ข่าว

หนีน้ำท่วมแห่ทำรง.เย็บผ้าพิจิตร

หนีน้ำท่วมแห่ทำรง.เย็บผ้าพิจิตร

29 พ.ย. 2554

แรงงานอุตฯภาคกลางหนีน้ำท่วมแห่ทำงานรง.เย็บผ้า จ.พิจิตร สศช.เผยไตรมาส4 ตกงานเฉียดล้านคน น้ำท่วมหนี้ครัวเรือนเพิ่ม หันกู้นอกระบบซ่อมบ้าน

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อวันที่ 29 พ.ย.54  นายชาติชาย เจียมศรีพงษ์ นายกอบจ.พิจิตร ได้นำข้าวสารบรรจุถุงพร้อมต้นกล้าพันธุ์ผักโตเร็วจำนวนมาก ไปมอบให้กับหนุ่มสาวผู้ใช้แรงงาน หลังจากที่ทราบข่าวความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานว่า อพยพมาจากเหตุอุทกภัยน้ำท่วมที่นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา , ปทุมธานี , กรุงเทพมหานคร เข้าทำงานในโรงงานเย็บผ้า จ.พิจิตร กว่า 1,500 คน โดยผู้ที่อพยพหนีน้ำท่วมมา บ้างมีเพียงเสื่อผืนหมอนใบ และบ้างไม่มีสิ่งของติดตัวมาเลย เพราะเก็บของหนีน้ำไม่ทัน

          นางพลอยนิศา มิตรเอี่ยม ผู้จัดการฝ่ายการผลิตของบริษัทนันยางการ์เม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อการส่งออก ได้เปิดเผยว่า ถ้าผู้ใช้แรงงานต้องการมาทำงาน ขณะนี้ทางบริษัทยังต้องการแรงงานตำแหน่งฝ่ายผลิตอีกราว 500 คน โดยทางบริษัทมีค่าแรง รวมถึงสวัสดิการ ที่พัก-รถรับส่ง-ค่ารักษาพยาบาล และอื่น ๆ เทียบเท่ากับการทำงานในกรุงเทพฯ ดังนั้นแรงงานที่พร้อมจะทำงาน สามารถติดต่อ-สอบถาม-สมัคร โทร. 0 5661 1615 , 0 8164 41646

 

สศช.เผยไตรมาส4 ตกงานเฉียดล้านคน น้ำท่วมหนี้ครัวเรือนเพิ่ม หันกู้นอกระบบซ่อมบ้าน

 

          นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า จากอุทกภัยที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน และคุณภาพชีวิตแรงงาน ซึ่งคาดว่าในไตรมาสที่ 4 ปี 54 ในระยะสั้นอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้น 1.8-2.3 เปอร์เซ็นต์ หรือมีผู้ว่างงาน  700,000-920,000 คน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ที่มี 0.7 เปอร์เซ็นต์ หรือมีผู้ว่างงาน 262,440 คน ขณะที่รายได้ของแรงงานจะลดลงประมาณ 157 ล้านบาทต่อวัน และมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ส่วนในระยะยาว ตลาดแรงงานมีแนวโน้มกลับมาตึงตัวตามโครงสร้างเดิม หากภาคธุรกิจกลับมาฟื้นตัว รวมไปถึงมาตรการของรัฐบาลที่ออกมาช่วย สามารถดำเนินการได้ตามแผน

          "ในไตรมาสสุดท้ายนอกจากการว่างงานที่เพิ่มขึ้น 1-2 เปอร์เซ็นต์ ยังต้องติดตามวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ ที่จะเกิดขึ้นในยุโรปอีกด้วย ส่วนการว่างงานนั้นคาดว่า หลังจากผ่านพ้นวิกฤตไปแล้ว ภาวะว่างงานจะมีระดับดีขึ้นใน 2-3 เดือน เพราะผู้ประกอบการจะต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นอีกหลายธุรกิจ"   

          ส่วนหนี้สินครัวเรือนคาดว่า ในช่วงครึ่งปีหลังจำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้ และจำนวนหนี้สินต่อครัวเรือนจะเพิ่มสูงกว่าช่วงปีแรกที่มีครัวเรือนที่มีหนี้ร้อยละ 56.9 และมีหนี้สินต่อครัวเรือนที่ 136,562 บาทต่อครัวเรือน โดยเฉพาะช่วง 1-2 เดือนสุดท้ายของปีที่ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ทั้งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงที่บ้านเรือนที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย และจากสถานประกอบการประสบภาวะน้ำท่วม รวมไปถึงกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักทำให้รายได้ครัวเรือนต้องลดลง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานระดับปฏิบัติการ

          ทั้งนี้จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการครองชีพเพิ่มสูงขึ้น เพราะประชาชนส่วนใหญ่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในช่วงการอพยพ อาทิ ค่าเช่าที่พักอาศัยชั่วคราว , ค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม , ราคาอาหาร และสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันสูงขึ้น หลังประชาชนแห่กักตุนสินค้าทำให้สินค้าขาดตลาด รวมถึงค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม และฟื้นฟูบ้าน - เครื่องใช้ภายในบ้าน โดยกลุ่มผู้ที่มีหนี้สินเดิมที่ได้รับผ่อนผันการชำระหนี้อยู่แล้ว อาจมีความจำเป็นต้องไปกู้นอกระบบมากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องส่งสัญญาณป้องปรามไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบในเรื่องนี้ด้วย  

          ส่วนผู้ประสบภัยยังต้องเฝ้าระวังสุขภาพกาย และสุขภาพจิตด้วย หลังจากที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ป่วยเป็นโรคน้ำกัดเท้ากว่า 70 เปอร์เซ็นต์ และมีปัญหาสุขภาพจิตสะสมสูงถึง 121,788 ราย ในช่วงน้ำท่วมตั้งแต่ 25 ก.ค.-25 พ.ย. ขณะที่ดัชนีความสุขมวลรวมของคนไทยในเดือน ต.ค. ลดลงมาอยู่ที่ 5.98 และในช่วงที่ประสบภัย ผู้บริโภคก็ควรรับรู้สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองต่าง ๆ ขณะที่คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ในช่วงไตรมาสสุดท้าย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นด้วย หลังประชาชนส่วนใหญ่ต้องละทิ้งบ้านเรือนในช่วงนี้

          นางสุวรรณี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจลักษณะประชากร และสังคมของชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองพบว่า ผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองมีจำนวนกว่า 348,973 ครัวเรือน มีประชากรทั้งสิ้น 1.3 ล้านคน แบ่งเป็น อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 70.5 เปอร์เซ็นต์ ย้ายมาจากถิ่นอื่น  56.9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งประชาชนในส่วนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นหน้าด่านของการเกิดภัยพิบัติ    

          โดยข้อเสนอแนะการรับมือภัยพิบัติเพื่อลดความสูญเสียในอนาคต จะต้องวางแผนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ แบ่งเป็น 5 ด้าน คือ การให้ความช่วยเหลือโดยคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน , ใช้แนวทางจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน , พัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคมในระบบปกติให้ครอบคลุม และสามารถรองรับผลกระทบได้ , บรรจุแผนการลดความเสี่ยง และปรับตัวภายใต้การเปลี่ยนแปลงไว้ในการวางแผน และการบริหารจัดการเมือง รวมถึงมีระบบข้อมูล และติดตามการดำเนินงานให้ผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างทั่วถึง

 

 

................................

(หมายเหตุ : ภาพแฟ้มข่าว)