ข่าว

กยน.ตั้งกก.หาต้นตอน้ำท่วม

29 พ.ย. 2554

กยน. ระดมนักวิชาการไทย-เทศ ตั้งกก.หาข้อเท็จจริงน้ำท่วม ขีดเส้นรู้ผลใน 3 เดือน เชื่อ 'กก.เร่งด่วน' ทำงานทันฝนหน้า เล็งเสนอ 4 มาตรการทำงาน ให้ที่ประชุมใหญ่ 7 ธ.ค. นี้

          นายรอยล จิตรดอน กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ กยน. เมื่อวันที่22 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้ตั้งคณะอนุกรรมการด้านการวางแผนและกำหนดมาตรการเร่งด่วน ที่มีนายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุทธยา เป็นประธาน และตั้งคณะอนุกรรมการด้านการวางแผนและกำหนดมาตรการยั่งยืน ที่มีนายกิจจา ผลภาษี เป็นประธาน 

          ทั้งนี้ ได้มีการวางกรอบการทำงานของคณะอนุกรรมการฯชุดเร่งด่วนในระยะเวลา 6 เดือน โดยจะมีการฟื้นฟูสิ่งที่เป็นโครงสร้างตามแนวพระราชดำริให้ได้ โดยเฉพาะระบบคู คลองแนวตั้ง ในฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออกที่ต้องฟื้นระบบคลองที่ต้องส่งน้ำต่อไปให้ได้ รวมถึงการฟื้นฟูระบบถนน การผังเมือง และแก้มลิงรับน้ำ ขณะที่ คณะอนุกรรมการฯ ชุดยั่งยืน จะทำงานในการพัฒนาให้เกิดระบบที่ดีและต่อเนื่อง

          "จากเรื่องดังกล่าว ทำให้มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมี นายวิเชียร ชวลิต ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการฯ ชุดนี้"

          นายรอยล กล่าวว่า ยังได้มีการตั้งคณะกรรมการสรุปข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุน้ำท่วมที่เกิดขึ้น โดยจะมีนักวิชาการไทยและนักวิชาการต่างประเทศ ร่วมทำงานใน 2 ส่วน ซึ่งนักวิชาการต่างประเทศมีความจำเป็นจะต้องให้ร่วมงาน โดยเฉพาะนักวิชาการจากเนเธอร์แลนด์ เพราะยังมีเรื่องที่เสียหายจำนวนมากและองค์กรยูเนสโกได้เข้ามาดูแล คือโบราณสถาน ในจ.พระนครศรีอยุธยา

          "คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง จะมีภารกิจในการสืบหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้น้ำท่วม โดยจะเริ่มดูว่าจุดเริ่มต้นของการบริหารที่ผิดพลาดมาจากตรงไหน อย่างไร เพื่อจะได้นำมาเป็นข้อมูลในการวางแผนจัดการบริหารไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำอีก โดยคณะกรรมการชุดนี้มีคุณวิเชียร ชวลิต เป็นประธาน และมีเวลา 3 เดือนในการหาข้อเท็จจริง"

          สำหรับการทำงานของคณะอนุกรรมการฯ ชุดเร่งด่วน ที่จะทำงานได้ทันกับฤดูฝนในปี 2555 หรือไม่ นายรอยล กล่าวว่า จากน้ำท่วมครั้งนี้ ทหารได้ขุดคลองเสริมเกือบหมดแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ ก็อยู่ที่ว่า จะรักษาต่อไปอย่างไร อีกทั้งระบบปั๊มน้ำที่ทำงานได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะระบบระบายความร้อนของตู้ควบคุมปั๊มน้ำ

          ขณะที่นายปิติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการวางแผนและกำหนดมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้น  เปิดเผยภายหลังการประชุมนัดแรกว่า ที่ประชุมได้กำหนดกรอบมาตรการเพื่อดำเนินการระยะสั้น 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1.การบริหารจัดการน้ำโดยเริ่มจากการบริหารน้ำเขื่อนโดยตรง ซึ่งจะไม่คำนึงถึงเฉพาะการชลประทานเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงการป้องกันน้ำท่วมควบคู่ไปด้วย

          2.พิจารณาในการป้องกันน้ำในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานกลางทางเช่น ประตูระบายน้ำ คันกั้นน้ำ คลองระบายน้ำ ที่จะต้องมีการเร่งซ่อมแซมให้แล้วเสร็จภายใน 3-4 เดือนนี้ เพื่อรองรับฤดูฝนช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2555

          3.พิจารณาการช่วยเหลือชดเชยพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เช่น พื้นที่การเกษตร ที่เป็นพื้นที่แก้มลิง โดยต้องให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด

          และ 4.เร่งแก้ปัญหาการระบายน้ำ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก ให้สามารถระบายน้ำไปสู่ที่สูบน้ำออกได้ โดยเฉพาะในส่วนของคูคลองที่มีปริมาณขยะจำนวนมาก และการบุกรุก ที่จะต้องในกรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าช่วยเหลือแก้ไข รวมถึงเรื่องการเสริมคันกั้นน้ำ พร้อมกับออกแบบคันกั้น ก็จะให้เป็นประโยชน์ในแง่การควบคุมน้ำ ซึ่งทั้งหมดเป็นงานด้านวิศวกร

          สำหรับการบริหารจัดการก็ต้องมีการปรับการให้ข้อมูลให้เป็นระเบียบมากยิ่งขึ้นโดยต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสามารถเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมกับการปรับระบบเตือนภัย ในพื้นที่ที่น้ำจะต้องเดินทางไป และระดับน้ำที่จะท่วมขังให้ดีขึ้น

          “ต้องดูกลไกการทำงานนี้ที่ต้องปฏิบัติได้ทันที เช่น การทำงานเป็นหน่วยงานเดียวให้เป็นระบบ จนไปถึงหน่วยงานเดียวเพื่อเป็นองค์กรที่ต้องตัดสินใจได้สำเร็จ ซึ่งก็ต้องดูระบบนี้ว่า จะเป็นอย่างไรบ้าง และในวันที่ 1ธ.ค. นี้ จะประชุมคณะอนุกรรมการชุดนี้อีกครั้ง เพื่อดูรายละเอียดก่อนเสนอต่อคณะกรรมการ กยน. ชุดใหญ่ ในวันที่ 7 ธ.ค. นี้”

          นายปิติพงษ์ ระบุด้วยว่า ปัญหาการระบายน้ำของ กทม. จะต้องไปดูใน 3 เรื่อง คือ 1.การทำให้น้ำเดินทางไปถึงอุโมงค์ยักษ์ 2.การแก้ปัญหาระบบปั๊มน้ำของ กทม.ที่มีการสร้างไว้เพื่อป้องกันน้ำฝน ก็ต้องมีการปรับ และ 3.ระบบคูคลองที่ถูกบุกรุกจำนวนมากและบางช่วงตื้นเขิน