ข่าว

ความตายของเกย์หนุ่ม

ความตายของเกย์หนุ่ม

27 พ.ค. 2555

ความตายของเกย์หนุ่ม ภัยจากถ้ำมองไฮเทคหรืออคติเรื่องเพศที่ 3 และการเหยียดผิว : คอลัมน์เปิดโลกวันอาทิตย์ : โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

                 "หลังจากเฝ้ารอคอยคำตัดสินของศาลมานานเกือบ 2 ปี ศาลกลับตัดสินจำคุกนายดรุณ ระวีแค่ 30 วัน รอลงอาญา 3 ปี และปรับแค่ 10,000 ดอลลาร์ (ราว 3 แสนบาท) เพื่อเข้าโครงการช่วยเหลือเหยื่อความเกลียดชังเท่านั้นเอง ซึ่งก็เหมือนกับการลงโทษแค่ "ตีมือแปะเดียว" ทั้งๆ ที่ควรให้จำคุกตามโทษสูงสุดถึง 10 ปี จากนั้นก็ให้เนรเทศกลับไปอินเดียจึงจะสาสมกับความผิดที่ก่อไว้ คำตัดสินนี้ยังเท่ากับหยามเกียรตินักศึกษาที่ถูกรังแกจนต้องฆ่าตัวตายหนีอายชัดๆ"

                 คำวิจารณ์ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของความเห็นของชาวทวิตภพรวมทั้งกลุ่มปกป้องสิทธิเกย์อย่างเช่นกลุ่ม "การ์เดน สเตท อีควิลิตี้" ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ตลอดจนสื่อในสหรัฐที่วิพากษ์วิจารณ์ผู้พิพากษา เกลนน์ เบอร์แมนอย่างไม่ไว้หน้าว่าตัดสินลงโทษสถานเบาเกินไป ไม่สาสมกับอาชญากรรมจากความเกลียดชังที่นายดรุณ ระวี อดีตนักศึกษาเชื้อสายอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยรัตเจอร์ส รัฐนิวเจอร์ซีย์ วัย 20 ปี ก่อขึ้นกรณีที่ใช้กล้องเว็บแคมหรือ "ถ้ำมองไฮเทค" แอบถ่ายภาพนายไทเลอร์ เคลเมนติ เพื่อนร่วมห้องวัย 18 ปีขณะจุมพิตกับคนรักหนุ่ม จนเป็นเหตุให้นายเคลเมนติ ฆ่าตัวตายหนีความอับอายที่ถูกประจานว่าเป็นเกย์ ด้วยการกระโดดจากสะพานดิ่งลงสู่แม่น้ำฮัดสันเมื่อเดือนกันยายน 2553

                 การฆ่าตัวตายของนายเคลเมนติ ซึ่งปกติเป็นคนสุภาพ อ่อนโยน อ่อนไหวและค่อนข้างขี้อาย แต่มีอนาคตไกลจากการมีพรสวรรค์ในด้านดนตรีได้จุดประเด็นการถกเถียงอย่างเอาเป็นเอาตายเกี่ยวกับปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือข่มขู่คุกคาม กลั่นแกล้งรังแกพวกรักร่วมเพศ โดยเฉพาะวัยรุ่นเกย์ที่ถูกเพื่อนๆ กลั่นแกล้งล้อเลียนและประจานผ่านเน็ต จนเกิดแรงกดดันและเกิดความสับสนถึงขั้นฆ่าตัวตายมากขึ้น ลามไปถึงการเรียกร้องให้เพิ่มโทษความผิดในคดีอาญาจากความเกลียดชังในยุคอินเทอร์เน็ตที่กลายเป็นดาบสองคมอย่างเห็นได้ชัด

                 จากรายงานพิเศษของสำนักข่าวเอพีระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา มีเด็กและวัยรุ่นอเมริกันอายุ 11-18 ปีฆ่าตัวตายอย่างน้อย 12 รายหลังจากตกเป็นเหยื่อการถูกรังแกทางอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการเสียดสี เหน็บแนม เยาะเย้ยถากถางหรือการคุกคามด้วยรูปภาพและถ้อยคำทางออนไลน์หรือข้อความทางโทรศัพท์มือถือ ทำให้เหยื่อรู้สึกอับอายขายหน้าจนกระทั่งยอมตัดช่องน้อยแต่พอตัว ในเดือนเดียวกับที่นายเคลเมนติฆ่าตัวตายนั้น ปรากฏว่ามีวัยรุ่นอย่างน้อย 4 คนอายุ 13-15 ได้ฆ่าตัวตายก่อนหน้าแล้ว

                 กลุ่มปกป้องสิทธิชาวเกย์หลายคนยังเหน็บแนมผู้พิพากษาเกลนน์ เบอร์แมน ว่าตัดสินคดีด้วยความไม่ฉลาดยิ่ง ไม่ยุติธรรมและไม่มีเหตุผลอันควร กรณีที่ชี้ว่าการกระทำของนายดรุณ ระวีไม่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายของนายเคลเมนติ ทั้งๆ ที่ก่อนที่ผู้พิพากษา เกลนน์ เบอร์แมน จะอ่านคำพิพากษาก็ได้ตำหนินายดรุณ ระวีอย่างรุนแรงกรณีที่แอบถ่ายภาพนายเคลเมนติ ขณะทำกิจกรรมส่วนตัวแสดงว่าแสดงถึง "ความไร้สามัญสำนึกอย่างยิ่ง"

                 "ผมได้ยินคณะลูกขุน 12 ท่าน กล่าวคำว่า "ผิดจริง" ถึง 288 ครั้ง ขณะถามคำถาม 24 ข้อ แต่กลับไม่ได้ยินเด็กหนุ่มคนนี้กล่าวขอโทษแม้แต่คำเดียว"ผู้พิพากษาเบอร์แมนกล่าวก่อนจะย้ำว่านายดรุณ ระวีจะไม่มีวัน "ลบล้างพฤติกรรม หรือความเจ็บปวดที่ก่อขึ้นไว้ได้"

                 ทั้งนี้ คณะลูกขุนได้ลงมติว่านายดรุณ ระวี มีความผิดฐานละเมิดความเป็นส่วนตัว แสดงอคติต่อต้านเกย์ และขัดขวางกระบวนการสืบสวน โดยลบหรือดัดแปลงข้อความและทวิตที่ส่งไปถึงเพื่อนๆ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายของนายเคลเมนติ

                  ด้านครอบครัวของนายไทเลอร์ เคลเมนติก็วิจารณ์เช่นกันว่าการตัดสินคดีครั้งนี้ควรจะต้องเป็นธรรมและยุติธรรม ที่สำคัญจะต้องไม่เพิกเฉยต่ออาชญากรรมที่นายดรุณ ระวีก่อไว้ ขณะที่อัยการรัฐ

                 นิวเจอร์ซีย์เตรียมยื่นอุทธรณ์คำตัดสินครั้งนี้ เนื่องจากมองว่าเบาเกินไป ไม่สาสมกับอาชญากรรมร้ายแรงที่ก่อไว้

                 อย่างไรก็ดี ครอบครัวของอดีตนักศึกษาหนุ่มที่อพยพจากบ้านเกิดในแดนภารตมาตั้งรกรากในแดนดินถิ่นอินทรีตั้งแต่นายดรุณ ระวียังเด็กได้ออกแถลงการณ์แสดงความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐ พร้อมกับวิงวอนให้ทั่วโลกที่เฝ้าจับตามองคดีนี้ให้มองปัญหาอย่างมีสามัญสำนึกด้วย

                 แม่ของนายดรุณ ระวียังยืนยันด้วยว่าลูกชายเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียน และ "ไม่เคยเกลียดชังใคร"

                 "ฉันไม่รู้จะพูดอย่างไรดีกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับดรุน ลูกชายของฉัน ทุกวันนี้ทั้งรอยยิ้มและความสุขได้หายไปจากใบหน้าและดวงตาของลูก" ผู้เป็นแม่ยังได้ฝากความเสียใจไปยังครอบครัวของนายไทเลอร์ เคลเมนติ ด้วย

                 ขณะเดียวกัน ทนายความของนายดรุณ ระวี แก้ต่างว่านายดรุณมีความผิดเพียงแค่ความคึกคะนองและเล่นพิเรนทร์ตามประสาหนุ่มๆ วัยแค่ 18 ปี จนเกิดความผิดพลาดขึ้นเท่านั้น

                 ซึ่งก็มีการตั้งคำถามกลับว่าหากนี่เป็นเพียงนิสัยไม่ดีของนายดรุณ ระวีตามประสาหนุ่มวัยรุ่นที่คึกคะนอง ทำอะไรไม่ยั้งคิด แล้วการเยียวยาที่เหมาะสมควรจะเป็นเช่นใด

 นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิของคนเพศที่สามให้ความเห็นว่าอยากให้นายดรุณ ระวีและคนอื่นๆ ไปใช้ชีวิตทั้งชีวิตอยู่ในชุมชนของพวกรักร่วมเพศดูบ้างจะได้เข้าใจหัวอกหัวใจของกลุ่มเพศที่สามว่าเป็นเช่นใดเวลาถูกคนอื่นเขาเยาะเย้ยถากถางและข่มเหงรังแก

