ข่าว

 "ฟ้าผ่า"...มหันตภัยใกล้ของสูง

"ฟ้าผ่า"...มหันตภัยใกล้ของสูง

24 พ.ค. 2552

นักวิชาการเตือนช่วงรอยต่อฤดูร้อนกับฤดูฝนระวังฟ้าผ่า ย้ำอย่าอยู่ใต้ต้นไม้-เสาไฟเสี่ยงสุดๆ แนะนั่งยองให้ตัวต่ำใกล้พื้นหากอยู่กลางแจ้ง ชี้มือถือเป็นแพะรับบาป ทั้งที่ไม่ได้เป็นสื่อล่อฟ้า อาจารย์จุฬาฯ เชื่อภาวะโลกร้อนมีผลต่อความถี่การเกิดฟ้าผ่า แนะนักฟิสิกส์ท

โศกนาฏกรรมจากภัยธรรมชาติช่วงฤดูฝนคงไม่มีอะไรน่าสะพรึงกลัวเท่ากับฟ้าผ่า ที่สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมาแล้วมากมาย แม้ว่ายังไม่มีผลการศึกษาว่าสภาวะความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโลก มีผลต่อความรุนแรงและความถี่ของฟ้าผ่าหรือไม่ แต่นักวิชาการก็คาดการณ์ว่าภาวะโลกร้อนมีผลต่อความถี่ของการเกิดฟ้าผ่าอย่างแน่นอน

 ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) อธิบายถึงปรากฏการณ์ฟ้าผ่าว่า เป็นเหตุการณ์ปกติช่วงรอยต่อระหว่างฤดูร้อนกับฤดูฝน ปรากฏการณ์ฟ้าผ่าเป็นการปล่อยประจุไฟฟ้าจากเมฆฝนฟ้าคะนอง หรือเมฆคิวมูโลนิมบัส ซึ่งฐานก้อนเมฆจะสูงจากพื้นราว 2 กิโลเมตร ส่วนยอดเมฆอาจสูงราว 20 กิโลเมตร ภายในก้อนเมฆจะมีการไหลเวียนของอากาศอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้หยดน้ำและก้อนน้ำแข็งภายในก้อนเมฆเสียดสีจนเกิดประจุไฟฟ้าขั้วบวกและขั้วลบ

 สำหรับประจุไฟฟ้าที่เกิดขึ้นสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดฟ้าผ่าได้ 4 แบบ คือ ฟ้าผ่าภายในก้อนเมฆ ฟ้าผ่าจากเมฆก้อนหนึ่งไปยังเมฆอีกก้อนหนึ่ง ฟ้าผ่าจากฐานก้อนเมฆสู่พื้น (ฟ้าแลบแบบลบ) และฟ้าผ่าจากยอดเมฆสู่พื้น (ฟ้าแลบแบบบวก)

 ดร.บัญชา ขยายความถึงลักษณะฟ้าผ่าที่เกิดจากก้อนเมฆสู่พื้นโลก ซึ่งอาจทำอันตรายต่อคน สัตว์ และสิ่งของว่า ฟ้าผ่าจากฐานก้อนเมฆสู่พื้นจะผ่าลงมาบริเวณใต้เงาเมฆเท่านั้น แตกต่างกับฟ้าผ่าจากยอดเมฆสู่พื้น จะมีรัศมีอันตรายในระยะ 30 กิโลเมตรจากก้อนเมฆ แม้ว่าฝนจะตกอีกที่หนึ่งแต่ในรัศมี 30 กิโลเมตรก็อาจเกิดฟ้าผ่าได้ ทั้งนี้ การเกิดฟ้าผ่าจะมีสายฟ้าฟาดได้ทุกจุดบนพื้นดิน แต่วัตถุหรือสิ่งของต่างๆ ที่อยู่สูงจะมีโอกาสถูกฟ้าผ่าได้มากกว่า ดังนั้นขณะฝนฟ้าคะนองจึงควรหลีกเลี่ยงอยู่ใกล้ที่สูง เช่น ต้นไม้ใหญ่ เพิงพักที่ไม่มีฝาผนัง รวมถึงรถกอล์ฟด้วย

