง พอสาง จวนสว่าง อาจารย์พิฑูร มลิวัลย์ ได้เสนอไว้ในหนังสือเรื่องศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 1 คำว่า เสิง มีความหมายเท่ากับคำว่า เสือง ด้วยเช่นเดียวกัน

 ส่วนคำว่า สาง ในปัจจุบันหมายถึง เวลารุ่งตอนเช้า แต่ในโบราณอาจจะมีความหมายว่า สว่าง, สดใส โดยที่ไม่จำกัดว่าเป็นสว่างตอนรุ่ง ดังตัวอย่างในจารึกหลักที่ 40 (เจดีย์น้อย) ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 24 ว่า “ปฐมราตรีพระจันทร์อุทัยขึ้นให้สาง” และในมหาชาติคำหลวง กัณฑ์มหาราช ว่า “พฤกษดวงใสดวงสาง ใบกระช่างกระชู”

 แต่คำว่าสางนั้น เราอาจจะนึกถึงคำว่า “ผีสาง” สางจึงอาจจะหมายถึงผี แต่ในภาษิตของพวกลว้ามีคำว่า สางก่อฟ้า ลว้าก่อดิน ดังนั้น สางในความหมายดั้งเดิมจึงน่าจะมีความหมายเท่ากับผีฟ้า หรือเทวดา นั่นเอง

 สรุปคือคำว่า เสิงสาง ก็น่าที่จะหมายถึง แสงสว่าง แต่ถ้าเราตีความ สาง มีความหมายเท่ากับเทวดา เสิงสาง ก็อาจจะมีความว่า เทวดาผู้รุ่งเรือง

"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"