ปิดตำนานเพชฌฆาต
ปิดตำนานเพชฌฆาต : เลียบค่าย โดย อนลัส [email protected]
กลางดึกวันที่ 29 เมษายน 2555 ผมได้รับโทรศัพท์แจ้งข่าวเศร้าเรื่องหนึ่ง พี่เชาวเรศน์ จารุบุณย์ เพชฌฆาตคนสุดท้ายแห่งเรือนจำบางขวางสิ้นลมโดยสงบ
พี่เชาวเรศน์กับผมสนิทกันมาก ในมุมมองของคนภายนอกอาจจะมองอาชีพนี้ในแง่มุมที่ต่างกัน และผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่าหลายคนเข้าใจผิดมาตลอด
ภาพของผู้นำพาความตายมาสู่นักโทษประหารรูปร่างใหญ่โตน่ากลัว กักขฬะอย่างที่ควรจะเป็นเหมือนภาพลักษณ์ที่ถูกวาดให้เป็นในภาพยนตร์หลายเรื่อง เป็นสิ่งตรงกันข้ามกับพี่เชาวเรศน์
ผมเคยถามว่ารู้สึกอย่างไรกับการทำหน้าที่ประหารนักโทษ พี่เชาวเรศน์ตอบด้วยน้ำเสียงปรานีเหมือนผู้ใหญ่ให้คำแนะนำเด็ก
“พี่นั้นทำตามคำสั่งศาล เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล มันเป็นหน้าที่ พี่ต่างจากมือปืน เพราะแต่ละคดีได้พิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรมแล้ว และศาลก็พิพากษา พี่เพียงแค่ทำตามหน้าที่เท่านั้น”
ผมยังจำได้ถึงทุกวันนี้ พี่เชาวเรศน์ย้ำและขยายความถึงประโยคข้างต้นว่า ด้วยเหตุนี้ต้นธารกระบวนการยุติธรรมจึงมีความสำคัญ หมายถึงตำรวจต้องทำคดีอย่างตรงไปตรงมา เฟ้นหาพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าคนผู้นั้นทำผิดจริง
โดยเฉพาะคดีอุกฉกรรจ์ที่มีอัตราโทษประหารชีวิต !?!
พี่เชาวเรศน์ก็เหมือนกับคนในกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ โดยมองว่าปล่อยคนชั่วไป 100 คนยังดีกว่าจับคนบริสุทธิ์เพียงคนเดียว
ประเทศไทยเรามีคดีไม่น้อยที่พิสูจน์ในภายหลังว่า เป็นการจับกุมผิดตัว บางคนเสียชีวิตในเรือนจำ ระหว่างรออุทธรณ์คดี สิ่งเหล่านี้แหละครับที่พี่ชายคนนี้พยายามสอนผมในฐานะที่ผมอยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชน
การจะตัดสินอะไรสักอย่างต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักความจริง ข้อมูล เหตุผล และพยานหลักฐาน มีหลายครั้งที่สื่อมวลชนกลายเป็นผู้พิพากษา และคนถูกพิพากษาได้รับผลกระทบเสื่อมเสียชื่อเสียง
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงเราในฐานะนักสื่อสารมวลชนก็คงไม่ผิดอะไรกับตำรวจเลวที่จับคนบริสุทธิ์ !?!
ครั้งหนึ่งพี่เชาวเรศน์เคยได้พบหน้าเด็กหนุ่มรุ่นลูก พ่อของเขาเป็นนักโทษประหารที่พี่เชาวเรศน์ทำหน้าที่ประหารด้วย เด็กหนุ่มคนนั้นเข้าใจในการทำหน้าที่ของเพชฌฆาต และพี่เชาวเรศน์เองก็เข้าใจในหัวอกคนเป็นลูก
ผมว่าสังคมไทยถ้าทุกคนเข้าใจและตระหนักถึงหน้าที่ของตนเองเหมือนกับพี่เชาวเรศน์และเด็กหนุ่มคนนั้นแล้ว บ้านเมืองคงจะสงบสุขร่มเย็น
ขอให้พี่เชาวเรศน์ไปสู่สรวงสวรรค์และดื่มด่ำกับความสุขอยู่บนนั้นครับ !?!