 "สมมติว่ามีสายฟ้าฟาดลงมายังต้นไม้ใหญ่ หรือกรณีฟ้าผ่าลงเพิงพักกลางทุ่งนา จะทำให้ได้รับอันตรายใน 2 รูปแบบ คือ แบบที่แรกหากอยู่ใกล้ต้นไม้ที่กระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านหรือใกล้เสาเพิงพัก กระแสไฟฟ้าอาจจะกระโดดเข้าสู่ตัวคนทางด้านข้าง เรียกว่าไซด์แฟลช หรือไฟแลบจากด้านข้าง แบบที่สองกระแสไฟฟ้าที่ไหลมาตามพื้น หรือสเต็ปโวลเตจ จะได้รับอันตรายเหมือนกรณีหมูหรือวัวถูกฟ้าผ่าตายยกคอก" ดร.บัญชา กล่าว

 ส่วนความเชื่อที่ว่าการใช้โทรศัพท์มือถือขณะฝนตกจะเป็นสื่อล่อฟ้านั้น ดร.บัญชา ย้ำว่า เป็นความเข้าใจผิดหรือด่วนสรุปสาเหตุของการเสียชีวิตจากฟ้าผ่า เพราะอันตรายจากฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ 2 รูปแบบตามที่กล่าวไว้แล้ว โทรศัพท์มือถือ เครื่องประดับโลหะตามร่างกาย เป็นเพียงแพะรับบาปเท่านั้น
 พร้อมกันนี้ นักวิชาการเอ็มเทคแนะนำวิธีหลีกเลี่ยงอันตรายจากฟ้าผ่าว่า เวลาเกิดพายุฝนฟ้าคะนองไม่ควรไปยืนอยู่บริเวณที่โล่งแจ้ง ต้องหลบภัยอยู่ภายในอาคารที่ปิดมิดชิด โดยไม่แตะต้องวัสดุอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อจากภายนอกอาคาร ในต่างประเทศเคยมีผู้ได้รับอันตรายขณะใช้โทรศัพท์แบบมีสาย เนื่องจากมีฟ้าผ่าบนอุปกรณ์ด้านนอกที่เชื่อมกับโทรศัพท์ ทำให้กระแสไฟวิ่งมาตามสายก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้ เช่นเดียวกับการอาบน้ำที่เชื่อมต่อกับท่อประปา อินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อจากโทรศัพท์มีสาย

 อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นต้องอยู่ในที่โล่งแจ้งเวลาฝนฟ้าคะนอง ดร.บัญชา แนะนำให้หลีกเลี่ยงพื้นที่ชื้นแฉะ แล้วนั่งย่อตัวลงให้ต่ำที่สุด แต่ไม่ควรนอนราบกับพื้น เพราะจะยิ่งเสี่ยงต่อการถูกกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านร่างกายมากกว่า

 สำหรับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก หรือสภาวะโลกร้อน มีผลทำให้เกิดฟ้าผ่าถี่และรุนแรงขึ้นหรือไม่ ดร.บัญชา ยอมรับว่า เป็นคำถามที่ตอบยาก เนื่องจากยังไม่มีบทพิสูจน์ใดๆ ในเรื่องนี้

 เช่นเดียวกับ ดร.คมสัน เพ็ชรรักษ์ รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าฝ่ายบริหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ประเทศไทยยังไม่มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดฟ้าผ่า จึงไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดฟ้าผ่าถี่ขึ้น หรือมีความรุนแรงมากขึ้น แต่ความรุนแรงของฟ้าผ่าขึ้นอยู่กับการสะสมของประจุไฟฟ้าภายในก้อนเมฆนั้นๆ หากเข้าสู่สภาวะโลกร้อน จะเกิดฝนตกบ่อยขึ้นก็มีโอกาสที่จะเกิดฟ้าผ่ามากขึ้นได้

 "ไม่นานมานี้มีข่าวฟ้าผ่า มีคนตายพร้อมกัน 3 ศพ เพราะไปหลบอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ โดยหลักของฟ้าผ่าจะลงสู่ที่สูงก่อน จึงควรหลีกเลี่ยงอย่าอยู่ใกล้ของสูง หรือต้นไม้ใหญ่ ส่วนการใช้มือถือไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน เว้นเสียแต่จะชูมือถือขึ้นเหนือหัว แต่การใช้มือถือขณะฝนตก เกรงว่าน้ำจะซึมเข้าแบตเตอรี่จนระเบิด น่าอันตรายกว่าฟ้าผ่าเสียอีก" ดร.คมสัน กล่าว

 ดร.คมสัน ยังแนะนำวิธีหลีกเลี่ยงฟ้าผ่าในทำนองเดียวกันกับ ดร.บัญชา ว่าไม่ควรอยู่ใกล้ที่สูงหรือต้นไม้ใหญ่ ควรหลบอยู่ในอาคารจะปลอดภัยกว่า หากมีความจำเป็นต้องอยู่นอกอาคาร บางครั้งการนั่งยองๆ ตากฝน เพื่อให้ร่างกายสัมผัสพื้นให้น้อยที่สุด ยังจะปลอดภัยกว่าการไปหลบฝนอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่

