ข่าว

นักการเมือง(ไม่)ควรเป็นเจ้าของสื่อ?

นักการเมือง(ไม่)ควรเป็นเจ้าของสื่อ?

22 ก.ค. 2555

รายงานพิเศษ : นักการเมือง(ไม่)ควรเป็นเจ้าของสื่อ? โดย 'ทีมข่าวเดอะเนชั่น'

          ไม่ต้องสงสัยว่า สถานีโทรทัศน์ "การเมือง" หลายช่องกำลังออกอากาศอยู่โดยขัดกับข้อห้ามของรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามเอาไว้อย่างชัดเจนว่าไม่ให้นักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ คำถามจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า ช่องเหล่านั้นควรจะถูกปิดให้ "จอดำ" ไปหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าข้อห้ามดังกล่าวนี้เป็นไปได้จริงตั้งแต่แรกหรือไม่

          จากการสำรวจความคิดเห็น พบว่า คนส่วนใหญ่ถ้าไม่อ้าแขนต้อนรับช่องทีวีเหล่านั้นก็ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คำถามถัดมาจึงอยู่ที่ว่า ความพยายามที่จะอุดช่องโหว่ของกฎหมายที่กำลังดำเนินอยู่นี้ควรจะมีต่อไปหรือควรจะแก้กฎหมายให้ช่องทางการเมืองสามารถผูกกับนักการเมืองได้กันแน่

          เถกิง สมทรัพย์ ผู้อำนวยการสถานีบลูสกาย แชนแนล กล่าวว่า ควรมีการแก้ไขมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติของมนุษย์

          "มาตรา 48 ต้องแก้ เพราะปัจจุบันชัดเจนว่า ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะมันฝืนธรรมชาติ พรรคการเมืองต้องสื่อสารกับประชาชน ถ้าเขารู้สึกว่าสื่อกระแสหลักไม่ทำหน้าที่ให้ดี สื่อสารไม่ได้อย่างที่เขาต้องการ เขาก็หาช่องทางใหม่ๆ ในขณะเดียวกัน เมื่อประชาชนรู้สึกว่า สื่อกระแสหลักที่นำเสนอข้อมูลด้านเดียวมีมากเกินไปก็จะเสาะหาแหล่งข้อมูล คือ สถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ" เถกิงกล่าว

          เถกิงกล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้ นักการเมืองก็มีการปราศรัย มีใบปลิว เว็บไซต์ได้ ถึงเป็นเจ้าของสื่อมวลชนไม่ได้ แต่ก็ยังส่งความคิดผ่านสื่อมวลชน นักการเมืองกับสื่อแยกกันไม่ออก เพียงแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของ ถึงไม่แทรกแซงสื่อ ความคิดเขาก็ผ่านตัวบุคคล สื่อก็ไปรับเอามาออก เพราะชาวบ้านต้องการ

          "ต่อให้ไม่มีสื่อ ตราบใดความขัดแย้งหลักยังไม่จบ ถึงหยุดสื่อไปก็ไปออกทางอื่น ยิ่งเกิดปัญหาบ้านเมืองแบบนี้นะ ชาวบ้านยิ่งอยากรู้ อยากหาข้อมูลให้มากที่สุด ถ้าปัญหาบ้านเมืองจบ บทบาทของสื่อที่ทำหน้าที่สุดโต่งก็จะน้อยลงไป แต่ตราบใดที่ข้างบน นักการเมือง ยังมีประเด็น ชาวบ้านก็ยังอยากรู้" เถกิงกล่าว

          เป็นความเห็นคล้ายๆ กันแต่จากอีกฝั่งการเมือง จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.พรรคเพื่อไทย ผู้เคยถือหุ้น 1 หมื่นหุ้นของ Democracy News Network (DNN) ผู้ผลิตช่องเอเชีย อัพเดท ก่อนมาเป็นนักการเมือง ซึ่งเธอเชื่อว่านักการเมืองควรมีสิทธิถือหุ้นและเป็นเจ้าของทีวีตราบใดที่ไม่ได้ไปพึ่งหรือเบียดเบียนภาษีของประชาชน

          จารุพรรณกล่าวว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น นักการเมืองและพรรคการเมืองก็สามารถทำรายงานรายรับรายจ่ายและจำนวนเงินที่ใช้ทำสื่อให้สังคมรับรู้ตรวจสอบได้

