ข่าว

แบรนด์สินค้าที่จีนก๊อบปี้มากที่สุด

24 ธ.ค. 2554

เวิลด์วาไรตี้ : แบรนด์สินค้าตะวันตก ที่จีนก๊อบปี้มากที่สุด

          "สินค้าก๊อป 100%" หรือ "สินค้าก๊อปเกรดเอ" เป็นวลีคุ้นหูที่พ่อค้าแม่ค้าขายสินค้าราคาถูกจากประเทศจีนใช้นำเสนอลูกค้า ด้วยราคาที่ถูกกว่า และสินค้ามีลักษณะใกล้เคียง หรือเป็นสินค้าจริงๆ ที่ออกจากโรงงานเดียวกันกับเจ้าของสินค้าแบรนด์เนมใช้ในการผลิตสินค้า "มีระดับ" ของตนเอง ทำให้สินค้า "ก๊อบปี้" จากประเทศจีนเป็นที่นิยมอย่างมากในตลาดโลก (รวมทั้งประเทศไทย)

          เจ้าของแบรนด์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในประเทศตะวันตก ทั้งยุโรป และสหรัฐอเมริกา ถึงกับตั้งหน่วยตรวจสอบสินค้าแบรนด์เนมที่นักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางมายังประเทศของตนใช้ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋ายี่ห้อดัง หรือ รองเท้าแบรนด์ระดับโลก ว่าเป็น "ของจริง" หรือไม่

          ไม่เพียงแต่เจ้าของสินค้าแบรนด์เนม ที่ว่าจ้างโรงงานในประเทศจีนเป็นฐานผลิตสินค้าจะต้องปวดหัวกับสินค้าปลอม แต่เจ้าของแฟรนไชส์ร้านฟาสต์ฟู้ด เช่น แมคโดนัลด์ เคเอฟซี หรือร้านแอปเปิลสโตร์ ของค่ายแอปเปิลแหว่งแหล่งจำหน่ายไอโฟน-ไอแพด หนังสือยอดนิยมอย่างแฮร์รี่ พอตเตอร์ กระทั่งสวนสนุกของดิสนีย์ ก็ยังถูกนักธุรกิจหัวใสของจีนเลียนแบบ โดยมีการปรับแต่งนี่นิดปรับนั่นหน่อย ให้มีความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ พอสังเกตได้หากจะตั้งใจจับผิดกันจริงๆ

          เมื่อเร็วๆ นี้ ซีเอ็นบีซีสื่อด้านธุรกิจชั้นนำของสหรัฐได้ทำรายงานเปิดโปงธุรกิจจีนที่เลียนแบบ หรือก๊อบปี้แบรนด์สินค้าจากตะวันตก 10 อันดับ โดยอันดับหนึ่งได้แก่ ร้านแอปเปิลสโตร์ ที่มีข่าวฮือฮาเมื่อไม่นานมานี้ว่ามีผู้พบร้านแอปเปิลสโตร์ ในนครเซี่ยงไฮ้ที่ "เหมือน" กับร้านแอปเปิลสโตร์ที่บริษัทแอปเปิล อิงค์ อนุมัติให้เปิดอย่างไม่ผิดเพี้ยน ทั้งการตกแต่ง จนถึงลักษณะท่าทางและการแต่งตัวของพนักงาน ซึ่งปรากฏในภายหลังว่าเป็นร้านแอปเปิลสโตร์ของตัวแทนจำหน่ายจริง แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากทางการให้เปิดบริการเท่านั้น

          อันดับสอง ตกเป็นของ "อิเกีย" ซูเปอร์สโตร์จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์แบบประกอบเองจากสวีเดนที่เข้าไปบุกตลาดแดนมังกรด้วยความหาญกล้า และหวังว่าการขยายตัวของชนชั้นกลางที่ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนขยายตัวอย่างร้อนแรง เป็นตลาดที่หอมหวานสำหรับธุรกิจจากแดนไวกิ้ง แต่อิเกียก็ถึงกับผงะเมื่อมีนักธุรกิจจีนเปิดซูเปอร์สโตร์ขายเฟอร์นิเจอร์แบบเดียวกัน (จากการก๊อบปี้สินค้าของอิเกียแทบทุกชนิด) และใช้ชื่อว่า "11 Furniture" ซึ่งอ่านออกเสียงในภาษาจีนได้ว่า "ฉืออี้เจี่ยจู" ที่คล้ายกับชื่อ "อิเกีย" ที่อ่านออกเสียงในภาษาจีนว่า "อี้เจี่ยจู" ยิ่งไปกว่านั้นห้าง 11 Furniture ยังใช้สีสันของอาคารและโลโก้แบบเดียวกับ อิเกีย ไม่ผิดเพี้ยน

