ข่าว

'หมอสัตว์ป่า'ขาดแคลนคนเรียนน้อย

'หมอสัตว์ป่า'ขาดแคลนคนเรียนน้อย

12 มี.ค. 2555

'หมอสัตว์ป่า'ขาดแคลน คนเรียนน้อยเพราะไม่มีงานทำ : กวินทรา ใจซื่อรายงาน

              หมอสัตว์ป่าท้อ เรียนจบไม่มีงานรองรับ นศ.สัตวแพทย์ มข.เมิน ปีนี้เลือกเรียนเพียง 5 คน ขณะที่ปี 2553 เรียนเพียงคนเดียว ระบุคนเลือกเรียนต้องอุดมการณ์สูง แต่เมื่อวัยผ่านไปรายได้ไม่มากพอ ก็ต้องเปลี่ยนมารักษาหมาแมวที่ได้รับความนิยมมากกว่า ด้านอาจารย์เรียกร้องให้หน่วยงานเปิดรับสัตวแพทย์เฉพาะทางให้ตรงกับลักษณะงาน
   
              การดูแลและรักษาสัตว์ป่าอย่างเต่ากระ และเต่าตนุของ น.ส.วัชรา ศากรวิมล บัณฑิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ถือเป็นประสบการณ์ประทับใจที่ได้นำวิชาความรู้ในการรักษาสัตว์ป่าที่เรียนในห้องเรียนมาใช้จริงในการฝึกงานภาคสนาม ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลนจังหวัดภูเก็ต
   
              "วัชรา "เป็น 1 ใน 5 ของนักศึกษาที่เลือกเรียนหมอสัตว์ป่าเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 5 จากความรัก ชื่นชอบ และสนใจที่จะทำงานด้านการรักษาสัตว์ป่า วัชรามีแนวคิดว่าสัตว์ป่าเป็นสมบัติของคนไทยที่ต้องช่วยกันอนุรักษ์ จึงตั้งความหวังว่าหากจบออกไปจะเป็นหมอรักษาสัตว์ป่าโดยเฉพาะการรักษาสัตว์ทะเล แต่เมื่อเรียนจบการหางานทำด้านการรักษาสัตว์ป่า สัตว์ทะเลหายากต้องยุติลง เพราะปีนี้ไม่มีตำแหน่งรองรับให้เธอได้เข้าไปทำงานตามที่ตั้งความหวังไว้
   
              “นักศึกษาทุกคนจะได้เรียนการรักษาสัตว์เล็ก พวกหมาและแมว จนชำนาญ ทุกคนจะมีพื้นฐานความรู้การรักษาเหมือนกัน ส่วนวิชาที่เรียนเกี่ยวกับสัตว์ป่าจะเริ่มเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 5 เรียนรวมกับสัตว์น้ำและสัตว์แปลกจะเรียนแค่ 2 หน่วยกิตเท่านั้น เรียนวิชาคลินิกสัตว์ป่าและสัตว์แปลก 2 อาทิตย์ ซึ่งเรื่องหลักสูตรที่เรียนไม่พอเพราะสัตว์ป่ามีหลากหลายมาก หากรัฐบาลสามารถผลักดันให้สัตวแพทย์มีการเรียนเฉพาะทางอย่างแพทย์รักษาคนก็น่าจะเพิ่มศักยภาพให้แก่วิชาชีพนี้ได้” วัชรากล่าว
   
              การเรียนรู้ในภาคปฏิบัติ นักศึกษาที่สนใจงานด้านสัตว์ป่า ต้องเดินทางไปฝึกงานตามสวนสัตว์ อุทยานแห่งชาติ และศูนย์วิจัยสัตว์ป่า ส่วนวัชราเลือกเดินทางไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านการรักษาสัตว์ป่าทั้งที่มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า สวนสัตว์เปิดเขาเขียว โรงพยาบาลช้างจังหวัดสุรินทร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลนจังหวัดภูเก็ต และล่าสุดเดินทางไปเมืองไซยะบุรี ส.ป.ป.ลาว เพื่อดูสถานที่ทำงาน หลังส่งใบสมัครไปทำงานเกี่ยวกับช้างของมูลนิธิ elephant conservation center จากประเทศฝรั่งเศส
   
              “นักศึกษาที่อยากทำงานด้านสัตว์ป่ารู้ว่าในห้องเรียนไม่สามารถสอนได้ทุกอย่าง จำเป็นต้องออกไปหาความรู้นอกห้องเรียน ทั้งการฝึกงานและการค้นคว้าเพิ่ม ส่วนเรื่องงาน คนที่ทำงานด้านนี้คงต้องทำใจรอโอกาส เพราะตำแหน่งงานมีน้อย” วัชรากล่าว
   
              สำหรับปีนี้ สัตวแพทยศาสตร์ มข.มีนักศึกษาเรียนจบด้านสัตว์ป่า 5 คน ขณะที่ปี 2553 มีเพียง พนิดา พาณิชศิลปะกิจ หรือหมอโอ๊ต เพียงคนเดียว ที่สนใจเลือกเรียนสาขาสัตว์ป่า โดยช่วงฝึกงานได้ไปที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว รวมถึงการเข้าร่วมอบรม ทำให้มีโอกาสรู้จักหมอสัตว์ป่าหลายคน หลังจากฝึกงานเสร็จแล้วจึงตัดสินใจเข้าเป็นอาสาสมัครช่วยงานรักษาสัตว์ป่า จนกระทั่งได้ทำงานที่ซาฟารีเวิลด์ นอกจากจะเป็นผู้หญิงคนเดียวที่จบด้านสัตว์ป่าแล้ว หมอโอ๊ตยังเป็นหมอสัตว์ป่าคนแรกของซาฟารีเวิลด์ด้วย
   
              “สัตวแพทย์ส่วนใหญ่ที่เลือกทำงานด้านสัตว์ป่ามักเป็นหมอที่มีอุดมการณ์สูง มุ่งมั่นและตั้งใจที่จะรักษาสัตว์ป่าอย่างเต็มกำลังความสามารถ ซึ่งจะพบในสัตวแพทย์ที่เรียนจบใหม่เมื่อทำงานไปเรื่อยเงินเดือนเริ่มคงที่ หมอบางท่านเริ่มมีครอบครัว ตอนนี้เรื่องเงินเริ่มจะสำคัญกับชีวิตแล้ว มีหมอไม่น้อยเลยที่ออกจากงาน แล้วก็เปลี่ยนแนวมารักษาสัตว์เลี้ยงแทน เพื่อให้มีเงินมาจุนเจือครอบครัว หรือบางคนก็ต้องรับงานนอก“ พนิดากล่าว
   
              ด้าน ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สถานการณ์การเลี้ยงสัตว์ป่าและสัตว์แปลกที่นำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นภาวะจำเป็นที่สังคมต้องการสัตวแพทย์เฉพาะทางกลุ่มนี้ สิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการคือผลิตนักศึกษาให้เพียงพอ ซึ่งนักศึกษาที่จบในปีนี้ 5 คน ถือว่าเป็นจำนวนที่มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาที่พบคือปี 2555 นี้ ยังไม่มีหน่วยงานใดเปิดตำแหน่งรองรับคนกลุ่มนี้เข้าทำงาน ทั้งที่ประเทศไทยยังขาดแคลนหมอสัตว์ป่าอีกมาก 
     
              “ขึ้นกับนโยบาย วิสัยทัศน์ และมุมมองของแต่ละกระทรวงว่ามองเห็นความสำคัญของสัตว์ป่า และสัตวแพทย์สัตว์ป่าอย่างไร แต่ที่ผ่านมาบ้านเราเน้นเรื่องปศุสัตว์ และการรักษาสัตว์เล็กพวกหมา แมว มหาวิทยาลัยเองจำเป็นต้องผลิตบุคคลรองรับความต้องการ ในขณะที่หมอสัตว์ป่ากลับไม่มีกระทรวงใดเห็นความสำคัญในการมีสัตวแพทย์สัตว์ป่า ทำให้นักศึกษากลุ่มที่เรียนเรื่องสัตว์ป่าลดน้อยลง แต่ก็ยังต้องผลิตนักศึกษาออกไปดูแลสัตว์ป่าด้วย เพราะบ้านเราต้องใช้บริการหมอกลุ่มนี้อยู่ แต่ถามว่าพอไหมประเทศเราถือว่ามีน้อยมาก” ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์กล่าว
   
              “โครงการเคี่ยวเข้มหมอสัตว์ป่า” เป็นโครงการที่ช่วยผลิตหมอสัตว์ป่าให้เรียนรู้การทำงานจริงจากรุ่นพี่ และอาจารย์ที่ผ่านประสบการณ์การรักษาจัดขึ้นปีละครั้ง   แต่เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมางานที่รองรับหมอสัตว์ป่าโดยตรงค่อนข้างน้อยประกอบกับยังไม่เป็นที่รู้จัก กรมอุทยานและสัตว์ป่าเองก็ยังไม่ชัดเจนเรื่องการรับหมอสัตว์ป่าเข้าไปทำงาน ปีที่ผ่านมาโครงการเคี่ยวเข้มจึงต้องหยุดลง เพราะไม่มีตำแหน่งรองรับนักศึกษาที่จบแล้วเข้าไปทำงาน หมอสัตว์ป่าบางคนผันตัวเองไปสมัครงานอยู่ในสวนสัตว์ที่เป็นขององค์การสวนสัตว์แต่ก็เปิดรับเพียงปีละ1-2 คนเท่านั้น ส่วนคนที่เหลือก็ไปรักษาสัตว์แปลกบ้าง เรียนต่อหรือไปรักษาสัตว์เลี้ยงแทน
   
              ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์ กล่าวว่า หลายคนตั้งคำถามว่าเมื่อเรียนจบจะมีตำแหน่งรองรับหรือไม่ จบออกมาแล้วจะไปทำอะไร ทั้งที่เมืองไทยมีสัตว์ป่าหลากหลายชนิดที่ยังรอการดูแลรักษาจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง นอกจากนี้การมีแพทย์สัตว์ป่าเฉพาะทางยังสร้างการยอมรับจากนานาประเทศด้วย หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องหันมาดูแลอย่างจริงจัง เพื่อให้หมอสัตว์ป่าเป็นที่รู้จักของสังคมมากขึ้นด้วย


........

(หมายเหตุ : 'หมอสัตว์ป่า'ขาด คนเรียนน้อยเพราะไม่มีงานทำ : กวินทรา  ใจซื่อรายงาน)