ข่าว

ไทรน้อย-บางบัวทองอ่วมถนน345จม

ไทรน้อย-บางบัวทองอ่วมถนน345จม

17 ต.ค. 2554

เขตไทรน้อย บางบัวทองยังวิกฤติหนัก เส้นทางสัญจรถูกน้ำท่วมสูง ตำรวจทางหลวงชี้หมู่บ้านปล่อยน้ำระบายน้ำลงคลอง จนขึ้นมาท่วมถนนตลิ่งชัน - สุพรรณฯ ทำรถติดทั้งเส้น

          17ต.ค.2554 สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดนนทบุรี ที่  อ.ไทรน้อย และ  อ.บางบัวทอง   ทั้ง 2 อำเภอ  ยังคงอยู่ในสภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะในเขต อ.ไทรน้อย เนื่องจากถนนบ้านกล้วย-ไทรน้อยซึ่งเป็นถนนสายหลักที่ต้องใช้เดินทางจากอำเภอบางบัวทองเข้าสู่ตัวอ.ไทรน้อยถูกน้ำท่วมสูง  ทำให้รถเล็กไม่สามารถสัญจรออกมาได้ ในขณะที่รถใหญ่อย่างรถสิบล้อและรถเมล์ ก็ผ่านออกมาได้ด้วยความยากลำบากเช่นกัน

          ขณะที่ในส่วน อ.  บางบัวทอง บริเวณถนนตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี  ที่จะเชื่อมต่อไปยังถนน 345 หน้าหมู่บ้านสมบัติบุรี  ถูกน้ำท่วมผิวการจราจรทั้งเลนในเลนนอกทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก โดยระดับน้ำท่วมสูงกว่า 120 เซนติเมตร ทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนที่ผ่านทางมาโดยไม่รู้ถึงสถานการณ์น้ำ ต้องขับรถลุยน้ำลึกมาตลอดระยะทางกว่า 500 เมตร จนทำให้เครื่องยนต์ขัดข้อง จอดเสียริมถนน 
 
           เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง กล่าวว่า คืนที่ผ่านมา ( 16) ระดับน้ำในคลองหน้าหมู่บ้านสมบัติบุรี เพิ่มขึ้นมาท่วมผิวการจราจรบนถนนตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี อย่างรวดเร็ว จากระดับปกติที่รถเล็กยังสามารถสัญจรไปได้ ก็กลายเป็นท่วมสูงจนขับผ่านไม่ได้ ทำให้การจราจรจากถนน 345 ที่จะมุ่งเข้า อ.บางบัวทอง ติดขัดอย่างหนัก เนื่องจากมีรถเสียจากน้ำท่วมสูงหลายคัน ซึ่งจุดที่เกิดปัญหาน้ำท่วมเป็นระยะทางยาวกว่า 500 เมตร  เคยแจ้งหน่วยงานท้องถิ่น ให้เร่งอุดคลองระบายน้ำดังกล่าวและรีบสูบน้ำออกจากผิวถนนเพื่อให้เส้นทางยังสามารถสัญจรไปมาได้ แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่า  คนในหมู่บ้านไม่ยอมเพราะน้ำท่วมสูงเหมือนกัน จึงต้องระบายจากหมู่บ้านออกมา ก็ทำให้น้ำออกมาท่วมบนถนนสายหลักสร้างความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง และยังไม่มีแนวโน้มที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

 

5,000ครอบครัวโซนหมู่บ้านบัวทองเคหะทนทุกข์


             ประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านบัวทองเคหะ หมู่บ้านกานต์มณี และหมู่บ้านเรือนไทย อยู่ติดกับถนนบางกรวย-ไทรน้อย  อ.ไทร น้อย จ.นนทบุรี กว่า 5,000 ครอบครัว  ต้องเผชิญกับน้ำที่ท่วมขังและสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ ไม่ยอมย้ายไปอยู่ที่ศูนย์อพยพ   ที่ทางจังหวัดได้จัดเตรียมไว้ เนื่องจากเป็นห่วงทรัพย์สิน จึงยอมที่จะอาศัยอยู่ในบ้าน ส่วนการเดินทางเข้าออกภายในหมู่บ้าน  จะใช้เรือท้องแบนรับส่งกันเอง