          ส่วนอันดับสาม ได้แก่ สวนสนุกดิสนีย์ ที่บริษัทวอลท์ ดิสนีย์ ยังงงว่าบริษัทมีแผนการลงทุนเปิดสาขาในประเทศจีนตั้งแต่เมื่อใด ไม่ว่าจะเป็นตัวอาคาร เครื่องเล่น แม้กระทั่งตัวการ์ตูนอย่างมิกกี้เม้าส์ กูฟฟี่ หรือมินนี่เม้าส์ ก็มีพร้อมอยู่ในสวนสนุก ปักกิ่ง ฉือจิงฉาง ที่เหมือนกับ สวนสนุก แมจิก คิงดอม แอนด์ เอปคอท เซ็นเตอร์ ของดิสนีย์ที่เปิดให้บริการในเมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไม่ผิดเพี้ยน

          อันดับสี่ ได้แก่ สตาร์บัคส์ ที่กลิ่นกาแฟหอมหวนภายใต้แบรนด์สตาร์บัคส์ เป็นสิ่งเย้ายวนนักธุรกิจจีนให้เลียนแบบแบรนด์อย่างไม่ต้องลังเล เมื่อสตาร์บัคส์เข้าไปเปิดธุรกิจในประเทศจีนในปี 2549 ได้ไม่นานก็มีร้านกาแฟแบรนด์ บัคส์สตาร์ คอฟฟี่ วันดอลลาร์คอฟฟี่ และ ลักกี้ คอฟฟี่ ผุดขึ้นมาเป็นเพื่อน โดยถ้าไม่พิจารณาโลโก้นางเงือกของร้านเหล่านี้ให้ดีก็จะนึกว่าเป็นร้านกาแฟชื่อดังจากสหรัฐอเมริกาของจริง

          อันดับห้า ตกเป็นกรรมของสวนสนุกเวิลด์ ออฟ วอร์คราฟท์ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเกมคอมพิวเตอร์ "เวิลด์ ออฟ วอร์คราฟท์" จากค่ายเกม บลิซซาร์ด ที่มีการสร้างของจริงขึ้นมาในต่างประเทศ แต่นักธุรกิจจีนก็ไปเลียนแบบมาอย่างไม่ผิดเพี้ยน (นักท่องเที่ยวบางคนถึงกับชมว่าเครื่องเล่นในสวนสนุกก๊อบปี้ของจีนสนุกกว่าของจริงเสียอีก) โดยใช้ชื่อว่า เวิลด์ จอยแลนด์ ตั้งอยู่ในเมืองฉางโจว ทางตะวันตกของนครเซี่ยงไฮ้

          อันดับหก ตกเป็นของเคเอฟซี ตามมาด้วย แมคโดนัลด์ ไนกี้ หนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ และร้านขายสินค้าของดิสนีย์ ที่นักธุรกิจจีนหัวใสแต่ใจไม่ซื่อลอกเลียนแบบ หรือใช้สัญลักษณ์ที่มีความเหมือนกับของจริงเกือบ 90% เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฟ้อง หรือจะใช้อ้างในศาลแพ่งเพื่อขอลดโทษได้ว่า "ไม่ได้เลียนแบบมาเต็มๆ นะครับ"

          ธุรกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกับเศรษฐกิจของประเทศที่ขยายตัวอย่างร้อนแรง เพียงแต่ขาดองค์ความรู้ที่จะมาใช้สร้างแบรนด์สินค้าของตัวเอง ดังนั้นการเลียนแบบแบรนด์สินค้าจากตะวันตกจึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ เพราะเมื่อมองกลับไปถึงอดีตของธุรกิจแดนซามูไรเมื่อกว่า 3 ทศวรรษที่แล้ว สินค้าของญี่ปุ่นก็อาศัยการ "ก๊อบปี้" และ "พัฒนา" ต่อยอดจากสินค้าตะวันตก ก่อนที่สินค้าญี่ปุ่นจะกลายเป็นสินค้ายอดนิยมของคนทั่วโลกเช่นกัน ธุรกิจจีนก็กำลังเดินตามรอยเกวียนที่ญี่ปุ่นนำร่องไว้ก่อนแล้วเท่านั้น

----------------------

(เวิลด์วาไรตี้ : แบรนด์สินค้าตะวันตก ที่จีนก๊อบปี้มากที่สุด)