ข่าว

ร่วมกตัญญู-ป่อเต็กตึ๊งต้นแบบงาน'จิตอาสา'

ร่วมกตัญญู-ป่อเต็กตึ๊งต้นแบบงาน'จิตอาสา'

20 มี.ค. 2555

ร่วมกตัญญู-ป่อเต็กตึ๊งต้นแบบงาน'จิตอาสา'

           ชื่อ “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” คงจะเป็นที่รู้จักของชาวไทยเป็นอย่างดี ในฐานะนักแสดงที่โด่งดังจากวงการภาพยนตร์ และภายในงานประชุมวิชาการประจำปี การพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ครั้งที่ 13 จัดโดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) นั้น บิณฑ์ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์วัยเยาว์กว่าจะได้เป็นซุปเปอร์สตาร์เมืองไทย และงาน “กู้ภัย” ที่เขาภาคภูมิใจ


             “ผมเกิดมาในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจนคุณพ่อเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ และคุณแม่เป็นแม่บ้าน พ่ออยากให้ลูกชายคนหนึ่งคนใดทำงานเหมือนพ่อ ส่วนแม่ต้องการให้ลูกชายทำงานราชการสวมเครื่องแบบทหาร หรือตำรวจ แต่ใจมันไม่ชอบ แต่ไม่ขัดใจแม่นะคือ เข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ แล้วก็เรียนรด. วันหนึ่งกลับบ้านสวมชุดรด.ไป แม่เข้ามากอดผมแน่นด้วยความดีใจ”


             บิณฑ์ เล่าว่า ก่อนจะเข้าวงการส่วนตัวรู้สึกว่า งานอะไรก็ได้ที่เราทำแล้วมีใจอยากทำ มันทำได้หมด วันหนึ่งเข้ามาทดสอบเป็นพระเอกเขาให้ขี่ม้า ก็ทำได้ทั้งที่ไม่เคยฝึกมาก่อน เขาให้แสดงผาดโผนขี่ม้าปล่อยมือ ยิงปืนด้วย ทำได้หมดจึงได้เป็นประเอกนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยเรื่องแรกที่เล่นคือ “ข้ามากับพระ” สรพงษ์ ชาตรี แสดงเป็นพระ ส่วนพระเอกชื่อ “บิณฑ์ บารมี”  และเป็นที่มาของชื่อ “บิณฑ์”  นับตั้งแต่นั้นมา

             จากการเล่นหนังเป็นพระเอก 94 เรื่อง บิณฑ์ ประสบความสำเร็จได้รางวัลตุ๊กตาทอง รางวัลเมฆขลา ทำให้ตัวบิณฑ์ มีภาพเป็นพระเอกติดตัวตลอดเวลา และจะปฏิเสธที่จะเล่นหนังที่เป็นผู้ร้าย หรือเป็นมาเฟีย เพราะตัวเองคิดว่าขัดกับภาพลักษณ์ส่วนตัว ที่ต้องการให้ภาพดีทั้งในจอและนอกจอ


             จากซุปเปอร์สตาร์มาเก็บศพ บิณฑ์ เล่าว่า ทำงานนี้เพราะต้องการตอบแทนมูลนิธิร่วมกตัญญู หรือ หงี่เต็กตึ๊ง กับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ที่สมัยเป็นเด็กได้เรียนหนังสือมีดินสอบ สมุดหนังสือเรียนจากการบริจาคของ 2 มูลนิธิ นี้ และพูดเสมอว่าโตขึ้นจะทดแทนบุญคุณ 2 มูลนิธินี้


             ผ่านมา 30 ปี วันหนึ่งนั่งดูทีวีมีข่าวตึกถล่ม ในข่าวมีตัววิ่งต้องการอาสาสมัครช่วยคนเจ็บ ผมจึงไปที่นั่นทันที และนับเป็นวันแรกที่ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิร่วมกตัญญู หรือ หงี่เต็กตึ๊ง กับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และผมเป็นคนแรกที่พบศพ จำได้แม่นว่าคนตายชื่อนายสายัณห์ และก่อนจะกู้ศพมูลนิธิร่วมกตัญญู เอาเสื้อมาให้ผมใส่ ก่อนที่จะจะอุ้มศพนายสายัณห์ ขึ้นมาแล้วกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์

             ประสบการณ์กู้จบจากวันนั้นถึงวันนี้ บิณฑ์ กล้ารับประกันว่า “ทุกวันนี้มาตรฐานการกู้ศพของไทยสู้มาตรฐานโลกได้”


             โดยมาตรฐานของการดำเนินงานของมูลนิธิร่วมกตัญญู นั้น เริ่มมีพัฒนาการมากขึ้นมาเรื่อยๆ ตามลำดับ จากเดิมที่อาจจะทำมาด้วยความไม่รู้ แต่ปัจจุบันงานของมูลนิธิมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล โดยผู้ที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ในมูลนิธินั้นต้องได้รับการฝึกอบรมเบื้องต้น 36 ชั่วโมง โดยจะเป็นการเรียนรู้เรื่องการปฐมพยาบาลและช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น หากต้องการต่อยอดการฝึกอบรมในขั้นที่สูงขึ้นสามารถเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร 110 ชั่วโมง โดยมีบุคลากรทางด้านสาธารณสุขอย่างแพทย์ พยาบาล เป็นวิทยากรในการอบรม เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิมีความรู้ความเข้าใจ และการปฏิบัติต่อผู้ป่วยได้อย่างถูกวิธี

             บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ เป็นเจ้าหน้าที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิร่วมกตัญญู และมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มานานกว่า 24 ปี และงานที่ทำร่วมกับมูลนิธะเง 2 แห่งนั้น มองว่าเป็นต้นแบบของงาน “จิตอาสา” ในยุคปัจจุบัน