4ยุทธศาสตร์ตร.ไทยสู่เวทีอาเซียน
4ยุทธศาสตร์ตร.ไทย...สู่เวทีอาเซียน : สัมภาษณ์พิเศษพล.ต.ท.เรืองศักดิ์ จริตเอก ผู้บัญชาการศึกษา (ผบช.ศ.) โดยไชยฤทธิ์ เสนาะวาที
ปี 2558 ประชาคมอาเซียน (Asean Community) จะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ซึ่งหมายความว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย จะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน ประชาชนในภูมิภาคนี้จะเดินทางไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวก รวมถึงแรงงานที่สามารถโยกย้ายไปมาอย่างอิสระ ซึ่งคาดว่าความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในทุกๆ ด้าน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และความมั่นคงของประเทศ
ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นอีก 3 ปีข้างหน้า มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงคนไทยทั้งประเทศต้องเตรียมความพร้อม สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานสำคัญระดับต้นๆ ของประเทศที่ต้องเตรียมพร้อมในการเปิดประตูสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งมีการเตรียมการรุดหน้าไปมากน้อยแค่ไหนแล้วนั้น พล.ต.ท.เรืองศักดิ์ จริตเอก ผู้บัญชาการศึกษา (ผบช.ศ.) มีคำตอบ
อีก3ปีประตูประชาคมอาเซียนเปิดแล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตรียมพร้อมรับมืออย่างไร
เราคาดการณ์ว่าเมื่อประตูประชาคมอาเซียนเปิดขึ้น สังคมไทยจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้าน ทั้งเศรษฐกิจการเมือง และสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องมีการปรับตัวค่อนข้างมากเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาที่จะตามมาซึ่งอาจจะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และปัญหาอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งขณะนี้กองบัญชาการศึกษาได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ศึกษารวบรวมข้อมูลด้านต่างๆ เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับตำรวจไทยก่อนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้จัดทำยุทธศาสตร์ไว้ใน 8 แนวทาง ก่อนจะจัดหมวดหมู่ใหม่บีบลงเหลือ 4 แนวทางเพื่อความทันสมัย โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนนักวิชาการด้านต่างๆ จากสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศมาช่วยในการจัดทำยุทธศาสตร์ดังกล่าว
4 ยุทธศาสตร์ที่ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง
ยุทธศาสตร์ที่กำลังทำอยู่ขณะนี้จะใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการด้านการศึกษาให้กับตำรวจไทยเป็นสำคัญ ซึ่งถูกกำหนดไว้ 4 ยุทธศาสตร์ดังนี้
ยุทธศาสตร์แรก คือ เพิ่มขีดความสามารถในด้านการใช้ภาษาอังกฤษให้กับตำรวจไทยให้มีความทัดเทียมกับตำรวจในกลุ่มสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ รวมทั้งมุ่งเน้นให้มีความรู้ในการใช้ภาษาของประเทศในกลุ่มสมาชิกด้วย
ยุทธศาสตร์ที่สอง คือ การจัดทำโครงการหรือกิจกรรมที่จะเป็นกลไกในการสร้างความกลมกลืนระหว่างตำรวจไทยกับตำรวจในประเทศกลุ่มสมาชิก (Harmonisation) เพื่อลดภาวะการแบ่งแยก โดยกิจกรรมนั้นจะส่งเสริมให้เกิดความกลมกลืนทั้งด้านภาษา ศาสนาและวัฒนธรรม
ยุทธศาสตร์ที่สาม คือการผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างตำรวจและตำรวจในกลุ่มสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ให้เกิดกระบวนการพัฒนาหลักสูตร พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ การสร้างเครือข่ายทางวิชาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเปิดโลกทันศ์ให้กับตำรวจในประเทศสมาชิกอาเซียน ทำให้เกิดการเรียนรู้วิชาการใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ด้านการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคต โดยจะจัดให้มีการเดินทางไปดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน คล้ายกับนักเรียนแลกเปลี่ยน
ส่วนยุทธศาสตร์ที่สี่ คือ การจัดทำโครงการพัฒนาฝึกทักษะภาษาอังกฤษและภาษาเพื่อนบ้านในประเทศกลุ่มอาเซียนให้กับตำรวจไทย ซึ่งขณะนี้กำลังจัดทำโครงการต้นแบบขึ้นเผื่อหน่วยงานอื่นอาจนำไปใช้ต่อยอดได้
แผนงานที่เป็นรูปธรรมแล้วมีอะไรบ้าง
