
ทำไม'ซิมซิมิ'ส่งผลกระทบสังคมไทย?
เล่าสู่กันฟัง : ทำไม'ซิมซิมิ'ส่งผลกระทบสังคมไทย? โดย...บัญญัติ คำนูณวัฒน์
คงต้องยอมรับกันว่า ยุคนี้เป็นยุคที่เทคโนโลยีมีพัฒนาการ เติบโต เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่หยุดนิ่ง และมีอะไรใหม่มาให้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา บางอย่างก็มาเป็นกระแสนิยมสักระยะหนึ่งแล้วก็หายไป บางอย่างมาแล้วก็อยู่นานและพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ที่จะเรียนรู้และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร หากใช้ในทางที่ดีที่ถูกต้องก็สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง สังคม และประเทศให้ดีขึ้นได้ หากใช้ทางที่ผิดก็จะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ทำลายตนเอง ทำร้ายผู้อื่น และทำลายสังคม
ตัวอย่างเช่น กรณีแอพพลิเคชั่น “ซิมซิมิ” (Simsimi) หรือ “โปรแกรมลูกไก่” ที่กำลังได้รับความนิยม ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์และจับตาจากหน่วยงานรัฐ เนื่องจากมีการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม ดูยียวนกวนประสาท และหยาบคายในประโยคที่โต้ตอบกลับมา ล่าสุดผู้พัฒนาโปรแกรมในเกาหลีใต้ได้บล๊อกซิมซิมิภาษาไทยแล้ว หลังจากหน่วยงานรัฐแจ้งเตือนไปในเรื่องความหยาบคายของการสื่อสารระหว่างผู้เล่นโต้ตอบกับโปรแกรมและความกังวลที่มีการใส่ชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งนักการเมือง ดารา ที่ได้คำตอบจากซิมซิมิไม่เหมาะสม อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาท และมีการนำไปโพสต์ข้อความขยายต่อในสังคมออนไลน์
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ประชาชนรับสื่อจากทั่วทุกมุมโลก มีเสรีภาพแสดงความคิดเห็น เว้นแต่ในเรื่องการใช้ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ยังคงอยู่ภายใต้การปกป้อง ดูแล เอาใจใส่ และเฝ้าระวังของหน่วยงานรัฐ เนื่องจากเยาวชนซึมซับวัฒนธรรมต่างชาติได้ง่าย เช่น เจป๊อป เคป๊อบ ฯลฯ จึงนำมาดัดแปลงกับภาษาไทยก่อให้เกิดภาษาใหม่ๆ ที่ฟังดูแปลกๆ และรู้กันเฉพาะแต่ในกลุ่มเท่านั้น เช่น คริคริ จุ๊บุ..จุ๊บุ มว๊ากกก เป็นต้น แต่ระยะหลังก็เริ่มมีการนำใช้ออกสื่ออย่างแพร่หลายผ่านสังคมออนไลน์ จนทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ กังวลว่าจะมีผลกับการใช้ภาษาไทยของเด็กและเยาวชนไทยในอนาคต
ดังนั้น การบล็อกแอพพลิเคชั่น “ซิมซิมิ” จึงดูเหมือนจะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด แต่เป็นเพียงแค่การแก้ไขในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ควรทำคือการมุ่งป้องกันและแก้ไขที่คนในสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนควรปลูกฝังและพัฒนาให้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ มีสติ รู้จักแยกแยะ และตระหนักถึงประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยี รวมถึงแอพพลิเคชั่นต่างๆ ในทางที่ถูกที่ควร ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้ผลิตโปรแกรม เช่น เพื่อประโยชน์ในการขวนขวายหาความรู้ เพื่อความบันเทิง เพื่อความสนุกสนาน ลดความตึงเครียด แก้เบื่อ ฯลฯ มากกว่าใช้เพื่อความคึกคะนอง และเป็นที่ระบายอารมณ์ความรุนแรง
ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ เรื่องของการใช้ภาษาไทยควรรู้จักที่จะเรียนรู้หลักการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องตามกาลเทศะ ควบคู่ไปกับการใช้คำแสลงที่เข้ามาเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น
การป้องกันและแก้ไขโดยหน่วยงานภาครัฐอาจเป็นการแก้ไขแค่ปลายเหตุ เราในฐานะที่เป็นคนหนึ่งในสังคมไทยควรช่วยกันแก้ไขที่ต้นเหตุ เพื่อป้องกันไม่เกิดปัญหา ด้วยการเข้ามาเอาใจใส่และดูแลลูกหลานของเราให้มากขึ้น สนใจในสิ่งที่เกิดขึ้นและใช้วิธีการสื่อสารพูดคุยกันให้มากขึ้นด้วยเหตุด้วยผล อย่าใช้วิธีบ่น เพราะมีแต่จะสร้างความรำคาญและกดดัน อย่าห้ามไม่ให้ทำในสิ่งที่เขาชอบโดยไม่มีเหตุผล เพราะจะเกิดการต่อต้าน และขัดแย้ง หากเกิดปัญหาขึ้น อย่ามองว่าเป็นความผิดของเขาคนเดียว แต่ผู้ปกครองควรมีส่วนผิดด้วย ฯลฯ ก็จะช่วยลดการเกิดพฤติกรรมที่ก้าวร้าวทั้งทางคำพูดและการกระทำขึ้นมาได้
การสื่อสารทางภาษาของเยาวชนในแต่ละยุคแต่ละสมัยมีความแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ ภาษาและสำนวนที่ใช้จะบอกถึงความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และความรู้สึกของคนในขณะนั้น ดังนั้น หากเราจะช่วยกันสังเกตภาษาที่เยาวชนสื่อออกมาแล้วคิดสักนิด ก็จะเข้าใจว่าเยาวชนของเรามีสภาพจิตใจเป็นอย่างไร เขากำลังคิดอะไร มีมุมมองต่อสังคมรอบด้านอย่างไร แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็นำไปศึกษาวิเคราะห์ดูว่าจะสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้อย่างไร
......................................
(เล่าสู่กันฟัง : ทำไม “ซิมซิมิ” ส่งผลกระทบสังคมไทย? โดย...บัญญัติ คำนูณวัฒน์)