          ส่วนเรื่องความเป็นห่วงที่ว่าการให้ข้อมูลด้านเดียวและโจมตีฝ่ายตรงข้าม โดยสื่อการเมืองนั้นจะทำให้สังคมแตกแยก จารุพรรณเชื่อว่าสังคมมีวุฒิภาวะพอ สามารถแยกแยะข้อเท็จจริงได้ เธอยังกล่าวเสริมว่าสื่อเหล่านี้ยังช่วยเป็นช่องทางให้ประชาชนปลดปล่อยความอัดอั้นตันใจทางการเมืองด้วย "มันช่วยลดความรุนแรง"

          นพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายส่วนตัวอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเคยถือหุ้นอยู่ใน บริษัท ดีสเตชั่น จำกัด กล่าวว่า ทีวีลักษณะนี้ควรได้รับโอกาสในการพิสูจน์ตัวเอง อย่างไรก็ตามควรมีองค์กรที่มากำกับดูแลเนื้อหาของทีวีเหล่านี้ว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หรือทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมหรือไม่ เช่น กสทช.

          ขณะที่ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชน แสดงความไม่เห็นด้วยที่รัฐธรรมนูญห้ามนักการเมืองมีหุ้นในสื่อ โดยมองว่าขัดกับหลักประชาธิปไตย เพราะเท่ากับห้ามคนมีอาชีพเป็นสื่อเล่นการเมืองด้วย

          "ในโลกไม่มีใครเขาทำกันแบบนี้ มันผิดหลักประชาธิปไตยซึ่งผมค้านเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น"

          ดร.สมเกียรติมองว่า พรรคการเมืองควรเป็นเจ้าของสื่อได้ และด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้ห้ามได้ยาก ทั้งเว็บไซต์ ทีวีดาวเทียม

          "ขนาดป้าเช็ง หรือบริษัทขายแผ่นเสียงยังเป็นเจ้าของทีวีดาวเทียมได้ แล้วทำไมพรรคการเมืองจะมีไม่ได้"

          อย่างไรก็ตาม ดร.สมเกียรติเห็นว่า แต่สื่อของพรรคการเมืองควรเป็นแค่สื่อประชาสัมพันธ์เท่านั้น สื่อของพรรคไม่ควรเป็นสื่อสารมวลชน แต่ควรทำหน้าที่เพียงประชาสัมพันธ์นโยบายหรือผลงานของพรรคเท่านั้น ทำหน้าที่เชิงบวกเท่านั้น ไม่ควรไปทำหน้าที่ตำหนิ ด่าทอ หรือให้ร้ายใคร

          ดร.สมเกียรติกล่าวว่า หน้าที่ของสื่อสารมวลชนต้องตรวจสอบ ให้ความเป็นธรรม ถ่วงดุลทุกด้าน "แต่สื่อของทั้ง 2 สี (ฟ้า/แดง) ไม่เคยตรวจสอบ ต่างคนต่างนั่งพูด ไม่ได้มีข้อมูลอะไรเลย มีแต่ความรู้สึก ความคิดเห็น ยกเมฆมาทั้งนั้น ประชาชนต้องเรียนรู้ว่าสื่อของพรรคเชื่อถือไม่ได้ เพราะโจมตีฝ่ายตรงข้ามอย่างเดียว โดยไม่ให้ความจริง"

          ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การห้ามไม่ให้พรรคการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ ถือเป็นแบบแผนปฏิบัติซึ่งต่างประเทศ เช่น ในสหราชอาณาจักรก็ยึดถือมีกฎระเบียบอยู่เช่นกัน ส่วนในสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีข้อห้ามแต่ก็ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ

          ผศ.ดร.พิรงรองกล่าวว่า ในเชิงปรัชญาการเมือง สื่อเป็นฐานันดรที่สี่ มีหน้าที่ตรวจสอบอำนาจอีกสามฐานันดร ดังนั้นจึงควรเป็นอิสระ ไม่ทับซ้อนกับอีกสามอำนาจ ได้แก่ ขุนนาง ศาสนจักรและผู้แทนราษฎร ซึ่งฐานันดรสามในปัจจุบันเปรียบได้กับอำนาจอธิปไตยทั้งสาม คือ อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

          "นักการเมืองอาชีพควรจะตระหนักและจำกัดบทบาทของตัวเอง โดยไม่เอาการเมืองไปผสมกับสื่อ ควรนึกถึงจริยธรรมเกี่ยวกับอำนาจทางการเมือง เพราะหากมาใช้สื่อเอง ก็เป็นการครอบงำ"

          ผศ.ดร.พิรงรอง เทียบเคียงกับหลักการของวิทยุชุมชน ที่ว่าเป็นของชุมชน ผลิตโดยชุมชน และเพื่อชุมชน "คำว่า โดยชุมชน ก็กำหนดทิศทางของเนื้อหารายการอยู่แล้วและถามว่า เพื่อใคร ในเมื่อการเมืองของพรรคการเมืองคือการเอาชนะ เกี่ยวข้องกับการโฆษณาชวนเชื่อ หากมีการเมืองของพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องก็ไม่มีทางที่ผลประโยชน์หลักจะตกเป็นของชุมชน"

          ผศ.ดร.พิรงรองกล่าวว่า เมื่อก่อนพรรคการเมืองไม่ว่าจะประชาธิปัตย์หรือไทยรักไทย ก็มีเว็บไซต์ แต่ไม่มีใครบ่น เพราะยังมีจรรยาบรรณอยู่ ปัญหาอยู่ที่การยุยงปลุกปั่น การใช้ถ้อยคำที่ทำให้เกิดการเกลียดชัง การกล่าวหา ให้ร้ายฝ่ายตรงข้าม การโฆษณาชวนเชื่อ"

          อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการอำนวยการ บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น เชื่อว่า มันไม่มีหนทางใดที่จะหยุดยั้งไม่ให้นักการเมืองเข้ามาเป็นเจ้าของและบริหารโทรทัศน์ในความเป็นจริงได้เพราะพวกเขาสามารถใช้ผู้อื่นถือหุ้นแทนได้ การให้นักการเมืองมาถือหุ้นได้อย่างเปิดเผยและถูกกฎหมายจึงน่าจะเป็นสิ่งที่โปร่งใสกว่า

          "ผมว่าเปิดเผยไปเลยดีที่สุด มันห้ามไม่ได้อยู่แล้วและก็จะให้ประชาชนเขารู้ว่าใครเป็นเจ้าของจริงๆ ดีกว่า ข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญมันไม่แพรคติคัล" อดิศักดิ์กล่าว

          อดิศักดิ์กล่าวเสริมว่า ทุกวันนี้ประชาชนมีทางเลือกว่าอยากชมช่องสีฟ้า สีเหลืองหรือสีแดง

          "ถ้าจะบอกเขาเลือกข้าง อันนี้ช่วยไม่ได้ แต่มันก็ไม่ได้ปิดกั้นอีกฝั่งหนึ่งที่มีความเห็นต่าง" อดิศักดิ์กล่าว

          สำหรับ สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เธอไม่แน่ใจว่าจะสามารถตรวจสอบการเป็นเจ้าของสื่อของนักการเมืองได้จริงหรือไม่

          "มันก็ไม่แพรคติคัล (ปฏิบัติจริงไม่ได้)"

          อย่างไรก็ตาม สุภิญญากล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้นักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นเจ้าของสื่อหรือไม่

          สุภิญญาเสนอให้มีกติการ่วมที่ทุกฝ่ายเคารพ ซึ่งในอีกเดือนถึงสองเดือน กสทช.จะออกกฎกติกาที่จะครอบคลุมถึงทีวีช่องต่างๆ เหล่านี้ด้วยโดยหวังว่าจะก่อให้เกิดความรับผิดชอบกว่านี้

          "ถ้าจะปิด ก็ต้องปิดให้หมด ไม่ปิดก็ต้องไม่ปิดหมด"

          อย่างไรก็ตาม สุภิญญาเองก็ไม่แน่ใจว่า กสทช.จะมีพลังพอในการควบคุมทีวีเหล่านี้หรือไม่

...............................