ขณะนี้เราได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมี ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน มี รองผบ.ตร. หลายท่าน ร่วมอยู่ในคณะทำงานดังกล่าวด้วย อีกทั้งยังมีการจัดทำหลักสูตรสื่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ มีการตั้งคณะทำงานจัดทำคู่มือภาษาอังกฤษสำหรับตำรวจไทย ตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดสร้างห้องปฏิบัติการทางภาษาหรือ "ซาวแลป" ซึ่งจะจัดสร้างกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ล่าสุดได้จัดตั้งคณะทำงานพิจารณามาตรฐานระดับเกณฑ์ความรู้ด้านภาษาอังกฤษในการรับสมัครบุคคลภายนอกเพื่อบรรจุ และแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจ กล่าวง่ายๆ คือ ผู้ที่จะประกอบอาชีพตำรวจนัยจากนี้เป็นต้นไปต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษพอสมควร ซึ่งข้อสอบที่จะนำมาใช้ในการสอบคัดเลือกจะเพิ่มสัดส่วนของภาษาอังกฤษมากขึ้นถึงร้อยละ 20 ซึ่งข้อสอบชุดนี้จะนำมาใช้คัดเลือกข้าราชการตำรวจ 1 หมื่นอัตรา ที่จะสอบในเดือนมิถุนายนนี้เป็นชุดแรก
ปัญหาที่ทำให้การเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของตำรวจคืออะไร
ปัญหาอยู่ที่งบประมาณในการจัดฝึกอบรม หรือที่เรียกว่าการเทรนนิ่ง เพราะคงไม่มีใครทำอะไรให้ดีได้โดยที่ไม่ต้องผ่านการฝึกอบรมเรียนรู้ ตลอดระยะเวลาที่ผมมารับหน้าที่ ผบช.ศ.พบว่า งบประมาณในการจัดฝึกอบรมของเรามีน้อยมาก ทำให้การจัดฝึกอบรมด้านต่างๆ น้อยตามลงไปด้วย ไม่เชื่อลองสุ่มสอบถามตำรวจดูได้ในชั้นประทวนให้ถามเรียงตัวได้เลยใน 50 คน จะมีเพียง 1 คนเท่านั้นที่มีโอกาสเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่ง ขณะที่ชั้นสัญญาบัตร 12 คน จะมีผู้ผ่านการฝึกอบรมเพียง 1 คนเท่านั้น ทั้งที่งานตำรวจต้องอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนจำเป็นต้องเรียนรู้ให้มากและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ตอนนี้คนร้ายเขาโจรกรรมข้ามโลก โจรอยู่ในอากาศกันแล้ว ไม่ได้อยู่ตามท้องไร่ท้องนาเหมือนอดีต ตำรวจจำเป็นต้องเรียนรู้ ซึ่งในเรื่องงบประมาณการฝึกอบรมนี้ได้เสนอไปยังรัฐบาลแล้ว ซึ่งโชคดีที่รัฐบาลให้ความสำคัญไม่ตัดงบประมาณส่วนนี้ทิ้ง ซึ่งหากคิดจากงบประมาณทั้งหมดที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอไปงบประมาณการจัดฝึกอบรมจะอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 7 แต่หากนำไปเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านต้องยอมรับว่าน้อยเพราะของเขามีมากถึงร้อยละ 30-40 ต่อปี
ตำรวจหน่วยใดที่ต้องฝึกอบรมเตรียมความพร้อมเป็นลำดับต้นๆ
ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจตระเวนชายแดน และตำรวจภูธร ที่มีพื้นที่รับผิดชอบใกล้กับประเทศเพื่อนบ้าน และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นหน่วยงานลำดับต้นๆ ที่ต้องเร่งเตรียมความพร้อม เพราะหน่วยงานเหล่านี้จะเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ต้องสัมผัสกับประชาชนของประเทศเพื่อนบ้าน หน่วยงานที่เหลือก็ต้องรีบทำ โดยจำเป็นต้องมีหลักสูตรที่มีเนื้อหาสาระทันสมัย ทันสภาพปัญหา ต้องสร้างองค์ความรู้ที่ทันต่อคนร้าย ซึ่งขณะนี้เรามีทั้งหลักสูตรประจำและหลักสูตรพิเศษ รวมถึงหลักสูตรระยะสั้น เร่งให้ความรู้กับตำรวจอยู่
หลักสูตรประจำปัจจุบันมีอยู่ 4 หลักสูตร คือ หลักสูตรสารวัตร หลักสูตรผู้กำกับการ หลักสูตรบริหารงานชั้นสูงหรือโรงเรียนผู้การ และหลักสูตรฝ่ายอำนวยการ ส่วนหลักสูตรพิเศษหรือหลักสูตรระยะสั้น ทันต่อสภาพปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว เช่น การก่อการร้ายในโลกไซเบอร์ อาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้ายสากล และการก่อวินาศกรรรม ซึ่งหลักสูตรการเรียนการสอนนี้มีนักวิชาการจากต่างประเทศมาช่วยร่างเนื้อหาสาระ ซึ่งผมพยายามทำหลักสูตรให้ครอบคลุมทุกเนื้อหาสาระ โดยเน้นที่จะย่นระยะเวลาการฝึกอบรมให้น้อยที่สุด อย่างเช่นบางหลักสูตรต้องใช้เวลานาน 3-6 เดือน ก็พยายามทำให้เหลือเพียง 1 เดือน เพื่อเพิ่มปริมาณให้ตำรวจมีโอกาสได้เข้าฝึกอบรมเพิ่มมากขึ้น
มั่นใจหรือไม่ว่ายุทธศาสตร์ที่วางไว้จะได้ผล
ผมตอบตรงๆ ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะทำอะไรให้ได้ดังใจในทันทีทันใด เพราะทุกวันนี้ตำรวจไทยมีภารกิจหน้าที่เยอะ และจำนวนไม่น้อยเป็นผู้สูงอายุทำให้มีขีดจำกัดในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่ก็ต้องทำ ค่อยๆ พัฒนากันไป ซึ่งกองบัญชาการศึกษารับหน้าที่เป็นแม่งานในการพัฒนาความรู้ เพิ่มทักษะ และการประเมินติดตามผล โดยในระยะอันใกล้นี้ตำรวจไทยต้องมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันได้ หลังจากนั้นก็จะให้ความรู้เรื่องอื่นๆ เพิ่ม ล่าสุดเรากำลังเร่งจัดทำคู่มือการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันเพื่อมอบให้เป็นคู่มือการใช้ภาษาแก่ตำรวจทุกคน
............
(หมายเหตุ : 4ยุทธศาสตร์ตร.ไทย...สู่เวทีอาเซียน : สัมภาษณ์พิเศษพล.ต.ท.เรืองศักดิ์ จริตเอก ผู้บัญชาการศึกษา (ผบช.ศ.) โดยไชยฤทธิ์ เสนาะวาที )