ข่าว

เอกภาพในความแตกต่าง

เอกภาพในความแตกต่าง

02 เม.ย. 2555

เอกภาพในความแตกต่าง : วิถียุติธรรม โดย ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ

                 เมื่อพูดถึงความแตกต่างหรือความเหมือนกันในเรื่องของวัฒนธรรม การเมือง หรือสภาพทางเศรษฐกิจ เราต้องยอมรับว่าสังคมทุกระดับตั้งแต่ในครอบครัวไปจนถึงชุมชน จนเลยไปในระดับประเทศและภูมิภาคจะมองเห็นความแตกต่างและหลากหลายในแทบทุกแง่มุมหรือมุมมอง อาจจะเรียกได้ว่าหาความเหมือนกันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์แทบจะไม่ได้ แต่ที่สำคัญก็คือว่า เราอาจสร้างความเป็นเอกภาพหรืออย่างน้อยที่สุดจะเห็นความสอดคล้องกันของความแตกต่างทั้งทางด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง หรือแม้กระทั่งความคิดเห็นได้
   
             ยกประเด็นขึ้นมาแล้วก็ต้องมองเห็นความเป็นรูปธรรมของประเด็นนี้ให้ได้ เพราะการมองปัญหาในสังคมไทยปัจจุบันจะต้องมองอย่างให้การยอมรับในความแตกต่างหลากหลายและซับซ้อนที่มีอยู่ ดังเช่นประสบการณ์ร่วมกันของสังคมไทยนับถอยหลังไปจนถึงหลังจากมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็น่าจะพอมองเห็นได้
   
             หากนำเอาเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมาเป็นตัวตั้งจะพบว่ามีการรับรองบทบาทของชาวบ้านในการปกครองบ้านเมืองมากขึ้นด้วยหลักการในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพมากขึ้น หรือมีกลไกใหม่ๆ ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รวมทั้งการปฏิรูประบบราชการกันขนานใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการกระตุ้นให้เกิดเวทีในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกถึงความต้องการของแต่ละฝ่าย แต่ละภาคส่วนมากขึ้น และที่เห็นได้ชัดเจนก็คือบทบาทของพรรคการเมืองเสียงข้างมากในรัฐสภาในการขับเคลื่อนทิศทางการเมืองการปกครองของสังคมไทย
   
             เมื่อแต่ละส่วนหรือแต่ละฝ่ายมีเวทีในการแสดงออกมากขึ้น รวมทั้งการค่อยๆ กระเตื้องขึ้นมาของเศรษฐกิจหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้แนวความคิดในเรื่องเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมซึ่งก่อนหน้านี้มีลักษณะเป็นกระแสหลักจึงค่อยๆ เริ่มต้นเกิดกระแสรองเพิ่มมากขึ้นในทุกแง่มุม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกระแสโลกาภิวัตน์ได้ขี่กระแสดิจิตอลรุกเข้ามาในวิถีชีวิตของสังคมไทยอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
   
             เมื่อลำดับแนวคิดได้เช่นนี้ จึงไม่น่าตกใจหากพบว่าเกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคมโดยทั่วไปเพราะเมื่อที่ใดมีความแตกต่างและหลากหลาย ที่นั่นย่อมเกิดความขัดแย้งตามมาอย่างแน่นอน ปัญหาอยู่ที่ว่าเรารู้ที่มาและรู้เท่าทันความแตกต่างอันเป็นที่มาของความขัดแย้งในแต่ละเรื่องหรือไม่
   
           การรู้ที่มาและรู้เท่าทันความขัดแย้งในสังคมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเสริมสร้างวิถียุติธรรมในสังคม เพราะการรู้เท่าทันเท่ากับการที่เราได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะเป็นเจ้าของพื้นที่ของความเป็นประชาธิปไตยคือ มีโอกาสได้เล่นมากกว่าการไปหย่อนบัตรเลือกตั้งเท่านั้น และมากกว่าการเฝ้าอยู่หน้าจอทีวีเพื่อดูเหตุการณ์ปรองดองของแต่ละฝ่ายที่แทบจะหาความปรองดองจริงๆ ไม่เจอ
   
              ท่ามกลางความหลากหลายและความขัดแย้ง ผมมองเห็นว่าชาวบ้านอย่างเราๆ น่าจะเป็นเจ้าภาพในการสร้างเอกภาพของสังคมได้ภายใต้กติกาของการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมไทยเช่นนี้ต้องถือว่าเป็นการมองโลกในแง่ดี เพราะการมองโลกเช่นนี้เป็นการมองอย่างสันติและสอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
   
             วิถียุติธรรมไม่ได้อยู่ในมือใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่สร้างได้ด้วยมือของชาวบ้านที่เข้าใจและมีธรรมชาติที่รักความเป็นธรรมอยู่แล้ว ศักดิ์ศรีของความเป็นประชาธิปไตยอยู่ที่การมีส่วนร่วมและแสดงออกถึงความต้องการและแสดงความคิดเห็นที่ไม่จำเป็นต้องเป็นไปในทางเดียวกันเสมอไป แต่ทำให้มีเอกภาพได้หากรู้และเข้าใจความแตกต่างและความขัดแย้งซึ่งเป็นธรรมชาติของสังคมมนุษย์นั่นเอง