 

หุ้น-ผู้บริหารทีวีแดง-ฟ้า พันเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์

          แม้ทั้งฝ่ายเอเชียอัพเดทและบลูสกาย ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาไม่ได้ทำผิดรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อดูจากข้อมูลบริษัทและการถือหุ้นต่างๆ จะเห็นได้ชัดว่าทีวีทั้งสองช่องต่างก็มีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนมาที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่

          ในส่วนของทีวีแดง หรือช่องเอเชียอัพเดท ซึ่งเกี่ยวพันกับฟากฝ่ายพรรคเพื่อไทยนั้น มี 2 บริษัทเกี่ยวข้องอยู่ คือ บริษัท ดีสเตชั่น จำกัด และ บริษัท เดโมเครซี นิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (ดีเอ็นเอ็น)

          พนักงานคนหนึ่งในเอเชียอัพเดทบอกถึงความสัมพันธ์ของทั้ง 3 ส่วนนี้ว่า เขาเป็นพนักงานของบริษัทดีสเตชั่น โดยปัจจุบันบริษัทจะรับผลิตรายการข่าวในนามบริษัท เดโมเครซี นิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด ให้แก่ช่องเอเชียอัพเดท

          ทั้งนี้ ช่องเอเชียอัพเดต เกิดขึ้นภายหลังจากรัฐบาลได้สั่งปิดสถานีโทรทัศน์ดีสเตชั่น ในปี 2552 และพีเพิลแชนแนล ในปี 2553 เรียกได้ว่าเอเชียอัพเดท เป็นทีวีจอแดงรุ่นที่ 3 หลังถูกปิดไปแล้ว 2 รุ่น

          ทั้งดีสเตชั่น และดีเอ็นเอ็น มีที่อยู่เลขที่เดียวกัน คือ 2539 อาคารอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว ชั้น 5 ถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ ฐานที่มั่นของคนเสื้อแดง

          โดยบริษัทดีสเตชั่นฯ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2551 ช่วงปลายรัฐบาลพลังประชาชน ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่มพันธมิตรกำลังโหมไล่บี้รัฐบาลสมชายอย่างหนัก จนเขาต้องกลายเป็นนายกฯ คนเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ไม่ได้เข้าทำเนียบ ส่วนบริษัท เดโมเครซี นิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2552

          บริษัทเริ่มต้นมีผู้ถือหุ้น 3 คน คือ นายศุภคุณ สุรทวีคุณ 1.5 แสนหุ้น นายวรุธ ทัฬหสุคนธ์ 2 แสนหุ้น และน.ส.ประไพ ยั่งยืน 1.5 แสนหุ้น

          ผ่านไปไม่ถึง 5 เดือน (23 ก.พ.52) บริษัทก็เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 5 ล้านบาท เป็น 20 ล้านบาท โดยราคาหุ้นยังเท่าเดิม และมีผู้เข้ามาถือหุ้นเพิ่มอีก 3 คน คือ นายอดิศร เพียงเกษ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายส่วนตัวของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งตอนนั้นเพิ่งพ้นจากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ เพราะแสดงความรับผิดชอบกรณีเขาพระวิหารที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐบาลดำเนินการผิดที่ไม่นำเข้ารัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190

          อย่างไรก็ตาม ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 หุ้น 2 หมื่นหุ้น ในมือนายนพดล ได้ตกไปอยู่ในมือของนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำเสื้อแดง โดยนายนพดลบอกว่า ขายหุ้นให้นายอริสมันต์

          ส่วนหุ้นของนายอดิศร 2 หมื่นหุ้น ได้เปลี่ยนไปอยู่ในมือของนายวรุธ ผู้ถือหุ้นอีกราย เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2554 ทำให้นายวรุธกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของบริษัทนี้จนถึงล่าสุด (30 เมษายน 2555) คือ 8 แสนหุ้น

          ในส่วนของนายวรุธ นอกจากเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท ดี สเตชั่น จำกัด แล้ว ยังเป็นกรรมการและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท เดโมเครซี นิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด ด้วย

          ผู้ถือหุ้นในวันเริ่มต้นของดีเอ็นเอ็นมี 4 คน คือ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ซึ่งปัจจุบันเป็นเลขาฯ พรรคเพื่อไทย และ รมว.คมนาคม ถือหุ้น 1.5 หมื่นหุ้น นายจารุวงศ์ เรืองสุวรรณ (ลูกชายนายจารุพงศ์) 1 หมื่นหุ้น น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก (ลูกสาวพล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก ปัจจุบันคือ รมช.คมนาคม ส่วนจารุพรรณตอนนี้เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคเพื่อไทย) 1 หมื่นหุ้น และนายวิมล จันทร์จิราวุฒิกุล 1.5 หมื่นหุ้น