 ด้าน เจ้าหน้าที่พยาการณ์อากาศ สำนักพยากรณ์ กรมอุตุนิยมวิทยา ยอมรับว่า ปีนี้มีสภาพความรุนแรงของอากาศสูง ก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองบ่อย เนื่องจากการปะทะของมวลอากาศที่มีความแตกต่างกันสูง ทำให้เมฆก่อตัวและมีการแลกประจุไฟฟ้ากันบ่อยขึ้น ย่อมทำให้เกิดฟ้าผ่ามากขึ้นเป็นเงาตามตัว

 ทั้งนี้ การก่อตัวของเมฆที่ส่งผลให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง มักเกิดในช่วงเกิดพายุฤดูร้อนกับต้นฤดูฝน หากมีการถ่ายเทประจุไฟฟ้ามาสู่พื้นโลก ผ่านต้นไม้สูง เสาไฟฟ้า ทำให้พลังไฟฟ้านับล้านโวลต์ไหลผ่านสู่พื้นดิน เมื่อเกิดฟ้าผ่าลงบนต้นไม้จะทำให้ต้นไม้ตาย หากฟ้าผ่าลงเสาไฟฟ้าที่ไม่มีระบบสายดินที่ดีพอ อาจทำให้กระแสไฟฟ้าไหลไปตามระบบจ่ายไฟเข้าสู่บ้านเรือน เหมือนกรณีที่มีเกิดขึ้นใน จ.ระยอง กระแสไฟจากฟ้าผ่าวิ่งเข้าบ้านกระโดดเข้าสู่ร่างกายผู้ที่นอนอยู่ใกล้ปลั๊กไฟ จนได้รับอันตรายได้เช่นกัน

 "ผมจะแนะนำเสมอว่า เวลาฝนฟ้าคะนองไม่ควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด ขณะที่นักวิชาการบางคนออกมาแสดงความคิดเห็นว่า การใช้โทรศัพท์มือถือไม่เกี่ยวข้องกัน แต่เคยเกิดกรณีการใช้มือถือขณะขับรถ แทนที่กระแสไฟฟ้าจะไหลตามหลังคารถสู่พื้น แต่กลับกระโดดเข้าสู่ร่างกายได้ ส่วนอีกเคสอยู่ในกระท่อม 2 ชั้นกลางที่โล่ง คนที่อยู่ชั้นบนไม่เป็นอะไร แต่คนที่คุยโทรศัพท์มือถืออยู่ชั้นล่างถูกแสไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกาย" เจ้าหน้าที่พยากรณ์อากาศ ยกตัวอย่าง

 เจ้าหน้าที่พยากรณ์อากาศรายเดิม มองว่า เมืองไทยควรจะมีการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องฟ้าผ่า เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่เคยมีการทำวิจัยและเก็บสถิติในเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ หากมีการวิจัยด้านนี้อย่างจริงจัง จะทำให้เห็นภาพการเกิดฟ้าผ่าได้ชัดเจนขึ้น เพื่อนำมากำหนดกรอบนโยบายและมาตรการในการรักษาความปลอดภัยในชีวิต และใช้เป็นฐานข้อมูลในการก่อสร้างอาคารในอนาคต ขณะเดียวกันก็สามารถนำผลการวิจัยมาต่อยอดในงานพยากรณ์อากาศให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น

 ด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็สนับสุนนแนวคิดการทำวิจัยเรื่องฟ้าผ่า เพราะตามทฤษฎีสภาวะโลกร้อน จะส่งผลให้เกิดฟ้าผ่าบ่อยขึ้น เรื่องนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เก็บรวบรวมสถิติฟ้าผ่า เนื่องจากถูกฟ้าผ่าชุมสายบ่อย และเคยเสนอให้ข้อมูลเพื่อทำการวิจัย แต่ด้วยความชำนาญและคนทำงานที่มีอยู่อย่างจำกัด มองว่าภาควิชาฟิสิกส์ ที่เกี่ยวกับไฟฟ้าทางธรรมชาติ ควรจะทำวิจัยเรื่องนี้ โดยจะช่วยสนับสนุนข้อมูลด้านกายภาพ ทั้งนี้ งานวิจัยเรื่องฟ้าผ่ายังเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย อาจจะใช้หลายหน่วยงานร่วมทำวิจัยครั้งนี้