ข่าว

คณาจารย์ร่วมเสนอทางออกม.112

คณาจารย์ร่วมเสนอทางออกม.112

16 ธ.ค. 2554

15 อาจารย์มหาวิทยาลัย ร่วมเสนอทางออก แก้ปัญหาการใช้กม.อาญา ม.112 แนะให้คกก.กลางจากทุกภาคส่วน ร่วมกลั่นกรองคดีก่อนถึงมือศาล

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ , รองศาสตราจารย์ ฉลอง สุนทราวาณิชย์ , รองศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ , รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุรัตน์ โหราชัยกุล , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ , ศาสตราจารย์ สายชล สัตยานุรักษ์ , รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ , รองศาสตราจารย์ ดร. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต , รองศาสตราจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปะกุล , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อภิชาต สถิตนิรามัย , อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง , อาจารย์สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ , อาจารย์ชาญกิจ คันฉ่อง ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ยื่นข้อเสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ประมวลกฎหมายอาญา ม. 112 

          โดยเนื้อหาตามแถลงการณ์ ระบุว่า เนื่องจากในขณะนี้ มีการขยายตัวอย่างมากของการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อสำเร็จประโยชน์ของหลายฝ่าย ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ทั้งต่อผู้ที่แสดงความคิดเห็นโดยบริสุทธิ์ใจ ต่อผู้เคราะห์ร้ายที่ต้องตกเป็นเหยื่อโดยมิได้เกี่ยวข้องในทางใดทางหนึ่ง และต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์

          นอกจากนี้ ยังทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองขยายตัวขึ้น และเกิดการลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของพลเมืองจนความเป็นประชาธิปไตยของสังคมไทยถดถอยลงไป ส่งผลให้สังคมการเมืองไทยสูญเสียโอกาสที่จะใช้ความเป็นประชาธิปไตย ทั้งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและการสร้างความเป็นธรรมในสังคมไปอย่างน่าเสียดาย

          เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยมิชอบ ในบริบทที่หลายฝ่ายยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันและยังคงถกเถียงกันเกี่ยวกับการคงไว้หรือการยกเลิกมาตราดังกล่าว ผู้มีรายชื่อข้างล่างนี้ใคร่ขอเสนอทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

          โดยเรียกร้องให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการกลั่นกรองการฟ้องร้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  ที่ประกอบด้วยหลายฝ่าย เช่น ข้าราชการที่เป็นตัวแทนฝ่ายบริหาร , ส.ส. และ สว. ที่เป็นตัวแทนจากรัฐสภา, กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, อัยการ, นักวิชาการ, ผู้นำชาวบ้าน, ผู้แทนจากสหภาพแรงงาน ฯลฯ คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่กลั่นกรองทุกคดีที่ฟ้องร้องกันในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเลือกสรรเฉพาะคดีที่เสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการฯ เห็นว่ามีมูล เพื่อส่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป

          กระบวนการกลั่นกรองคดีความที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดังกล่าวข้างต้นนี้ จะช่วยป้องกันมิให้ผู้ใดสามารถใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้อย่างสะดวก และยังเอื้อให้เกิดพื้นที่ทางสังคมที่ปลอดภัยสำหรับการถกเถียงทางวิชาการอย่างกว้างขวางเพื่อหาทางออกให้แก่ความขัดแย้งในเรื่องนี้อย่างสร้างสรรค์อีกด้วย ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรเร่งรัดให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการกลั่นกรองการฟ้องร้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112” โดยเร็วที่สุด