                 กลุ่มนี้มองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เหตุการณ์โดดๆ แค่เรื่องของเกย์คนหนึ่งที่ถูกข่มเหงรังแกและฆาตกรรม แต่เป็นปัญหาของชุมชนที่ตกเป็นเหยื่อโดยรวมทั้งชุมชน ยิ่งเมื่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองว่าการลงโทษนั้นสาสมกับอาชญากรรมที่ก่อไว้หรือไม่ กลุ่มนี้เรียกร้องให้เนรเทศนายดรุณ ระวีทันทีหลังจากรับโทษจองจำแล้ว เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสมควรทำ เนื่องจากนายดรุณ ระวีเกิดที่อินเดียแต่มาโตที่สหรัฐจึงควรรับโทษ 2 เท่า

                 แต่หลายคนแย้งว่าคนที่มีความคิดเห็นเช่นนี้เท่ากับมีอคติหรือความเกลียดชังในเรื่องเชื้อชาติฝังลึกอยู่ในใจเสียเอง ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้นสองเท่า เพราะแม้กระทั่งสื่อในสหรัฐเองก็โหมประโคมข่าวนี้อย่างใหญ่โตด้วยภาษาที่เหมือนกับตอกย้ำอคติหรือความเกลียดชังในเรื่องเชื้อชาติ 

                 เริ่มตั้งแต่การนำเสนอข่าวว่านายดรุณ ระวี กับนางสาวมอลลี เหว่ย เพื่อนร่วมชั้นวัย 18 ปี ได้ซ่อนกล้องเว็บแคมไว้ในห้องพักในหอพักของมหาวิทยาลัย แอบถ่ายภาพกิจกรรมส่วนตัวนายของไทเลอร์ เคลเมนติ เพื่อนร่วมห้องผ่านทางอินเทอร์เน็ตกันแบบสดๆ เหมือนกับเป็นถ้ำมองไฮเทค แถมยังทวิตข้อความว่า "รูมเมตขอใช้ห้องจนถึงเที่ยงคืน ผมเลยไปที่ห้องมอลลี เปิดเว็บแคม ผมเห็นเขากำลัง...กับชายคนหนึ่ง เย้"

                  สื่อยังประโคมข่าวว่าทั้งสองคนยังช่วยกันกระจายข่าวให้เพื่อนร่วมแก๊งช่วยกันดูหนังสดภาคสองในวันต่อมาด้วย แต่ความจริงที่ทนายใช้เป็นหลักฐานในการต่อสู้ก็คือทั้งนายดรุณ ระวีและนางสาว

                 มอลลี เหว่ย ดูการจุมพิตเพียงแค่ไม่กี่วินาที โดยไม่มีการบันทึกอะไรมากกว่านั้น ส่วนครั้งที่ 2 ที่โหมประโคมชักชวนเพื่อนฝูงให้มาดูฉากเร่าร้อนนั้นก็เป็นแค่ลมปาก เพราะจริงๆ แล้วไม่มีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น เนื่องจากนายเคลเมนติเห็นเว็บแคมก่อนจึงดึงปลั๊กออก แต่นายดรุณ ระวี แย้งว่าตัวเองจงใจตั้งเวลาไว้เพื่อไม่ให้บันทึกภาพฉากพิศวาสอันเร่าร้อน

                 ประเด็นนี้สื่อจงใจจะฝังเป็นประเด็นเล็กๆ แทรกอยู่ในเนื้อข่าวเท่านั้น ซึ่งเท่ากับโน้มนำผู้อ่านให้หลงเชื่อจนเกิดความเข้าใจผิดคิดว่ากระบวนการ "ถ้ำมองไฮเทค" นี้ดำเนินไปตั้งแต่ต้นจนจบ

                  หรือล่าสุดก็คือการบรรยายภาพนายดรุณ ระวีขณะฟังคำพิพากษาว่ามีสีหน้าเฉยเมยเหมือนกับไม่รู้สึกรู้สมกับความผิดที่ก่อไว้ ซึ่งเป็นคำบรรยายที่เต็มไปด้วยอคติ ทั้งๆที่แม่ของอดีตนักศึกษาหนุ่มให้สัมภาษณ์ด้วยความเศร้าสร้อยว่าความสุขและรอยยิ้มให้เลือนหายไปจากใบหน้าของลูกชายนับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ การตีความภาษากายผิดๆ ของสื่อมีส่วนช่วยกระพือความโกรธแค้นให้กลุ่มปกป้องสิทธิเกย์ให้มากขึ้นทวีคูณ

