
'อู่ตะเภา' ในตำนาน มรดกแห่งสงครามเย็น
'อู่ตะเภา' ในตำนาน มรดกแห่งสงครามเย็น
ความวิตกกังวลในกรณีที่สหรัฐอเมริกาจะกลับเข้าดำเนินกิจการในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาไทยอีกครั้ง คงหนีไม่พ้น บาดแผลในอดีตที่เกิดจากการที่สนามบินแห่งนี้เคยใช้เป็นที่จอดป้อมบิน บี-52 เพื่อบินไปถล่มประเทศเพื่อนบ้าน ในช่วงสงครามเวียดนาม
หากจะกล่าวถึงภูมิหลังด้านความสัมพันธ์ทางการทหารและความมั่นคงที่แนบแน่นระหว่างไทย-สหรัฐ คงต้องย้อนกลับพิจารณาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วง พ.ศ.2496-2504 โดยสหรัฐมีนโยบายใช้ไทยเป็นทางผ่านความช่วยเหลือทางการทหารและการดำเนินสงครามจิตวิทยาในการต่อต้านคอมมิวนิสต์
สาเหตุสำคัญของการดำเนินนโยบายต่างประเทศในภูมิภาคนี้ เกิดนับตั้งแต่เหตุการณ์การล่มสลายของจีน สงครามเกาหลี และการดำเนินนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนอย่างรุนแรง เนื่องจากสหรัฐวิตกถึงการล่มสลายของภูมิภาคตามทฤษฎีโดมิโน
ซึ่งส่งผลให้สหรัฐสูญเสียแหล่งผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้ (ณัฐพล ใจจริง, ใน 'การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2491-2500)', หน้า 121)
กอปรกับเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางในแผนพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ส่งผลให้ไทยผูกพันด้านความช่วยเหลือด้านการเงินของสหรัฐอเมริกามากยิ่งขึ้น เรื่องนี้ ดร.ทักษ์ เฉลิมเตีรณ ได้กล่าวไว้ใน 'การเมืองพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ' ว่า จากการมุ่งพัฒนาระดับชาติในสมัยจอมพลสฤษดิ์
ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงเกิดจากความวิตกกังวลภายนอกของรัฐบาลไทยเท่านั้น เมื่อสถานการณ์ในอินโดจีนเลวร้ายลงสำหรับอเมริกัน สหรัฐก็ยิ่งให้ความสำคัญแก่ประเทศไทยมากขึ้นในการวางแผน เพื่อต่อต้านอิทธิพลของคอมมิวนิสต์
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเขตนี้ หากมีความจำเป็นที่สหรัฐจะต้องขยายการเข้ามามีส่วนพัวพันทางทหารในอินโดจีนแล้ว ประเทศไทยก็จะเป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนและควบคุมอย่างดี รัฐบาลอเมริกันจึงพอใจกับการที่รัฐบาลไทยขอร้องให้ช่วยเหลือด้านการเงินและการทหาร
ทั้งนี้ ระหว่าง พ.ศ.2497-2505 ทหารอเมริกันเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นถนนและสะพานมูลค่าทั้งหมด 97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ 35 ล้านดอลลาร์มาจากโครงการช่วยเหลือทางการทหาร และ 62 ล้านดอลลาร์ มาจากโครงการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ
ในระยะหลัง พ.ศ.2504 นโยบายพัฒนาของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มุ่งอยู่ที่การพิจารณาด้านความมั่นคงของชาติมากขึ้น และได้รับการช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและการเงินจากสหรัฐ และมีการสานต่อในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งสหรัฐได้เพิ่มขอบเขตความสนใจและมีอิทธิพลมากขึ้น
ขณะที่บุคลากรฝ่ายทหารอเมริกันเข้ามาพัวพันในเวียดนามมากขึ้น ความช่วยเหลือทางการทหารที่ให้แก่ประเทศไทย จึงมีเพิ่มขึ้นในรูปของความช่วยเหลือโดยตรงและให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงสร้างพื้นฐานของสังคมด้านคมนาคม ซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์การทหาร
สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2506 ความช่วยเหลือของอเมริกันทั้งหมดที่ให้แก่ประเทศไทยมีจำนวน 42.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 7.3 ล้านเหรียญนั้น ตกอยู่แก่โครงการป้องกันทางทหารของกองทัพบก ซึ่งใช้สำหรับการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคมนาคม และสิ่งอำนวยความสะดวกของค่ายทหาร ความช่วยเหลือตามโครงการการป้องกันทางทหารของกองทัพอากาศ ซึ่งมีจำนวน 8.1 ล้านเหรียญ
ใช้สำหรับการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการและกองหนุนที่โคราช ตาคลี อุบลฯ อุดรฯ ดอนเมือง เชียงใหม่ และการติดตั้งหอบังคับการบิน / เครื่องส่งสัญญาณที่เขาเขียว
นอกจากนั้น ยังมีโครงการความช่วยเหลือทางทหารของกองทัพเรือได้ใช้เงินจำนวน 1.6 ล้านดอลลาร์อเมริกันไปในการก่อสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกที่ท่าเรือขนส่งสินค้า ณ ฐานทัพราชนาวีไทยที่สัตหีบ ด้านเครื่องอำนวยความสะดวกทางด้านคมนาคมกระจายไปตามที่ต่างๆ 18 แห่ง และเงินที่เหลือก็ใช้จ่ายตามโครงการย่อยๆ ทั่วทั้งประเทศ แม้ว่ากองทัพไทย ไม่ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกที่สมบูรณ์แบบเช่นนั้น
เพราะสิ่งเหล่านี้ หมายถึงการเตรียมพร้อมสำหรับอำนวยความความต้องการให้แก่เครื่องกลไกทางทหารที่ทันสมัยของอเมริกันเท่านั้น
ทั้งนี้ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2507 รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนเวียดนามใต้และนโยบายต่างประเทศของอเมริกันอย่างเปิดเผย ด้วยการสัญญาว่าจะให้การสนับสนุนทางทหารโดยตรง เมื่อเดือนกันยายนประเทศไทยได้ส่งนักบินไทย 10 คน และเจ้าหน้าที่ประจำอีก 7 คนให้ไปขับเครื่องบินเวียดนาม การให้ความสนับสนุนทางการทหารแก่รัฐบาลเวียดนามนี้ ได้ทำให้อเมริกันสัญญาจะให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนทางด้านการเงินแก่กองทัพไทย ที่ส่งไปเวียดนามเพิ่มขึ้นทีละน้อย การใช้ประเทศไทยของอเมริกันไม่เป็นที่เปิดเผยเป็นทางการจนกระทั่งวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2510
เครื่องบินบี-52 ลำแรกมาถึงฐานทัพอากาศที่อู่ตะเภา เมื่อ พ.ศ.2510 อย่างไรก็ตาม การทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือและลาวจากฐานทัพไทยก็เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2508 ขณะที่รัฐบาลไทยให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสหรัฐในสงครามเวียดนามมากขึ้นทุกที
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภาในปี พ.ศ.2508 เพื่อเป็นหน่วยในการลำเลียงหน่วยรบไปยังจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ภายในประเทศ การก่อสร้างแล้วเสร็จในเวลาประมาณ 1 ปี จอมพลถนอม กิตติขจร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในเวลานั้น มีคำสั่งให้สนามบินแห่งนี้ให้กองทัพเรือใช้ในราชการ และดูแลรักษาสนามบิน โดยใช้ชื่อว่า 'สนามบินอู่ตะเภา'
ดร.เขียน ธีระวิทย์ กล่าวไว้ในบทความ 'อำนาจอธิปไตยเหนืออู่ตะเภาของไทยแลกเปลี่ยนมิได้' ในเวบไซต์ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย ว่าประเทศไทยในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ยินยอมให้สหรัฐใช้สนามบินอู่ตะเภา เพื่อทำสงครามในอินโดจีน ซึ่งข้อตกลงไทย-สหรัฐ (มีเพียงบันทึกรายงานการประชุมปี 2510 ไม่มีข้อตกลงอย่างเป็นทางการ)
"แม้จะบอกว่าสนามบินอู่ตะเภาเป็นของไทย ไทยมีอำนาจการบังคับบัญชาการบริหารงาน และมีอำนาจศาล ฯลฯ แต่ในทางปฏิบัติ สหรัฐย้ายฐานบินทิ้งระเบิด บี-52 จากเกาะกวมมาอยู่ที่อู่ตะเภา และใช้สนามบินอู่ตะเภาปฏิบัติการทิ้งระเบิด เวียดนาม ลาว กัมพูชา อย่างเป็นอิสระจากฝ่ายไทย เสมือนหนึ่งเป็นดินแดนของสหรัฐ"
"เครื่องบินยักษ์ บี-52 ของสหรัฐฯที่อู่ตะเภานั้น กว่าจะออกไปได้ก็ด้วยความสามัคคีของคนไทย โดยการนำของนิสิต-นักศึกษาเดินขบวนประท้วง บีบรัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช ให้บีบให้สหรัฐถอนออกไป เมื่อ พ.ศ.2518 เมื่อสหรัฐแพ้สงครามอินโดจีนและกลับไปอยู่ในแผ่นดินของตน คนไทยถูกเพื่อนบ้านมองอย่างหวาดระแวงต้องปรับตัวอยู่กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอดสู โดยมีตราประทับรอยบาปทางใจให้แก่คนไทยที่รู้สึกผิดชอบชั่วดีทั่วหน้ากัน"
โดยในปี พ.ศ.2519 กองทัพสหรัฐอเมริกาได้ถอนกำลังทหารออกจากประเทศไทย รวมทั้งสนามบินอู่ตะเภาด้วย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินพาณิชย์ระหว่างประเทศ และเป็นสนามบินสำรองของท่าอากาศยานดอนเมือง ภายใต้สังกัดของกองทัพเรือ โดยให้พัฒนาเป็นสนามบินพาณิชย์ร่วมกับกรมการบินพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม