ข่าว

ประวัติศาสตร์ชาติไทย

ประวัติศาสตร์ชาติไทย

21 มี.ค. 2555

ประวัติศาสตร์ชาติไทย : วันเว้นวันจันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล

             มีคนรุ่นใหม่ปรารภกับผมว่า ประวัติศาสตร์ไทยช่างน่าเบื่อ เต็มไปด้วยชื่อยากๆ และปี พ.ศ. ไม่สนุกสนานและเร้าใจเหมือนประวัติศาสตร์จีนหรือเกาหลี เมื่อผมบอกไปว่าที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะเราไม่ได้ “อ่าน” ประวัติศาสตร์ของจีนหรือเกาหลีจากตำรา แต่เรา “ดู” จากภาพยนตร์และละคร เขาก็แย้งว่าประวัติศาสตร์ที่ทำเป็นภาพยนตร์และละครของไทยก็มี แต่ก็ไม่สนุกอยู่ดี เพราะมีแต่เรื่องไทยรบกับพม่า ผิดกับของจีนและเกาหลีที่มีเรื่องราวแปลกๆ มีชีวิตชีวา มีสีสัน และการชิงไหวชิงพริบ
 
             ในเรื่องนี้ หากพูดกันตามจริงแล้ว คนไทยไม่ใช่คนที่ชอบจดบันทึก ดังนั้น เรื่องราวต่างๆ จึงมักเป็นการเล่าต่อๆ กันมา และประวัติศาสตร์ของไทยก็มีลักษณะเป็นพงศาวดารหรือกิจกรรมสำคัญๆ ของพระเจ้าแผ่นดินเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวก็มักจะไม่พ้นไปจากเรื่องรบพุ่ง นอกจากนี้จดหมายเหตุต่างๆ ของไทยก็เสียหายและสูญหายไปเป็นจำนวนมากในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อมีการจัดทำขึ้นใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นจึงเป็นการบันทึกจากความทรงจำของผู้ที่เคยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งย่อมจะไม่สมบูรณ์ และประวัติศาสตร์ในสมัยต่อมาส่วนหนึ่งก็เป็นการเขียนขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมือง คือเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพและแสดงให้จักรวรรดินิยมตะวันตกเห็นถึงความเป็นชาติที่มีอารยธรรมเก่าแก่ของไทย รวมถึงในยุคชาตินิยม ที่ต้องการปลุกใจคนไทยให้รักชาติ และภูมิใจในชาติ ว่ากันว่าวีรบุรุษและวีรสตรีไทยหลายคน ก็เป็นที่รู้จักกันในช่วงนี้ไม่ว่าจะเป็นคุณหญิงมุก คุณหญิงจัน คุณหญิงโม และชาวบ้านบางระจัน ซึ่งหากอยากจะทราบว่ามีใครบ้างก็ลองฟังเพลง “ต้นตระกูลไทย” ของคุณหลวงวิจิตรวาทการดูเถอะครับ
 
             พูดกันตามความจริงแล้ว ผมไม่คิดว่าประวัติศาสตร์ไทยจะจืดชืด หรือไม่น่าสนใจ แต่ปัญหาที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่วิธีการเรียนการสอน ซึ่งเกาะติดกับตัวหนังสือ และสอนให้เด็กต้องท่องจำ ทั้งในเรื่องพระนามหรือชื่อของบุคคลสำคัญต่างๆ และปี พ.ศ.ที่เกิดเหตุการณ์เหล่านั้น รวมถึงเหตุและผลของเหตุการณ์ที่จัดทำเป็นข้อๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว จึงทำให้ประวัติศาสตร์กลายเป็นวิชาที่น่าเบื่อ เพราะใช้ความจำมากกว่าความคิด ซึ่งวิธีที่ถูกแล้ว ต้องทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึกว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องของรากเหง้าของพวกเขา และเป็นวิชาที่จะต้องใส่ใจเรียนรู้
 
             ทั้งในแง่ของความเป็นมาในอดีตและความเป็นไปในอนาคต ที่สำคัญก็คือต้องให้เขาเกิดความคิดและจินตนาการไปพร้อมๆ กัน เช่น การยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชเกิดขึ้นจริงหรือเป็นเพียงการสร้างขวัญและกำลังใจแก่คนไทยหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก หรือหากเราไม่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เราจะเป็นอย่างไร จะติดอยู่ในความหลงตัวเอง หรือความวุ่นวายทางการเมือง จนต้องตกเป็นเมืองขึ้นชาติตะวันตกเช่นเดียวกับพม่าหรือไม่? จริงอยู่ว่าเราไม่สามารถจะนำความคิดของคนในยุคปัจจุบันไปใส่ในสมองของคนรุ่นก่อนได้ทั้งหมด หรือคิดแทนบรรพบุรุษได้ทุกเรื่อง แต่สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดความคิดความเห็นที่กว้างขวางและแตกต่างออกไป ซึ่งนอกจากทำให้เกิดความสนุกกับประวัติศาสตร์แล้ว ก็ยังสามารถใช้ประวัติศาสตร์เป็นต้นแบบหรือเครื่องนำทางสำหรับปัจจุบันได้อีกด้วย
 
             ผมคิดว่า การเรียนการสอนสมัยใหม่ น่าจะต้องประกอบด้วย “3 วิ” คือวิจารณญาณ วิเคราะห์ และวิพากษ์ เพื่อนำไปสู่วิวัฒนาการขององค์ความรู้นั้นๆ การเรียนเพื่อเอาคะแนนหรือสอบเลื่อนชั้น ด้วยวิธีการท่องจำก็ดี การสุ่มเดา กาถูก-กาผิด แบบปรนัยก็ดี ถึงเวลาที่น่าจะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว
 
             และถ้าเราเรียนและสอนกันด้วย “3 วิ” ที่ผมว่า ไม่ใช่แค่จะสนุกกันเฉพาะการเรียนประวัติศาสตร์หรอกครับ เรียนวิชาอะไรก็สนุกทั้งนั้น และเป็นการสร้างความคิดให้เป็นวิทยาการและวิทยาศาสตร์ คนไทยเราจะได้เอาเวลาไปคิดเรื่องที่เป็นประโยชน์โภชผล มากกว่าการมาตีตัวเลขไปเล่นหวยจากตุ๊กแกห้อยหัวพนมมือไหว้ หรือเลขทะเบียนรถยนต์คนนั้นคนนี้เสียที