                 หลังเกิดเหตุ สำนักอัยการเขตมิดเดิลเซ็กซ์ ในนิวยอร์ก ได้แจ้งข้อหานายดรุณ ระวี กับนางสาวมอลลี เหว่ย โทษฐานละเมิดความเป็นส่วนตัวโดยใช้กล้องเพื่อดูและเผยแพร่ภาพของผู้ตาย ซึ่งตามกฎหมายของสหรัฐแล้ว การสะสม หรือชมภาพการมีเพศสัมพันธ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงระดับ 4 ส่วนการเผยแพร่ภาพเหล่านั้น เป็นอาชญากรรมร้ายแรงเช่นกัน โดยมีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี

                 นอกจากนี้ นายดรุณ ระวี ยังถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมรวม 15 กระทงด้วยกัน ซึ่งถ้าศาลตัดสินว่าผิดจริงจะต้องโทษสูงสุดถึงจำคุก 10 ปี รวมทั้งอาจมีสิทธิถูกเนรเทศกลับอินเดียได้ง่ายๆ

                 สำหรับนางสาวมอลลี เหว่ยนั้นได้เข้ากระบวนการต่อรองในชั้นศาลและต้องรับโทษทำงานบริการชุมชนเป็นเวลา 300 ชั่วโมง นอกเหนือจากต้องรับการปรึกษาทางจิต

                 นักเคลื่อนไหวหลายคนชี้ว่าหนทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาไม่ให้กลุ่มรักร่วมเพศถูกข่มเหงรังแกหรือดูถูกเยาะเย้ยเสียดสีก็คือการแก้ที่ตรงจุดด้วยการต้องยอมรับสิทธิของกลุ่มรักร่วมเพศ รวมไปถึงสิทธิของผู้อพยพ สิทธิของพวกผิวสีและสิทธิของผู้หญิง เพราะเหยื่อเหล่านี้ไม่ใช่แค่อยากจะเห็นคนที่รังแกตัวเองต้องถูกลงโทษเท่านั้น แต่คนกลุ่มนี้อยากจะมีสิทธิใช้ชีวิตอย่างปกติเยี่ยงคนทั่วไป รวมไปถึงการได้อยู่กินกับคนที่ตัวรัก หรือสามารถโยกย้ายถิ่นฐานไปทั่วโลกโดยไม่ต้องเสียสิทธิในการทำงาน เป็นต้น

                 นักเคลื่อนไหวอีกหลายคนยังให้ความเห็นด้วยว่าการส่งฟ้องและการตัดสินคดีนี้ได้จุดชนวนคำถามไม่รู้จบถึงเบื้องหลังของการก่ออาชญากรรมอันเนื่องจากอคติหรือความเกลียดชัง ขณะที่กระบวนการยุติธรรมส่วนใหญ่ยังล้าหลังไม่ทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ปมทวีความซับซ้อนมากขึ้นหากนำเรื่องของเชื้อชาติและเพศสภาวะเข้ามาจับโดยไม่ยอมมองดูบริบทหรือแรงจูงใจอื่นๆ

                 อคติที่ว่านี้ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ว่ามีเจตนาหรือไม่เท่านั้น แต่ยังคลุมไปถึงเรื่องที่ว่าอาจจะมาจากจิตใต้สำนึก และการทำร้ายที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ร่างกายหากรวมไปถึงการทำร้ายจิตใจ อันสืบเนื่องมาจากการถูกล้อเลียน การถูกเยาะเย้ยถากถางและการใช้เรื่องของเพศสภาวะ โดยเฉพาะการฝังจิตฝังใจเกลียดชังพวกรักร่วมเพศอย่างเกย์และเลสเบี้ยน มาเป็นเครื่องมือในการดูถูกหยามหมิ่น โดยไม่ตระหนักว่าการกระทำเช่นนั้นเท่ากับทำลายชีวิตผู้อื่นเหมือนเป็นเกมกีฬาสุดโหดประเภทหนึ่ง

                 ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องช่วยกันหยุดกระแสเลวร้ายและวงจรอุบาทว์นี้เสียที เริ่มตั้งแต่การเพิ่มโทษสูงสุดผู้ต้องหาที่ก่อคดีในทำนองนี้ ผสมผสานกับการอบรมสั่งสอนตั้งแต่วัยเยาว์ให้ยอมรับในสิทธิของคนเพศที่สามด้วย

................................
(ความตายของเกย์หนุ่ม:ภัยจากถ้ำมองไฮเทคหรืออคติเรื่องเพศที่ 3 และการเหยียดผิว : คอลัมน์เปิดโลกวันอาทิตย์ : โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์)