![ธรรม (ชาติ) ธรรมเงิน ธรรม (ชาติ) ธรรมเงิน](https://media.komchadluek.net/media/img/size1/2012/05/26/j7fakh6k8fhfkeaaah9if.jpg?x-image-process=style/lg-webp)
ธรรม (ชาติ) ธรรมเงิน
ธรรม (ชาติ) ธรรมเงิน : คอลัมน์วันอาทิตย์คิดเรื่องเงิน : โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล [email protected]
หลังจากได้รับหนังสือ "ธรรมะธรรมเงิน"ที่ คุณไก่-ปิยาวันทน์ ประยุกต์ศิลป์ แห่งสำนักพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ส่งมาให้ อ่านแล้วต้องบอกว่า เพลินใจและทำให้มองเห็นแสงสว่างท่ามกลางความหม่นหมองและมืดมิด
หนังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนของ ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ ผู้ใฝ่ศึกษาทั้งเรื่องธรรมะ และนำมาผสมผสานกับเรื่องของการเงินการลงทุนได้อย่างกลมกลืนและกลมกล่อม ชอบตรงความทันสมัยตั้งแต่เกริ่นนำ ที่บอกว่า ทุกวันนี้หลายอย่างเปลี่ยนไป รายได้ไม่เป็นไปอย่างที่เคยได้ ส่วนรายจ่ายกลับสวนทางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความผันผวน ความไม่แน่นอนกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ทุกวัน
ดร.อัจฉรา บอกว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำร้ายความมั่นคงทางการเงินของเรามากน้อยแตกต่างกันไป ดังนั้น หนทางที่จะช่วยให้เรารับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้อย่างมั่นคง ก็คือ การสร้างเกราะคุ้มกัน โดยนำธรรมะมาปฏิบัติอย่างจริงจัง
"ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร หากเรายืนได้อย่างมั่นคง เราก็จะตั้งรับได้อย่างเข้มแข็ง และเราก็จะเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นใจ"
หนังสือ "ธรรมะธรรมเงิน" เริ่มต้นหยิบยกพุทธพจน์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับทรัพย์สินเงินทอง เพื่อให้ได้เห็นความจริงตามธรรมชาติว่า แท้จริงแล้วเรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นเรื่องธรรมดาที่จัดการได้ "อุฏฐาตา กฺมมเธยฺเยสุ อปฺปมตฺโต วิธานวา สมํ กปฺเปติ ชีวิตํ สมฺภตํ อนุรกฺขติ ขยันทำงาน ไม่ประมาท ฉลาดในการจัดการ เลี้ยงชีพแต่พอดี ย่อมรักษาทรัพย์สมบัติให้คงอยู่และเพิ่มทวี"
ผู้เขียนแยกพุทธพจน์ดังกล่าวออกเป็นแนวปฏิบัติ 4 ข้อสั้นๆ เริ่มต้นด้วย การหารายได้ ที่ต้องขยันทำงาน ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าขยันแล้วหรือยัง แล้วขยันอย่างฉลาดหรือไม่ เราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพแล้วหรือยัง เพราะแม้จะทำงานมากแต่ขาดประสิทธิภาพก็อาจจะไม่ให้ผลผลิตที่ดีและไม่คุ้มค่า การขยันทำงานยังต้องรวมไปถึง การขยันพัฒนางานที่ทำอยู่ด้วย ต้องหมั่นหาความรู้เพิ่มเติม และพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างคุณภาพและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
ข้อต่อมาก็ต้องไม่ประมาท เพราะความประมาททำให้เกิดความเสื่อมดร.อัจฉรา บอกว่า ความประมาทนอกจากจะทำให้ขาดสติแล้วยังเป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้เราหลงเข้าไปในวังวนที่เป็นเหตุแห่งความเสื่อมเสียทรัพย์สิน ซึ่งก็คือ อบายมุขทั้ง 6 ประการ ได้แก่ 1.อักขธุตตะ การเล่นพนัน รวมทั้งพนันบอลและซื้อหวย 2.สุราธุตตะ การดื่มสุรา เสพยาเสพติด 3.อิตถีธุตตะ การเที่ยวกลางคืน เป็นนักเลงผู้หญิง 4.ปาปมิตตะ การคบเพื่อนไม่ดี 5.อาลสฺสานุโยโค การเกียจคร้านในการทำงาน และ 6.สมชฺชาภิ การลุ่มหลงมัวเมาในการบันเทิง ดูหนัง ดูละครเป็นประจำ