            และบางรายที่ไม่มีเรือก็ต้องเดินลุยน้ำที่มีความสูงประมาณ 70 - 80 เซนติเมตร ขณะที่ทางทหารปตอ.พัน 1 รอ.ได้นำรถยี่เอ็มซี มาวิ่งรับส่งคนผู้ประสบภัยในหมู่บ้านที่ต้องเดินทางไปทำงานในช่วงเช้าและเย็นจนถึงเวลา 20.00 น. ส่วนการช่วยเหลือทางจังหวัดได้ประสานหน่วยงานเอกชนต่างๆนำอาหารสำเร็จรูป อาหารแห้ง พร้อมทั้งน้ำดื่มและยารักษาโรค มาแจกจ่ายให้  เนื่องจากบางครัวเรือนไม่สามารถปรุงอาหารเองได้

 

ขุดลอกท่าจีนคืบไปกว่าครึ่งช่วยระบายน้่ำเร็วขึ้น


            พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม ได้ลงพื้นที่ดูการขุดลอกคูคลองแม่น้ำท่าจีน เปิดเผยว่าขณะนี้เสร็จไปแล้ว 50 % หากขุดลอกเสร็จและมีการผลักดันน้ำด้วย ก็จะช่วยระบายน้ำได้เร็วขึ้น ส่วนปริมาณน้ำที่ท่าจีนนั้น ขณะนี้ระดับน้ำยังปกติ ซึ่งแผนระยะยาว จะเสนอรัฐบาลว่าควรจะขุดลอกคลองและแม่น้ำที่ตื้นเขินเพื่อให้น้ำไหลเร็วขึ้น ส่วนการทำคันดินกั้นน้ำนั้นก็มีการทำอยู่แล้ว ซึ่งชาวบ้านก็พอใจ นอกจากนี้ ยังมีเรือที่มาร่วมผลักดันน้ำของกองทัพเรือและประชาชนร่วมดันน้ำลงทะเลด้วย

 

สมุทรสาครเดินเครื่องเรือเร่งผลักน้ำลงทะเล


           นายมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกุลวัชร หงษ์คู นายกเทศมนตรีเทศบาลนครสมุทรสาคร นายชาตรี โพธิ์อบนายกเทศมนตรีตำบลบางปลา และ นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร ตลอดจนภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดสมุทรสาคร ได้ร่วมกันลงเรือตรวจการณ์เทศบาลนครสมุทรสาคร เพื่อตรวจดูการจัดวางแนวเรือประมงจำนวน 20 ลำ ที่ใช้ผลักดันมวลน้ำเหนือที่ไหลลงมาจากแม่น้ำท่าจีนตอนบน ให้ลงสู่ท่าจีนตอนล่างหรือปากอ่าวมหาชัยโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดสมุทรสาครได้ โดยการวางแนวเรือประมงผลักดันน้ำในครั้งนี้ ได้ใช้พื้นที่แม่น้ำท่าจีนบริเวณใต้สะพานหน้าวัดบางปลา หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ห่างจากบริเวณปากอ่าว ประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ในการ ผลักดันน้ำลงสู่ทะเลมหาชัย

           นายมณฑล กล่าวว่า การผลักน้ำในบริเวณนี้ เป็นการใช้เรือประมงขนาด 300 - 400 แรงม้า จำนวน 4 ลำ และเรือเล็กอีกประมาณ 16 ลำ ร่วมกันผลักดันน้ำพร้อมๆ กัน เพื่อให้มวลน้ำขนาดใหญ่ที่ไหลลงมาจากท่าจีนตอนบน และน้ำที่ผันออกมาจากทางกรุงเทพมหานคร ได้ไหลลงไปสู่ปากอ่าวมหาชัยโดยเร็ว ซึ่งก็คาดว่าจะช่วยลดปริมาณน้ำที่จะเอ่อล้นท่วมพื้นที่สมุทรสาครได้ในระดับหนึ่ง