          ต่อมาวันที่ 20 เมษายน 2554 มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นมาเป็นนายวรุธ ทัฬหสุคนธ์ เป็นถือหุ้นใหญ่คือ 49,998 หุ้น จากทั้งหมด 5 หมื่นหุ้น โดยไม่มีชื่อนายจารุพงศ์ นายจารุวงศ์ และ น.ส.จารุพรรณ เป็นผู้ถือหุ้นแล้ว

          ส่วน บลูสกายแชนแนล แม้ไม่มีนักการเมืองบิ๊กเนมของฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์มาถือหุ้นเหมือนกับเอเชียอัพเดท แต่ก็จะเห็นว่าคนที่บริหารช่องนี้อยู่ก็คือเครือข่ายของพรรคนั่นเอง

          บริษัท บลูสกาย แชนแนล จำกัด เพิ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2554 ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ถึงวันนี้อายุยังไม่เต็ม 1 ขวบ

          กรรมการบริษัทในวันที่จดทะเบียนมี 4 คน คนแรกคือ นายวิทเยนทร์ มุตตามระ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บางเขน พรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้าที่จะเป็นผู้สมัครก็ทำงานอยู่กับพรรคในฐานเลขานุการของนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และเป็นทีมงานรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" ด้วย ปัจจุบันนายวิทเยนทร์ ดำรงตําแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท บลูสกาย แชนแนล จำกัด 

          กรรมการคนที่สองคือ นายเถกิง สมทรัพย์ ซึ่งใครๆ ก็มองว่าเขาคือคนทำงานสื่อที่มีความใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์มายาวนาน เคยเป็นทีมงานรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" ด้วย ปัจจุบันเขาเป็น ผอ.บลูสกาย แชนแนล

          นายบุรฤทธิ์ ศิริวิชัย (ยุว ปชป.) ซึ่งเคยมีตำแหน่ง "ประจำสำนักนายกฯ" ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ และกรรมการอีกคน คือ นายภูษิต ถ้ำจันทร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็อยู่ในทีมงานรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" เช่นเดียวกับนายเถกิง และนายวิทเยนทร์

          ทั้งนี้ ทั้งนายบุรฤทธิ์ นายภูษิต และนายเถกิง ต่างถือหุ้นในบริษัทนี้ด้วย ขณะที่นายวิทเยนทร์ไม่มีหุ้น

          อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ถือหุ้นของบลูสกายแชนแนลนั้น มี บริษัท เทเลคาสท์ มีเดีย จำกัด มาร่วมถือหุ้นด้วยตั้งแต่ต้น โดยถือหุ้นใหญ่คือ 3 แสน จาก 5 แสนหุ้น (ล่าสุดถือหุ้นอยู่ 2.45 แสนหุ้น แต่ก็ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่)

          สำหรับ บริษัท เทเลคาสท์ มีเดีย จำกัด นั้น จดทะเบียนเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2554 ด้วยทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท โดยมีนายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ 1.5 แสนหุ้น จาก 3 แสนหุ้น

          นายทวีศักดิ์นั้น เป็นนักกฎหมายที่มีความใกล้ชิดกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายทวีศักดิ์จะเป็นผู้ดูแลด้านกฎหมายให้นายสุเทพ และล่าสุดนายทวีศักดิ์ยังไปร่วมแถลงข่าวกับนายแทน เทือกสุบรรณ ลูกชายนายสุเทพ กรณีรุกที่เขาแพง ที่เกาะสมุย ในฐานะที่ปรึกษาทางกฎหมายของนายแทนด้วย

          ทั้งนี้นอกจากจะลงทุนในบลูสกายแชนแนล 3 ล้านบาทแล้ว บริษัท เทเลคาสท์ มีเดีย จำกัด ยังลงทุนในสำนักข่าวทีนิวส์ จำกัด ผู้ผลิตข่าวช่องทีนิวส์ อีก 11 ล้านบาท

 

..................................

(หมายเหตุ : รายงานพิเศษ : นักการเมือง(ไม่)ควรเป็นเจ้าของสื่อ? โดย 'ทีมข่าวเดอะเนชั่น')