พระบรมมหาราชวัง
พระบรมมหาราชวัง: พันเรื่องถิ่นแผ่นดินไทย บทความโดย ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์และคณะ
ภายหลังที่ยกเสาหลักเมืองกรุงเทพมหานครแล้ว ในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมณเฑียรสถานด้วยเครื่องไม้ เป็นการชั่วคราว โดยที่ใช้ไม้ระเนียดล้อมอาณาบริเวณไว้ แทนกำแพงพระบรมมหาราชวัง ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน เมื่อแล้วเสร็จ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขปขึ้น 3 วัน ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2325 ครั้นในวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2325 เวลา 06.00 นาฬิกา 24 นาที อันเป็นอุดมมงคลฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จพระราชดำเนินโดย กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ข้ามฟากมาจากฝั่งกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร มาสู่ฝั่งตะวันออก ณ ชนวนท่าน้ำหน้าพระบรมมหาราชวัง เสด็จประทับพระราชยาน มีตำรวจหลวงแห่นำตามเสด็จฯ สู่พระราชมณเฑียรสถาน ทรงประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษก เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติแต่นั้นสืบมา
เมื่อทรงเสด็จผ่านพิภพมาครบหนึ่งปี บ้านเมืองมีความร่มเย็นเป็นสุข ในปี พ.ศ.2326 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มการก่อสร้างกำแพง ป้อม ประตู สร้างพระราชมณเฑียรสถาน ตลอดจนสร้างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระเจดีย์ พระมณฑป ศาลาราย และหอมณเฑียรธรรม และในปีถัดมา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาปราสาทขึ้น เมื่อการทั้งปวงแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ.2328 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีราชาภิเษกขึ้น
พระราชพิธีราชาภิเษก ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นนั้น เป็นพระราชพิธีราชาภิเษกที่จัดขึ้น เต็มตามรูปแบบโบราณราชประเพณี โดยเสด็จประกอบพิธีพระราชพิธีใน “พระมหามณเฑียร” ซึ่งเป็นหมู่พระที่นั่งที่มีความสำคัญที่สุดหมู่หนึ่ง ในพระบรมมหาราชวัง เป็นมูลสถานที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างขึ้นเป็นแห่งแรก ตลอดจนเป็นพระราชมณเฑียร ที่ทรงเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียร และทรงประทับอยู่จนตลอดรัชสมัย
แต่เดิมในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไม่ได้เรียกพระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร เป็นองค์ๆ แยกกันอย่างปัจจุบัน แต่รวมเรียกกันว่า “พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน” ครั้นต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เรียกพระที่นั่งแต่ละองค์อย่างเข้าใจง่าย อาทิ “พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย” เรียกว่า “ท้องพระโรง” ครั้นถึงรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศขนานนามพระที่นั่งแต่ละองค์ขึ้น ในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2467
ในบรรดาหมู่พระที่นั่งในพระมหามณเฑียรมี “พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน” เป็นองค์ประธาน ซึ่งจะได้เล่าต่อในวันพรุ่งนี้ครับ