ปู...
ปู... : กระจกเงา โดย อัศศิริ ธรรมโชติ
“ครั้นถ้วนคำรบเจ็ดท่า กายาก็กลับเป็นปูใหญ่
เสร็จแล้วคลานลงชลาลัย จมอยู่ในท้องวารี”
คำกลอนเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ที่ได้ยกมานี้ เป็นตอนที่ทศกัณฐ์แปลงร่างเป็นปูเพื่อไปฆ่าลูกของพาลี แต่ถูกลิงพาลีจับได้เสียก่อน เอาทศกัณฐ์ไปขังไว้ให้ลูกลากเล่นต่างปูอยู่นานถึง 7 วัน ทศกัณฐ์ในครั้งนั้นต้องทนทุกข์ทรมานมาก
เรื่องนี้ถึงอย่างไรก็สอนให้คนรู้ว่า ไม่ควรจะประมาทปู อาจเป็นยักษ์แปลงกายมาจับคนกินจนหมดเมืองได้โดยไม่รู้ตัว
ตามตำราว่าปูเป็นสัตว์มีกระดองคลุมตัวและมีขา 10 ขา รวมทั้งก้ามที่ใช้เป็นอาวุธหาเหยื่อและป้องกันตัวเอง ทั่วโลกมีปูมากกว่า 1,000 ชนิด มีขนาดแตกต่างกัน ส่วนใหญ่อยู่ในทะเล ที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดนั้นมีเป็นส่วนน้อย
ปูมีส่วนท้องที่มีลักษณะเป็นปล้องๆ เรียกว่า “จับปิ้ง” และมีเลือดเป็นสีฟ้าใสๆ
ปูส่วนใหญ่เป็นสัตว์กินเนื้อ จะกินทั้งสัตว์เป็นและสัตว์ที่ตายแล้วเน่าเปื่อย กินแม้แต่พวกปูด้วยกันเอง ที่กินเฉพาะพืชอย่างเช่น สาหร่ายมีบ้าง แต่ก็มีน้อยมาก ส่วนปูที่เป็นอาหารว่าจะอร่อยถูกปากต้องเป็นปูสดใหม่ และมีเนื้อแน่น ตรงข้ามกับปูที่มีน้ำหนักน้อย กินไม่มีรสชาติ อย่างหลังนี้เรียกว่าปูโพรก
“ปูสองกะดอง” ก็คือปูนิ่ม เป็นปูที่เพิ่งจะลอกคราบ ถือกันว่าเป็นปูที่สมบูรณ์เต็มที่เพราะมีเนื้อแน่นดี คนจึงชอบกินกันมากพอๆ กับปูไข่ เป็นปูที่กินได้ทั้งตัว เช่น ปูม้า ปูทะเล ที่เป็นปูแสมก็มักจะเอามาคลุกเกลือหมักดองเค็ม เป็นต้น
ในเมืองไทยมีปูมากกว่า 500 ชนิด รวมทั้งปูน้ำจืด แต่ที่รู้จักกันมากก็ได้แก่ปูม้า
ปูม้าเป็นปูทะเล ที่คนไทยทั่วไปนิยมนำมาทำอาหาร ว่าแค่นึ่งจิ้มเนื้อกินกับน้ำปลา กระเทียมสด พริกขี้หนูและน้ำมะนาว ก็สุดวิเศษแล้ว นี่ยังไม่ได้กล่าวถึงประเภทข้าวผัดปูที่สุดอร่อยอีกต่างหาก
ปูที่เห็นกันในส้มตำก็คือปูนา ซึ่งเป็นปูน้ำจืดที่ขุดรูอาศัยอยู่ตามท้องทุ่งท้องนา และชอบออกมาในฤดูฝน ข้อเสียของปูนาก็คือเป็นศัตรูต่อนาข้าว บ่อปลา มักสร้างความเสียหายให้คนอยู่เป็นประจำ เพราะปูนาชอบกัดกินต้นข้าว ต้นกล้า และแย่งอาหารลูกปลากิน
การนำปูนามาเป็นอาหาร ต้องระวังไว้อย่างหนึ่งก็คือพยาธิใบไม้ ด้วยปูนาเป็นพาหะของพวกพยาธิใบไม้ ท่านว่าทางที่ดีควรทำให้สุกเสียก่อน
ตำราบอกว่า ปูเป็นสัตว์ประเภทที่กินไปถ่ายไป เพราะปากกับก้นอยู่ใกล้กัน มีขาเป็นคู่ถึง 10 ขาก็จริง แต่ใช้เดินได้ไม่กี่คู่กี่ขา จึงเดินเป๋ไปเป๋มา นิทานเรื่องแม่ปูสอนลูกปูเดินไม่ตรงทางก็มาจากด้วยเหตุนี้
มีปูบางชนิดที่มี “จับปิ้ง” หรือว่าท้องปล้องอ่อนต้องอาศัยเปลือกหอยอยู่ ต้องใช้เปลือกหอยเป็นที่กำบังตน นั่นก็คือปูเสฉวน ปูชนิดนี้จะยึดติดเปลือกหอยเอาไว้และเที่ยวลากพาเปลือกหอยไปในที่ต่างๆ
ก็น่าจะตรงกันข้ามกับ “รัฐบาลปู” ที่เห็นอยู่ เป็นฝ่ายถูกเปลือกหอยลากพาไปเสียมากกว่า
ว่าปูบางชนิดมักจะมีดอกไม้ทะเลประดับเกาะอยู่บนหลัง หรือไม่ก็เป็นพวกฟองน้ำมาอาศัยเกาะกินอยู่ ปูอยู่ในน้ำ ถ้าไม่ระวังให้ดีจะต้องมีอันเป็นไปถ้าหากว่าน้ำเกิดเป็นพิษเป็นกรด จะกัดกินกระดองปูให้เปื่อยเน่าได้ในที่สุด
อีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจก็ได้แก่ปูแสม “ส้มตำปูเค็ม” ก็คือปูแสมนี้แหละครับ
ว่าปูแสมเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอาศัยอยู่ตามป่าชายเลน ต้นโกงกาง ปกติแล้วตื่นกลัวง่าย เมื่อภัยมาจะวิ่งหลบลงรูก่อนอื่น เห็นว่าปลอดภัยดีแล้วถึงค่อยคลานออกจากรูมา ศัตรูของปูแสมที่ต้องระวังให้หนักก็ได้แก่พวกลิงแสม
ลิงแสมเป็นพวกลิงหางยาวที่ชอบจับปูกินเป็นพิเศษ
ว่าปูแสมคืออาหารอันโอชะของลิงแสม ที่มักจะใช้หางยาวแหย่ล่อลงไปในโพรงหรือว่ารูปู ล่อให้ปูขึ้นมาหรือไม่ก็จะใช้มือล้วงควักลากปูขึ้นมาจากรูจับฉีกเคี้ยวกินเอาเลยทีเดียว
ถ้าเป็น “รัฐบาลปูแสม” ก็จะต้องระวังพวกลิงแสมเอาไว้ให้ดีครับ