
'ลูกประดู่' มิรู้เหนื่อย สู้เพื่อชาติและประชาชน
'ลูกประดู่' จากกองทัพเรือ ในชุดปฏิบัติการเรือยางคู่ชีพ หรือรถยนต์จีเอ็มซี วิ่งรับ-ส่งผู้ประสบภัยทั้งทางน้ำและทางบก
วีรบุรุษมหาอุทกภัยที่ถูกกล่าวขานและพูดถึงมากที่สุด คงหนีไม่พ้น 'ท.ทหาร (อดทน)' โดยเฉพาะ 'ลูกประดู่' จากกองทัพเรือ พระเอกตัวจริงเสียงจริง ในชุดปฏิบัติการ เสื้อยืดสีน้ำเงินแขนยาว กางเกงขาสั้นสีน้ำเงิน กับเรือยางคู่ชีพ หรือรถยนต์จีเอ็มซี วิ่งรับ-ส่งผู้ประสบภัยทั้งทางน้ำและทางบก บางภารกิจก็วิ่งส่งถุงยังชีพ ส่งน้ำดื่ม เคลื่อนย้ายผู้ป่วยตลอดทั้งวัน ด้วยสำนึกในหน้าที่ของชายชาติทหาร
"เรามีศักยภาพและความพร้อม ท่าน ผบ.ทร. พลเรือเอกสุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ ได้สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ ดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้แก่ประชาชนที่ประสบอุทกภัย รวมทั้งได้ระดมสรรพกำลังทั้งกำลังพลและยุทโธปกรณ์สนับสนุนรัฐบาล ในการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่
"กรณีอยุธยา ถ้าทหารเรือไม่ได้เข้าไปช่วยบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี ตรงนั้นค่อนข้างหนัก หน่วยงานอื่นทำงานยากมาก เพราะต้องใช้เรือที่มีกำลังแรง ใช้ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะมนุษย์กบ (SEAL) หรือนักประดาน้ำ มีเรือที่มีความเร็วสูง เราทำงานเต็มที่แม้วันนี้ทหารเรือจะกลายเป็นผู้ประสบภัยเอง คือ หมู่บ้านเอื้ออาทร กองทัพเรือ พุทธมณฑลสาย 4 โครงการบ้านพักข้าราชการทหารเรือ น้ำท่วมทั้งหมู่บ้าน แต่พวกเราก็ยังมาช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง"
พล.ร.ต.ประพฤติพร อักษรมัต เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ กล่าวถึงภารกิจเพื่อชาติของทหารเรือ พร้อมอธิบายบริบทในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งนี้ว่า กองทัพเรือรับผิดชอบดูแลเขตกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก 16 เขต และปริมณฑล โดยกองทัพเรือได้จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจบรรเทาสาธารณภัยทางน้ำ (ฉก.บภ.ทางน้ำ) ขึ้น เพื่อช่วยเหลือและอพยพผู้ประสบภัยในบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสาขาต่างๆ ที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดปทุมธานี ถึงจังหวัดสมุทรปราการ
ปัจจุบัน กองทัพเรือ มีสถานีเรือช่วยเหลืออยู่ 2 จุด คือ วัดไทรม้าใต้ อ.เมือง จ.นนทบุรี (บริเวณเชิงสะพานพระนั่งเกล้าฝั่งธนบุรี) จุดที่ 2 วัดเฉลิมพระเกียรติ อ.เมือง จ.นนทบุรี ให้บริการด้านต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
นอกจากนี้ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยฯ ได้จัดชุดเคลื่อนที่เร็วและชุดเฝ้าระวังพื้นที่โรงพยาบาลศิริราช มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เฝ้าระวังพนังกั้นน้ำคลองรังสิตเชื่อมคลองประปา ประตูน้ำสุวรรณภูมิ ปตท.สำนักงานใหญ่ จัดรถ 1 คัน และเรือ 1 ลำ
และกองทัพเรือยังจัดรถบริการรับ-ส่ง ประชาชน 6 เส้นทาง ได้แก่สายที่ 1 ซอยเพชรเกษม 69-คลองภาษีเจริญ สายที่ 2 แยกท่าพระ-ถนนเพชรเกษม-เดอะมอลล์ บางแค สายที่ 3 แยก 35 โบว์-ถนนบรมราชชนนี-ตลิ่งชัน
สายที่ 4 ซอยกำนันแม้น-ตลาดบางแค สายที่ 5 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 13 และสายที่ 6 แยกบางขุนนนท์-บางพลัด-สะพานพระราม 7 รวมทั้งจัดรถและเรือช่วยอพยพประชาชนในพื้นที่อำเภอพุทธมณฑลและพื้นที่ใกล้เคียงด้วย
"วันนี้กองทัพเรือ รวมสรรพกำลังทุกหมู่เหล่า ขึ้นตรงกับกองเรือยุทธการ จัดเรือ จัดกำลังพล ทั้งหมด รวมหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน จัดกำลังพล จัดเรือท้องแบน จัดรถยนต์จีเอ็มซีประเภทต่างๆ รวมทั้งหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานรักษาฝั่ง ซึ่งมีรถและมีเรือเป็นยุทโธปกรณ์ในการเข้ามาช่วยเหลือ และยังมีฐานทัพเรือสัตหีบ ซึ่งมีรถ มีเรือ มีกำลังพล ผมเชื่อว่าขณะนี้เรือทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรือท้องแบน เรือขนาดใหญ่ที่มาผลักดันน้ำ เรือต่างๆ ที่มาใช้ประโยชน์ ประมาณ 200 ลำ รถยนต์จีเอ็มซีอีก 100 กว่าคัน และกำลังพลประมาณ 6,000 นาย ระดมช่วยอุทกภัยครั้งนี้"
ส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้น เจ้ากรมกิจการพลเรือน บอกว่า เราได้ส่งมนุษย์กบจากหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ส่งนักประดาน้ำ จากกรมสรรพวุธ ลงไปช่วยเหลือนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งมีบริษัททั้งหมด 250 บริษัท ในการกู้ชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน
และทางกรมอู่ทหารเรือ ยังได้ก็ดำเนินการจัดสร้างแพ ขนาด 3x6 เมตร แจกจ่ายให้กับนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จ.พระนครศรีอยุธยา นิคมอุตสาหกรรมบางกะดี จ.ปทุมธานี และสนับสนุนกองทัพบกอีกแรงหนึ่ง
ส่วนเรือท้องแบนพลาสติก (สีฟ้า) 4 ที่นั่ง แจกจ่ายให้แก่กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ 30 ลำ กองเรือลำน้ำ กองเรือยุทธการ 50 ลำ วังสวนจิตรลดา 10 ลำ สนับสนุนพระตำหนักจักรีบงกช 4 ลำ รวมทั้งแจกจ่ายแก่หน่วยงานอื่นๆ อีก 26 ลำ ในพื้นที่ต่างจังหวัด
นอกจากนี้ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือภาคที่ 1 ได้จัดศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยไว้ในพื้นที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ในเบื้องต้น ซึ่งสามารถรองรับผู้ประสบภัยได้ถึง 2,110 คน โดยแบ่งพื้นที่ตามหน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือ ใน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 038-438592, 038-438-008 มือถือ 08-7004-8512 ติดต่อกับนาวาโทวิโรจน์ อินทร์สุข
สำหรับการผลักดันน้ำนั้น ทางกรมอู่ทหารเรือ ได้สนับสนุนเรือผลักดันน้ำและวางกำลังผลักดันน้ำ 8 จุด ประกอบด้วย คลองภาษีเจริญ คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต คลองหลวงแพ่ง คลองราชมนตรี คลองสนามชัย คลองบางเขน คลองมหาสวัสดิ์ และคลองลาดพร้าว
ส่วนหน่วยบรรเทาสาธารณภัย โรงเรียนนายเรือ จะเฝ้าระวังตรวจระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าโรงเรียนนายเรือ จัดชุดตรวจระดับคลองสำโรงและประตูระบายน้ำบางนางเกร็ง 24 ชั่วโมง
รวมทั้งจัดเตรียมเฮลิคอปเตอร์ พร้อมเจ้าหน้าที่รับ-ส่ง และเตรียมพร้อมศูนย์อพยพรับผู้ที่ต้องการเข้าพักพิงชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย (หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการส่วนแยกดอนเมือง) โดยจัดเรือยาง สนับสนุนการลำเลียงผู้ป่วยของโรงพยาบาลภูมิพล สนับสนุนคณะแพทย์กองทัพอากาศในการแจกถุงยังชีพและเวชภัณฑ์แก่ผู้ประสบอุทกภัย และรับ-ส่งประชาชนพื้นที่น้ำท่วมบริเวณเซีย รังสิต ถนนพหลโยธิน และจัดรถยนต์บรรทุกจำนวน 4 คัน
จากภารกิจต่างๆ ที่แจกแจงมาข้างต้นนี้ จะเห็นว่า ลูกประดู่ต้องแบกรับการช่วยเหลือประชาชนมากมายในหลายพื้นที่
ขอให้กำลังใจแก่ราชนาวีไทย ที่ออกปฏิบัติหน้าที่เพื่อพ่อแม่พี่น้อง ด้วยความมุ่งมั่นและฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ ทั้งๆ ที่หมู่บ้านของพวกเขา จมน้ำไปแล้วหลายโครงการ