ข่าว

พม่าจะเริ่มใช้กึ่งลอยตัวค่าเงินจ๊าด

พม่าจะเริ่มใช้กึ่งลอยตัวค่าเงินจ๊าด

02 เม.ย. 2555

พม่าจะเริ่มใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบกึ่งลอยตัวบริหารค่าเงินจ๊าดในวันนี้ : หน้าต่างอาเซียน โดย ทนง ขันทอง

               เริ่มต้นวันนี้ ทางรัฐบาลพม่าจะมีการปฏิรูปการบริหารค่าเงินจ๊าดให้ทันสมัยและให้เป็นไปตามกลไกของตลาดปริวรรตเงินตรามากขึ้น โดยจะหันมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบกึ่งลอยตัว (managed floating exchange rate system) คล้ายๆ กับระบบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังบริหารค่าเงินบาทอยู่ในปัจจุบัน
   
               แผนการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของก้าวย่างที่สำคัญในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศพม่าซึ่งเป็นประเทศคู่รักคู่แค้นของไทยตลอดระยะเวลาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมายาวนาน
   
               ทางการพม่าประกาศเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่าจะเริ่มปฏิรูประบบอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ 1 เมษายน 2555 ซึ่งตรงกับวันเลือกตั้งพอดี การเลือกตั้งเมื่อวานนี้ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรองดองการเมืองภายใน เพราะเป็นการเลือกตั้งซ่อมผู้แทน 45 ที่นั่ง ที่ถูกว่างเว้นไว้จากการที่พรรคฝ่ายค้านของนางออง ซาน ซูจี บอยคอตต์ผลการเลือกตั้งในครั้งที่แล้ว โดยที่เธอกล่าวหาว่าไม่เที่ยงตรงยุติธรรม
   
               ในปัจจุบันพม่ามีการบริหารระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ล้าหลังแต่สลับซับซ้อนและไม่เป็นไปตามกลไกของตลาดโดยมีอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นทางการ อัตราแลกเปลี่ยนกึ่งทางการและอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เป็นทางการหรือตลาดมืดนั่นเอง
   
               อัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นทางการกำหนดค่าเงินที่ 6 จ๊าดต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ แต่ในตลาดมืดพวกพ่อค้าและนักแลกเงินให้มากถึง 800 จ๊าดต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ ต่างกันราวฟ้ากับดิน สะท้อนให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจและการเงินของพม่ายังคงล้าหลังมากไม่มีใครอยากจะไปทำธุรกรรมการเงินกับรัฐบาลเพราะเสียเปรียบแบบหลังชนฝา
   
               ที่ทางการพม่าต้องใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ควบคุมเข้มงวดแบบมัดมือชกเช่นนี้ก็เพราะว่าต้องการมีรายได้จากอัตราแลกเปลี่ยนและเป็นการควบคุมผู้ส่งออกหรือเอกชนรายใหญ่ให้อยู่ในการดูแลอย่างใกล้ชิดภายในตัวรัฐบาลทหารของพม่าโดนประเทศตะวันตกกดดันด้วยการแซงชั่นทางการค้ามาหลายสิบปีทำให้ไม่มีรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศเข้ามาจุนเจือระบบทหารการบริหารระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบสองตลาดคือตลาดมัดมือชกแบบทางการและตลาดมืดจึงเป็นวิธีสำคัญของรัฐบาลทหารที่จะหาเงินค้ำจุนตนเอง
   
               ที่ผ่านมาทางรัฐบาลญี่ปุ่นหรือหน่วยงานประเทศอื่นๆ ที่ต้องการให้เงินพัฒนาเศรษฐกิจพม่าเพื่อปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานได้พยายามให้พม่าเปลี่ยนการบริหารระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นไปตามกลไกตลาดเป็นการแลกเปลี่ยนแต่ไม่เป็นผล เพราะว่ารัฐบาลพม่ายังไม่พร้อมที่จะทุบหม้อข้าวตนเอง
   
               แต่มาบัดนี้ ดูเหมือนว่าทางการพม่าเริ่มจะเปลี่ยนไปโดยมีนโยบายที่จะบริหารประเทศในแนวที่จะเปิดประเทศมากขึ้นและมีการรอมชอมทางการเมืองภายในกับพรรคฝ่ายค้านนำโดยนางซูจี
   
               หลังจากที่นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เดินทางเข้าประเทศพม่าเมื่อต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้วเพื่อรื้อฟื้นสัมพันธไมตรี พม่ามีทีท่าที่เปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน อ้าแขนรับทัพนักธุรกิจและนักการทูตจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เดินทางเข้าประเทศพม่าอย่างไม่ขาดสาย
   
               ทุกคนอยากลงทุนในพม่า และพูดเหมือนกันหมดว่าพม่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงเพราะมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มากไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุ ป่าไม้ ฯลฯ แต่ติดเงื่อนไขที่สำคัญคือระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าดที่ล้าหลัง คงจะไม่มีนักลงทุนคนใดคิดที่จะลงทุนในพม่าโดยที่แลกเงินกับทางการได้ 6 จ๊าดต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ แล้วโดนรัฐบาลเอาเงินดอลลาร์สหรัฐ ไปขายต่อในตลาดมืดได้ 800 จ๊าด กำไรอื้อซ่า
   
               ก็ต้องจับตาดูกันวันนี้ว่า ค่าเงินจ๊าดจะมีการบริหารไปในทิศทางใด และจะปิด ณ ราคาเท่าใดเปรียบเทียบกับค่าดอลลาร์ ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบกึ่งลอยตัว โดยที่ทางการจะใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเข้าแทรกแซงเป็นระยะๆ หรือไม่ก็ปล่อยให้ค่าเงินจ๊าดมีการเคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาด