อเมริกึ๋น
อเมริกึ๋น : วันเว้นวันจันทร์ พุธ ศุกร์กับ ประภัสสร เสวิกุล
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้พูดคุยถึงเรื่องวัฒนธรรมอเมริกันทางรายการโทรทัศน์และรายการวิทยุหลายรายการ ทั้ง “ศิลป์สโมรสร” กับคุณพนิตนาฏ ฉัตรวิไล ทางสถานีไทยพีบีเอส กับคุณสรรเสริญ ปัญญาธิวงศ์ ในรายการ “การเดินทางของความคิด เอฟเอ็ม 96.5 และกับคุณชุติมา เสวิกุล ในรายการ “โลกและชีวิต กับประภัสสร เสวิกุล” ทางวิทยุศึกษา เอฟเอ็ม 92 ซึ่งสาเหตุก็เนื่องมาจากวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เป็นวันชาติของชาวอเมริกัน บวกกับประเด็นร้อนเรื่องการที่สหรัฐขอใช้สนามบินอู่ตะเภา
วัฒนธรรมอเมริกันปรากฏในเมืองไทยอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2437 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน ออกหนังสือจดหมายเหตุ หรือบางกอกรีคอร์เดอร์ ขึ้น ซึ่งนับเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย แต่ก็มีลักษณะแบบอเมริกันคือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา ทำให้ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของคนไทยเท่าไหร่นัก และคนไทยในช่วงระยะเวลาต่อมาก็นิยมวัฒนธรรมยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษ เนื่องจากเจ้านายและข้าราชการส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาจากประเทศเหล่านั้น
วัฒนธรรมอเมริกันเข้าไทยอีกครั้งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสหรัฐเป็นฝ่ายชนะสงคราม และเริ่มมีอิทธิพลในเอเชียแทนที่อังกฤษและฝรั่งเศส กับเป็นผู้นำโลกเสรีในการต่อต้านโลกคอมมิวนิสต์ซึ่งมีโซเวียตและจีนเป็นผู้นำอเมริกันเข้าสู่สงครามเวียดนาม ในปี พ.ศ. 2500 และส่งที่ปรึกษาทางทหารและด้านต่างๆ เข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นโดยลำดับ จากจำนวน 20 นาย ในปี พ.ศ.2489 เป็นหลายพันคนในปี 2504 เป็นต้นมา จนถึง 4.5 หมื่นคน ในช่วงปี พ.ศ.2510-2518 ซึ่งสิ่งที่มาพร้อมกับคนอเมริกันก็คือวัฒนธรรมอเมริกัน ทั้งในรูปของหนังสือ วรรณกรรม ภาพยนตร์ ดนตรีและเพลง แฟชั่น จนถึงเครื่องอุปโภคบริโภค ซึ่งความหลากหลาย ผสมผสาน และความแปลก ใหม่ ทันสมัย นับเป็นจุดเด่นที่สร้างกระแสความนิยมของคนไทยต่อวัฒนธรรมอเมริกัน
สำหรับหนังสือและวรรณกรรม ต้องกล่าวว่าสำนักข่าวสารอเมริกัน (ยูซิส) ประจำประเทศไทย มีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะการออกวารสารเสรีภาพรายเดือน และจัดพิมพ์หนังสือแปลชุดเสรีภาพ ประมาณ 80 เล่ม ที่ทำให้คนไทยได้รู้จักอเมริกาและคนอเมริกัน ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วิทยาการ จนถึงการบุกเบิกอวกาศ แต่สิ่งที่ทำให้คนไทยสัมผัสวัฒนธรรมอเมริกันอย่างใกล้ชิด ก็คือภาพยนตร์ เพลงประกอบภาพยนตร์ และดารา ในยุคนั้น แพต บูน โด่งดังจากภาพยนตร์เรื่อง “เบอร์นาดีน” หรือ “นางในฝัน” และเพลงชื่อเดียวกัน เอลวิส เพรสลีย์ จากภาพยนตร์และเพลง “เลิฟ มี เทนเดอร์” และดาราที่ประทับใจแฟนๆ มากที่สุด คือเจมส์ ดีน จากภาพยนตร์เรื่อง “อีสต์ ออฟ อีเดน” และ “ไจแอนท์” ซึ่งจบชีวิตลงด้วยวัยเพียง 24 ปี
เมื่อสหรัฐมาตั้งค่ายทหารในไทย สิ่งที่ตามมาก็คือความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ เพื่อผ่อนคลายความเครียด ทำให้บาร์และไนต์คลับผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และนักดนตรีไทยมีโอกาสแสดงฝีมือกันเต็มที่ วงดนตรีอย่างคาไลโดสโคป หรือนักดนตรีอย่างกิตติ-กีต้าร์ปืน, แหลม มอริสัน และ ช อ้น ณ บางช้าง ความนิยมเพลงอเมริกันแพร่ออกมายังรายการวิทยุ และเปลี่ยนรูปโฉมของดนตรีไทยไปสู่วงดนตรีประเภทสตริงคอมโบ้
ในส่วนของอาหารการกิน ที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดก็คงจะเป็นน้ำอัดลมสีดำ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มประจำวันของคนไทยมาไม่น้อยกว่าครึ่งศตวรรษ และเรื่อยลามมาถึงอาหารฟาสต์ฟู้ด กาแฟ ไอศกรีม และขนมนมเนยยี่ห้อดังๆ ของอเมริกาในปัจจุบัน ขณะที่สินค้าประเภทเครื่องอุปโภคอย่างสบู่ แชมพู ยาสีฟัน ผงซักฟอก เครื่องสำอาง ฯลฯ ที่อเมริกาเคยครองตลาดมาก่อนจะถูกแบ่งพื้นที่ไปบางส่วนด้วยสินค้าญี่ปุ่นและประเทศอื่น
มีคำถามว่า ในสภาพการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลกเช่นเวลานี้ อเมริกาจะสามารถมีบทบาทนำในทางวัฒนธรรมได้อีกนานเพียงไร? ผมคิดว่าอีกนานมาก(ส์)เลยล่ะครับ เพราะประการแรก วัฒนธรรมอเมริกันฝังรากลงในจิตใจของชาวโลกและคนไทยอย่างเหนียวแน่น ประการที่สอง อเมริกันมีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมของตนให้สอดคล้องกับยุคสมัยตลอดเวลา ซึ่งจะเห็นได้จากภาพยนตร์และเพลงอเมริกันที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
และประการสุดท้าย โลกทุกวันนี้เป็นโลกแห่งไซเบอร์และโซเชียลเน็ตเวิร์ก อเมริกามีคนอย่าง บิล เกตส์ กับสตีฟ จ็อบส์ เพียง 2 คน ก็ครองโลกทั้งใบได้แล้วล่ะครับ