
"เวสซูเวียส"ภูเขาไฟที่ไม่ยอมหลับใหล
เป็นเวลาเกือบ 2,000 ปีภายหลังจากที่ฝัง เมืองปอมเปอี จมอยู่ใต้ลาวา และเถ้าถ่านของตัวเอง ภูเขาไฟเวสซูเวียส ก็ยังคงเป็นหนึ่งในภูเขาไฟที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เพราะไม่ยอมหลับใหลลงเสียที
"เวสซูเวียสเป็นภูเขาไฟอันตรายมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มันปะทุอยู่ตลอดเวลา แล้วก็มีคน 6 แสนคนที่จะได้รับความเสี่ยงโดยตรงหากว่ามันเกิดระเบิดขึ้นมา" คลอดิโอ สคาร์ปาตี นักภูเขาไฟวิทยากล่าว
ด้านข้างของภูเขาไฟเวสซูเวียสที่ตระหง่านเงื้อมอยู่เหนืออ่าวในเมืองเนเปิลส์ ทางใต้ของอิตาลี ด้วยระดับความสูงเกือบ 1,300 เมตรนั้น มีเซนเซอร์หลายสิบตัวถูกติดเอาไว้เพื่อบันทึกกิจกรรมเกี่ยวกับแผ่นดินไหว อุณหภูมิของก๊าซที่ภูเขาไฟลูกนี้ปล่อยออกมา และการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศ
เซนเซอร์เหล่านี้ ซึ่งบางตัวสามารถมองเห็นได้จากทางเดินที่นำพานักท่องเที่ยวปีละหลายพันคนขึ้นไปยังปากปล่องภูเขาไฟ จะส่งสัญญาณออกมาตลอด 24 ชั่วโมงไปยังห้องสังเกตการณ์เวสซูเวียสในเมืองเนเปิลส์ ซึ่งอยู่ห่างจากภูเขาไฟไปทางตะวันตกราว 9 กิโลเมตร
ข้อมูลความเคลื่อนไหวภาคพื้นดินที่ส่งมาจากดาวเทียม "เอ็นวิแซต" ของยุโรปเป็นประจำทุกเดือนก็ช่วยให้ข้อมูลของห้องสังเกตการณ์แห่งนี้สมบูรณ์ และทันต่อเหตุการณ์มากขึ้น
"จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อย 2 คนประจำอยู่ที่ห้องสังเกตการณ์เพื่อคอยวิเคราะห์ข้อมูลอยู่ตลอดเวลา และเผื่อเอาไว้ในกรณีที่เกิดการขัดข้อง ข้อมูลจึงได้ถูกส่งออกไปอย่างเป็นระบบทั้งทางสายเคเบิล โทรศัพท์ และวิทยุ"" สคาร์ปาตี ซึ่งเป็นศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเนเปิลส์ กล่าว
ทั้งนี้ ภูเขาไฟเวสซูเวียสซึ่งเคยเกิดการระเบิดครั้งใหญ่มาแล้วราว 30 ครั้งหลังฝังกลบเมืองปอมเปอีไปทั้งเมืองในปี ค.ศ. 79 นั้น ตกอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังของผู้เชี่ยวชาญมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แล้ว โดยห้องสังเกตการณ์แห่งแรกถูกสร้างขึ้นบนภูเขาไฟในปี ค.ศ. 1845 ตามพระบัญชาของพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 2 กษัตริย์แห่งทู ซิซิลีส์ ส่วนการระเบิดครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายของเวสซูเวียตเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1944 ซึ่งมีการพ่นธารลาวาออกมาติดต่อกัน 11 วัน คร่าชีวิตคนไป 26 ชีวิต และทำให้คน 1.2 หมื่นไร้ที่อยู่อาศัย
ฟรานเชสโก รุสโซ ผู้อำนวยการสมาคมนักธรณีวิทยาในแถบเนเปิลส์ กล่าวเตือนเมื่อเดือนมกราคมว่า เวสซูเวียสยังคงเป็นภูเขาไฟที่อันตรายมาก โดยจากสถิติแล้ว มีโอกาสอยู่ 27% ที่จะเกิดการระเบิดขึ้นในอีก 100 ปีข้างหน้า ซึ่งถ้าหากเกิดการระเบิดขึ้นมาแล้วจะต้องใช้เวลาอพยพผู้คนออกจากตัวเมืองถึง 2 สัปดาห์เลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้เอง เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยสาธารณะของเนเปิลส์จึงได้คิดค้นแผนการอพยพหนีหายนภัยขึ้นมาโดยใช้แบบจำลองของการระเบิดในปี ค.ศ. 1631 ที่มีผู้เสียชีวิตไปราว 4,000 คน
"นั่นเป็นการระเบิดที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ แม้ว่าหายนภัยที่มีความรุนแรงในระดับนั้นจะมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเกิดขึ้นในยุคนี้เพราะโครงร่างและสัณฐานของภูเขาไฟเวสซูเวียสไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป" สคาร์ปาตีกล่าว พร้อมเสริมว่าภายใต้แผนอพยพดังกล่าว ทุกสิ่งทุกอย่างภายในรัศมี 15 กิโลเมตรของภูเขาไฟเวสซูเวียสจะถูกโยกย้ายออกไปหมด โดยมีคน 6 แสนคนใน 18 เมืองที่อยู่ใน "โซนสีแดง"
สคาร์ปาตีกล่าวด้วยว่าเราสามารถทำนายการระเบิดที่มีความรุนแรงแบบนั้นได้อย่างทันท่วงที เพราะจะมีการส่งสัญญาณเตือนมาก่อนล่วงหน้า แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถที่จะมั่นใจได้ 100%
ขณะที่รุสโซบอกว่า "แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือเรามีการเตรียมตัวดีกว่าชาวโรมันในปอมเปอี คนที่น่าสงสารเหล่านั้นไม่ได้มีความเฉลียวใจเลยแม้แต่น้อยว่าพวกเขาอาศัยอยู่ตีนภูเขาไฟ
ทั้งนี้ การระเบิดครั้งใหญ่ของเวสซูเวียสที่ทำลายเมืองปอมเปอีราบเป็นหน้ากลองนั้นคร่าชีวิตคนไป 3 หมื่นคน กลบฝังหมู่บ้านหลายแห่ง และพื้นที่การเกษตรที่อยู่ห่างไกลออกไปถึง 25 กิโลเมตร
เถ้าถ่านภูเขาไฟหนา และก้อนหินที่ปกคลุมอยู่เบื้องบนเป็นตัวเก็บรักษาเมืองปอมเปอี และเมืองเฮอร์คูลานุมเอาไว้ในสภาพสมบูรณ์นานหลายร้อยปี จนกระทั่งมีการขุดพบเมืองในปี ค.ศ. 1748 ทำให้โลกพากันตื่นตะลึงกับภาพวิถีชีวิตของผู้คนในยุคอาณาจักรโรมันกำลังรุ่งเรืองสุดขีด ที่ถูกเก็บเอาไว้ให้คนรุ่นหลังให้เห็น
แม้จะเป็นอิริยาบถสุดท้ายก่อนที่คนเหล่านั้นจะเสียชีวิตก็ตาม