"อบายมุขทั้งหกนี้ ใครต้องการมีทรัพย์สำหรับไว้ใช้ในบั้นปลายชีวิต ต้องการรักษาทรัพย์สินไว้ให้ลูกให้หลานใช้อนาคตต้องหลีกให้ไกล"
ข้อสำคัญในการรักษาทรัพย์ต่อมา คือ ต้องฉลาดในการจัดการ ยุคดอกเบี้ยต่ำ น้ำมันแพง ข้าวของแพง เงินเฟ้อสูง ยิ่งต้องฉลาด ต้องหาวิธีวางแผนและจัดการเงินของเราอย่างรอบคอบ ซึ่ง ดร.อัจฉราแนะนำว่า อาจจะใช้ หลักโภวิภาค 4 มาลองจัดการแบ่งเงินเป็น 4 ส่วน
โดยเงินส่วนแรก 25% เอเกน โภเคภุญฺเชยฺย จัดสรรไว้สำหรับใช้จ่ายเลี้ยงตัวเองและเลี้ยงดูคนที่ควรดูแล ทั้งพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีอุปการะเลี้ยงดูเรามา สองส่วนต่อมาคือ 50% ทฺวีหิ กมฺมํ ปโยชเช จัดสรรสำหรับการลงทุนในการประกอบอาชีพ การทำงาน การพัฒนางาน เพื่อสร้างรายได้สำหรับอนาคต และอีก 25% สุดท้าย จตุตฺถญฺจ นิธาเปยฺย ให้เก็บออมไว้ใช้ยามจำเป็น
และข้อสุดท้าย ต้องรู้จักเลี้ยงชีพแต่พอดี ไม่ใช้จ่ายเกินฐานะ ต้องใช้เงินให้น้อยกว่าที่หาได้เสมอ ยิ่งในยุคสังคมนิยมบริโภค ยิ่งต้องระมัดระวังรายจ่ายมากขึ้น
ดร.อัจฉรา ปิดท้ายว่า แนวทางปฏิบัติ 4 ข้อในการรักษาทรัพย์ให้คงอยู่และเพิ่มทวี "ขยันทำงาน ไม่ประมาท ฉลาดในการจัดการ เลี้ยงชีพแต่พอดี" เป็นแนวปฏิบัติที่ครบถ้วนสมบูรณ์ในทุกมิติและทำได้จริง สำคัญที่ว่าจะลงมือทำจริงๆ หรือไม่เท่านั้น
ส่วนเรื่องการใช้ทรัพย์ มีการพูดถึงใน "ธรรมะธรรมเงิน" ว่า ควรใช้ทรัพย์ใน 4 ลักษณะ ได้แก่ อิณํ มุญฺจามิ หรือใช้หนี้เก่า หมายถึงใช้ทรัพย์เพื่อการดูแลพ่อแม่และผู้มีพระคุณ เป็นการตอบแทนพระคุณของท่านที่ได้ให้ชีวิต เลี้ยงดู และให้โอกาส ให้การศึกษาจนเรามีงานทำ มีรายได้ อิณํ ทมฺมิ หรือให้กู้ยืม คือใช้ทรัพย์เพื่อการเลี้ยงดูบุตร ธิดา ภรรยาและบริวาร ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุขตามที่ควรจะเป็น ให้มีโอกาส มีการศึกษา มีความก้าวหน้าต่อไปในอนาคต จนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ปปาเต ฉฑฺเฑมิ หรือทิ้งลงเหว คือใช้ทรัพย์เพื่อการบริโภคเพื่อบำรุงดูแลตัวเองตามสถานภาพ คือ ไม่ขี้เหนียวจนเกินไปและไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายจนเกินพอดี ต้องรู้จักใช้จ่าย รู้จักบริโภคเพื่อสร้างคุณค่าให้กับชีวิตในปัจจุบัน และ นิธิมฺปิ ตตฺถ นิทหามิ หรือฝังดินไว้ คือ ใช้ทรัพย์เพื่อทำบุญ ทำทาน เพื่อสาธารณประโยชน์ ตอบแทนคุณแผ่นดินที่เกิดอาศัย เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม
ในหนังสือ "ธรรมะธรรมเงิน" ยังมีอีกหลายเรื่องราวเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพย์สิน การหาทรัพย์ ใช้เงิน การลงทุน รวมถึงการแบ่งปัน ซึ่งใช้หลักธรรมเข้ามามีส่วนประกอบ แตกต่างจากหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องการจัดการทางการเงินทั่วๆ ไป
เป็นเรื่องของความ "ลงตัว" ระหว่างเรื่องที่หลายคนมองว่า เป็นเรื่องทางโลก ที่ผสานไปกับเรื่องทางธรรม เพราะต่างเป็นเรื่องของธรรมชาติ ที่สุดท้ายก็คือเรื่องเดียวกัน
................................
(ธรรม (ชาติ) ธรรมเงิน : คอลัมน์วันอาทิตย์คิดเรื่องเงิน : โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล [email protected] )